xs
xsm
sm
md
lg

แนวโน้มเศรษฐกิจยังคงเหนื่อย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์
ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทาลิส จำกัด

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติเสียง 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นอยู่ที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี ซึ่งมติครั้งนี้เป็นการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นครั้งที่สองนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมติครั้งนี้นั้นค่อนข้างตรงไปตามที่นักวิเคราะห์หลายสำนักได้คาดการณ์เอาไว้ว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง สืบเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังคงชะลอตัว และ การแข็งค่าของค่าเงินบาท ยังคงเป็นตัวกดดันแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงระยะสั้นถึงกลางอยู่

โดยในการแถลงผลการประชุม กนง. ที่ผ่านมานั้น ทางคณะกรรมการได้มีการให้ความเห็นประกอบการตัดสินนโยบายว่า ”เศรษฐกิจไทย มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินและต่ำกว่าศักยภาพมากขึ้น” ซึ่งสาเหตุหลักนั้นมาจากฝั่งการส่งออกที่ยังคงได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่ารวมถึงเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงจากประเด็นด้านสงครามทางการค้าที่ยังไม่คลี่คลาย และยังส่งผลให้การจ้างงานและการบริโภคภายในประเทศที่ซบเซาลง ในขณะที่เงินเฟ้อนั้นยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่ากรอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยวางไว้ ในขณะที่คณะกรรมการอีก 2 ท่าน ที่เห็นว่าควรคงอัตราดอกเบี้ยไว้เหมือนเดิมนั้น ให้ความเห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ไม่น่าจะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้เท่าที่ควร อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของระบบการเงินที่เพิ่มสูงขึ้นได้และด้วยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำแล้วนั้น ธนาคารกลางจำเป็นที่จะต้องรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) เพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้

นอกเหนือไปจากมติการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงแล้วนั้น อีกหนึ่งประเด็นที่เป็นปัญหาหลักในช่วงปีที่ผ่านมาคือค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นกว่า 6.6% นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกและการแข่งขันเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง ทางคณะกรรมการ กนง. ก็ได้ออกมาตรการเพิ่มเพื่อช่วยลดผลกระทบของค่าเงินบาทโดยการผ่อนปรนเกณฑ์เพื่อเอื้อให้เงินลงทุนไหลออกได้ง่ายขึ้น ได้แก่ การยกเว้นการนำเงินรายได้จากการส่งออกกลับประเทศโดยไม่จำกัดระยะเวลา, เปิดเสรีให้นักลงทุนรายย่อยสามารถออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เองภายในวงเงิน 200,000 ดอลลาร์ จากเดิมที่ต้องผ่านตัวกลางในประเทศ, ผ่อนคลายเกณฑ์การโอนเงินออกนอกประเทศที่สะดวกขึ้น, และการซื้อขายทองคำในประเทศโดยการใช้สกุลต่างประเทศ มาตรการเหล่านี้นั้นจุดประสงค์คือการลดเกินดุลบัญชีสะพัด เพื่อที่จะให้เกิดความสมดุลระหว่างเงินที่ไหลเข้าและออกมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามแล้ว ในระยะสั้นถึงกลางนั้นการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจากการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมถึงการนำเข้าที่หดตัวมากกว่าการส่งออกจะยังคงเป็นตัวกดดันทิศทางของค่าเงินบาทอยู่

การชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ผ่านมานั้นได้สะท้อนอย่างเห็นได้ชัดผ่านตัวเลข GDP ในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา และจากตัวเลขการส่งออกเบื้องต้น ประกอบกับตัวเลขความเชื่อมั่นผู้โภคที่ต่ำสุดในรอบ 39 เดือน เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 น่าจะยังคงเติบโตต่ำกว่า 3 ต่อไปอีกหนึ่งไตรมาส ในขณะที่นโยบายทางภาครัฐยังคงต้องรอการจัดสรรงบประมาณใน ปีหน้าก่อนที่จะสามารถนำมากระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้แล้วสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนเป็นเชิงประจักษ์ผ่านผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มของธนาคารพาณิชย์ที่การเติบโตของสินเชื่อชะลอตัวลง และมีแนวโน้มที่ยังคงอ่อนแอต่อไปในข่วงปีข้างหน้าอีกทั้งยังเห็นสัญญาณการก่อตัวขึ้นใหม่ของ NPL ซึ่งสะท้อน ถึงเศรษฐกิจที่ซบเซาในช่วงที่ผ่านมา ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ประกอบกับ ผลประกอบการของ บริษัทจดทะเบียน ที่ออกมาไม่ได้สดใสนักจะเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันตลาดหุ้นในช่วงระยะสั้นถึงกลางได้ และหุ้นที่มีรายได้ที่สม่ำเสมอ และง่ายต่อการประเมินทิศทางผลประกอบการนั้นจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นพิเศษครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น