xs
xsm
sm
md
lg

กนง.ลดดอกเบี้ยเหลือ 1.25% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กนง.มีมติ 5 : 2 เสียง ลดดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 เหลือร้อยละ 1.25 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลประชุมว่า คณะกรรมการมีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.50 เป็นร้อยละ 1.25 ต่อปี โดยให้มีผลทันที ซึ่งดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 1.25 เป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และเป็นระดับใกล้เคียงกับวิกฤตการเงินโลก หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เมื่อปี 2551

คณะกรรมการ กนง. 5 เสียง เห็นว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้และต่ำกว่าศักยภาพมากขึ้น จากการส่งออกที่ลดลง และส่งผลกระทบสู่การจ้างงานและการบริโภคในประเทศลดลง และมีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะต่ำกว่าที่คาดไว้ ซึ่ง กนง.จะมีการปรับประมาณการใหม่ในการประชุมเดือนธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและการใช้จ่ายของภาครัฐ ตลอดจนความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย จึงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้

ส่วนคณะกรรมการ 2 เสียง เห็นว่าในภาวะปัจจุบันที่นโยบายการเงินอยู่ในระดับผ่อนคลายอยู่แล้ว การลดดอกเบี้ยอาจไม่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มได้มากนัก เมื่อเทียบกับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่อาจเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งยังจำเป็นต้องรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ที่มีจำกัด เพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต

คณะกรรมการฯ ยังกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้นในภาวะที่ความเสี่ยงด้านต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ สนับสนุนให้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงิน เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและสร้างสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท และให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด รวมทั้งพิจารณาดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติมตามความจำเป็น

พร้อมต้องติดตามพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะดอกเบี้ยต่ำ พฤติกรรมการก่อหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs การขยายสินทรัพย์และความเชื่อมโยงภายในของสหกรณ์ออมทรัพย์ รวมถึงการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร


กำลังโหลดความคิดเห็น