xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ชาติปรับเกณฑ์เงินทุนไหลออก คาดประชุม กนง.ครั้งหน้า ธ.ค. ทบทวนประมาณการ ศก.ใหม่อีกรอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แบงก์ชาติปรับเกณฑ์เงินทุนไหลออก และ กนง.มติ 5:2 เสียง ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 1.25% จากเดิม 0.5% หวังผลเงินบาทอ่อนค่าลง และกระตุ้นเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง ระบุประชุม กนง.ครั้งหน้าธันวาคม ทบทวนประมาณการเศรษฐกิจใหม่อีกรอบ

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท ปัจจุบันมีความไม่สมดุลของเงินทุนเคลื่อนย้ายกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นกระทรวงการคลัง และ ธปท.ได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้เงินทุนไหลออกซึ่งจะช่วยปรับสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายและลดแรงกดดันที่มีต่อค่าเงินบาท รวมทั้งจะช่วยให้การทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศมีความสะดวกมากขึ้น โดยจะมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1.การยกเว้นการนำเงินรายได้จากการส่งออกกลับประเทศ อนุญาตให้ผู้ส่งออกที่มีรายได้ต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์ต่อใบขน สามารถฝากเงินไว้ในต่างประเทศโดยไม่จำกัดระยะเวลา ทั้งนี้ ในปี 2561 รายได้รวมจากการส่งออกที่ต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์ต่อใบขน มีมูลค่ากว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณครึ่งหนึ่งของมูลค่าของการส่งออกทั้งหมด

นอกจากนี้ หากผู้ส่งออกมีรายได้สูงกว่าวงเงินข้างต้น ยังสามารถนำไปหักกลบกับรายจ่ายในต่างประเทศได้ ไม่ต้องนำกลับเข้าประเทศ โดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงขึ้นทะเบียนกับ ธปท. และยื่นเอกสารหลักฐานกับธนาคารพาณิชย์

ปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) ที่เปิดกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศให้ง่ายขึ้น

การปรับปรุงกฎเกณฑ์ข้างต้นเพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกสามารถบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศ โดยพักเงินไว้ในต่างประเทศเพื่อรอชำระค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนการโอนเงินและชำระเงิน และช่วยให้สามารถบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้น ทั้งนี้ ธปท. ได้หารือเบื้องต้นกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่าจะขยายวงเงินรายได้จากการส่งออกไม่ต้องนำกลับเข้าประเทศเป็น 1 ล้านดอลลาร์ต่อใบขน ภายในระยะ 3 เดือนข้างหน้า โดยการผ่อนคลายดังกล่าวจะครอบคลุมประมาณ 80% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด

2.การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ เปิดเสรีให้นักลงทุนรายย่อยสามารถออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เองในวงเงิน 200,000 ดอลลาร์ต่อปี จากเดิมที่ต้องผ่านตัวกลางในประเทศ หรือต้องมีสินทรัพย์ตามเงื่อนไขที่กำหนด

เพิ่มวงเงินรวมสำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่จัดสรรให้นักลงทุนภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็น 150,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อรองรับการออกไปลงทุนในต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศมีความสะดวกมากขึ้น

3.การโอนเงินออกนอกประเทศ เปิดเสรีการโอนเงินออกนอกประเทศได้ทุกวัตถุประสงค์ ยกเว้นเพียงไม่กี่รายการ (negative list) เช่น การชำระธุรกรรมซื้อขาย FX/THB กับสถาบันการเงินในต่างประเทศที่ยังต้องขออนุญาตจาก ธปท.

อนุญาตให้สามารถโอนเงินให้ตนเองหรือญาติที่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศได้เสรี และสำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ สามารถโอนได้ในวงเงินไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์ต่อปี โดยซื้อในชื่อของบุคคลในครอบครัวได้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการย้ายถิ่นฐานและการส่งบุตรหลานไปศึกษาในต่างประเทศ

ประชาชนหรือภาคธุรกิจที่ต้องการโอนเงินออกนอกประเทศต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์ต่อครั้ง ไม่ต้องยื่นเอกสารหลักฐานเพื่อช่วยให้การทำธุรกรรมสะดวกขึ้น

4.การซื้อขายทองคำในประเทศเป็นเงินตราต่างประเทศ อนุญาตให้ลูกค้าคนไทยที่มีการลงทุนซื้อขายทองคำกับบริษัทผู้ค้าทองคำที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. ชำระราคาในรูปเงินตราต่างประเทศผ่านบัญชี FCD ที่เปิดกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศได้ โดยลูกค้าสามารถเก็บเงินตราต่างประเทศจากการขายทองคำไว้ในบัญชี FCD โดยไม่ต้องแลกเป็นบาทเพื่อรอลงทุนในครั้งต่อไป นอกจากนี้ ธปท. ยังพร้อมที่จะอนุญาตการซื้อขาย Gold Futures ในรูปเงินตราต่างประเทศในระยะต่อไปด้วย

**กนง.มติ 5:2 ลดดอกเบี้ย 0.25%

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าว่า กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.50% เป็น 1.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ขณะที่ 2 เสียงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี เนื่องจาก กนง.มองเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้และต่ำกว่าศักยภาพมากขึ้น จากการส่งออกที่ลดลงซึ่งส่งผลไปสู่การจ้างงานและอุปสงค์ในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย เสถียรภาพระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วน แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย จึงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้

ส่วนกรรมการ 2 ท่าน เห็นว่าในภาวะปัจจุบันที่นโยบายการเงินอยู่ในระดับผ่อนคลายอยู่แล้ว การลดอัตราดอกเบี้ยอาจไม่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มได้มากนัก เมื่อเทียบกับความเสี่ยง

ด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่อาจเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งยังจำเป็นต้องรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ที่มีจำกัดเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้น โดยการส่งออกสินค้าหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้และจะมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดไว้

ด้านอัตราแลกเปลี่ยน คณะกรรมการฯ ยังกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้นในภาวะที่ความเสี่ยงด้านต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ สนับสนุนให้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและสร้างสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท และช่วยให้ภาคเอกชนบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้สะดวกขึ้น คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด รวมทั้งพิจารณาดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติมตามความจำเป็น

มองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่า ๆ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังเผชิญต่อปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน


กำลังโหลดความคิดเห็น