คนที่ได้ผ่านวิกฤตการเงินต้มยำกุ้งในปี 1997 และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 ซึ่งเป็นสุดยอดของวิกฤตด้านเศรษฐกิจ การเงินของโลกยุคใหม่ เมื่อรอดวิกฤตมาถึงรอบปัจจุบัน เห็นความร้ายกาจแล้วคงบอกได้ว่าที่ผ่านมาเป็นเหมือนหนังตัวอย่างเท่านั้น
แต่วิกฤตรอบใหม่ที่คนทั้งโลกกำลังเผชิญขณะนี้มีความซับซ้อนหลากหลายมิติ เชื่อมโยงกันหลายเรื่อง ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง การระบาดของโรคร้าย ภัยของมนุษยชาติ สามารถส่งผลให้เสียชีวิตต่อเนื่อง ถ้ายังไม่มียารักษาและป้องกันได้ผล
โนเวล โคโรนาไวรัส หรือ โควิด-19 คือภัยร้ายแรง มองไม่เห็นตัว แต่ได้สร้างความปั่นป่วนให้กับชีวิต ความเป็นอยู่ของมนุษย์ และยังควบคุมไม่ได้
เพียงระยะเวลาการระบาดประมาณ 2 เดือนก็ได้ทำให้เศรษฐกิจเกือบทั่วโลกอยู่ในภาวะถดถอยรุนแรง การค้าขายหยุดชะงัก ธุรกิจการบิน การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และด้านอื่นๆ การติดต่อซื้อขายสินค้าแทบหยุดชะงัก
ยังไม่มีแนวโน้มว่าสภาวะที่เป็นอยู่จะส่อแววดีขึ้นอย่างไรและเมื่อไหร่
โลกตะวันตกทั้งยุโรป และสหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศพัฒนาด้านเทคโนโลยี กำลังเผชิญชะตากรรมเดียวกันกับภูมิภาคอื่นๆ เพราะการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างรวดเร็ว จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มทุกนาที ซ้ำเติมประเทศที่มีปัญหาอื่นๆ อยู่แล้ว
เศรษฐกิจของโลกซึ่งซบเซายืดเยื้อจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยังไม่ทันได้ฟื้นตัวก็ถูกกระหน่ำซ้ำเติมด้วยไวรัสโควิด-19 ไม่ใช่ด้านการค้าอย่างเดียว การเดินทางระหว่างประเทศก็หยุดชะงักลงอย่างมาก เพราะต้องระวังความปลอดภัย
ตลาดหุ้นหลักทั่วโลกเผชิญกับราคาตกแบบดิ่งน่าใจหาย สูญเสียความมั่งคั่งทางกระดาษ หรือ Paper wealth อย่างมหาศาล หลายคนที่ซื้อขายล่วงหน้า การเล่นตัวเลขดัชนี น่าจะสิ้นเนื้อประดาตัว เพราะการตกแบบไม่มีแรงต้านอย่างต่อเนื่อง
เมื่อยังไม่รู้ว่าจะหยุดร่วงเมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับการระบาดของไวรัส โอกาสที่จะสร้างความวินาศสันตะโร แปลงสภาพมหาเศรษฐีให้เป็นเพียงแค่คนรวยธรรมดา ย่อมเป็นไปได้สูง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจค้าหลักทรัพย์หรือการผลิตภาคอุตสาหกรรม
ทั้งๆ ที่ตัวตัดสินชะตากรรม พลิกผันได้รวดเร็ว คือการผลิตวัคซีนเป็นผลสำเร็จในการรักษาและฉีดป้องกัน สามารถหยุดการระบาดได้เด็ดขาด จะเป็นจริงเมื่อไหร่
และครั้งนี้มีความพิสดารซับซ้อนยุ่งยากกว่าที่เคยเป็นมา เพราะเกี่ยวโยงกับสงครามราคาน้ำมันระหว่างกลุ่มโอเปกนำโดยซาอุดีอาระเบีย และผู้ผลิตรายใหญ่นอกโอเปกคือรัสเซีย ที่ประชุมแล้วไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องการลดกำลังการผลิต
เป็นความพยายามของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบและพลังงานชนิดอื่นๆ เพื่อหวังพยุงราคาน้ำมันไม่ให้ตกต่ำไปกว่าที่เป็นอยู่หลังจากเศรษฐกิจซบเซาทำให้ยอดการซื้อขายลดลง เพราะความต้องการน้อยหลังจากภาคอุตสาหกรรมลดการผลิตมาก
การต่อสู้กันระหว่างซาอุฯ กับรัสเซียเป็นการต่อสู้มีเดิมพันสูง ใครดีใครอยู่ เป็นสงครามแข่งกันตัดราคาน้ำมันลงอย่างมากถึง 8-9 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเพื่อรักษาสัดส่วนการตลาด และทำลายศักยภาพของคู่แข่ง ซึ่งต่างเป็นผู้ผลิตรายใหญ่
ครั้งนี้เหมือนเป็นศึกสามเส้าในกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน เพราะรัสเซียยืนกรานไม่ยอมทำตามข้อเสนอตัดการผลิตน้ำมันดิบ เพราะต้องการเล่นงานผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ ซึ่งสกัดน้ำมันดิบจากหินดานหรือว่าหิน Shale ทำให้ราคาตก
ที่ผ่านมา ผู้ผลิตน้ำมันจากหินดาน ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของโครงสร้างการตลาดซึ่งผู้ค้ารายใหญ่คือกลุ่มประเทศโอเปก และได้ทำให้สหรัฐฯ เป็นผู้นำด้านการผลิตน้ำมันดิบด้วยปริมาณมากของการผลิตจากหินดาน ซึ่งต้นทุนเริ่มต่ำลง ราคาสูง
การหั่นราคาน้ำมันดิบล่าสุดโดยซาอุฯ ถึง 8-9 ดอลลาร์ ได้สร้างความตะลึงให้ตลาดหุ้นและตราสารการเงิน ซึ่งเสี่ยงต่อความฉับไว ที่ผ่านมาซาอุฯ เคยทำได้ผลเพราะต้นทุนการผลิตน้ำมันต่ำกว่าชาติอื่น แต่ครั้งนี้ไม่แน่ มีตัวแปรมากกว่าที่เคยมี
ซาอุฯ ไม่ได้มีสถานภาพทางการเงินแข็งแกร่งเหมือนแต่ก่อน เงินสำรองลดลงเพราะราคาน้ำมันตกก่อนหน้านี้ สงครามกับเยเมนก็ยืดเยื้อ สิ้นเปลืองงบประมาณมหาศาล ขณะที่ปัญหาความมั่นคง ความไม่สงบภายใน ยังมีอยู่เป็นระยะๆ
การนำหุ้นบริษัทอารัมโกเข้าตลาดหุ้นนิวยอร์ก ก็ไม่ทำให้ดูดีขึ้น ล่าสุดมีข่าวการจับกุมเจ้าชายเชื้อพระวงศ์ 3 รายในข้อกล่าวหาว่าสมคบคิดกันเพื่อก่อการกบฏ เป็นความพยายาม 2-3 ครั้ง ถ้าเป็นอย่างนี้ สักวันน่าจะสำเร็จ ถ้ามีปัจจัยหนุนพร้อม
สงครามราคาน้ำมันทำให้ผู้บริโภคราคาน้ำมันถูกลงก็จริงอยู่ แต่สภาวะเช่นนี้ความเสี่ยงจากโรคภัยและสภาวะเศรษฐกิจถดถอย ต้องลดค่าใช้จ่าย การลงทุนทุกขนาดต้องชะลอตัว หรือลดลง การปิดโรงงานทำให้คนตกงาน ว่างงานมากขึ้น
การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้บางประเทศอ่อนแอกว่าเดิม เพราะปัญหาเดิมที่มีอยู่ เช่นอิตาลี ซึ่งต้องประกาศปิดแคว้นลอมบาร์ดี ตอนเหนือ ครอบคลุม 14 จังหวัด พลเมืองประมาณ 141-16 ล้านคนถูกกักพื้นที่เหมือนคนเมืองอู่ฮั่นในจีน
อิตาลีมีปัญหาหนี้เยอะ เกือบไปมิไปแหล่ ช่วงกรีซเผชิญวิกฤตการเงินและหนี้มาก คราวนี้ถูกซ้ำเติมด้วยไวรัส ทำให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิม จะเอาอยู่หรือไม่
ที่แน่ๆ คือเลบานอน ซึ่งประกาศหยุดชำระหนี้ประมาณ 1.2 พันล้านดอลลาร์ เพราะปัญหาการเมืองและการคลัง ค่าเงินปอนด์ตกต่อเนื่อง เป็นครั้งแรกที่จำต้องเบี้ยวหนี้ เพราะแบกหนี้ต่างประเทศหลายหมื่นล้านดอลลาร์ สาหัสเกินทน
งบประมาณกว่าครึ่งต้องเอามาจ่ายดอกเบี้ย เงินต้นยังไม่เกี่ยว! ดูแล้วรอดยาก