"โสภณ องค์การณ์"
โลกกำลังเผชิญวิกฤตหลายด้านพร้อมกัน ซึ่งเป็นสภาพที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในช่วงหลายปี ครั้งนี้เกี่ยวโยงกันทั่วโลกทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และด้านอื่นๆ ที่สำคัญคือ ความปลอดภัยของชีวิตในความเสี่ยงกับการติดเชื้อโคโรนาไวรัส
ทำให้เกิดคำถามว่าวิกฤตครั้งนี้จะทำให้คนทั้งโลกเผชิญกับอะไร เลวร้ายกว่าปัจจุบันแค่ไหน ถึงขั้นที่จะต้องประเมินกันด้านความอยู่รอดของมนุษยชาติหรือไม่
คืนวันพุธ องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าโคโรนาไวรัสเป็นโรคระบาดเต็มรูปแบบ ลามไปทั่วโลก สามารถติดต่อจากคนสู่คน อันตรายถึงแก่ชีวิต
ที่ผ่านมา คนรุ่นปัจจุบันแทบไม่เคยได้ยินคำว่า “ปิดเมือง” ดังที่เกิดขึ้นในอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน จากนั้นเหมือนกับการปิดมณฑลหูเป่ยเพื่อควบคุมการระบาด ประเทศจีนสั่งห้ามกลุ่มทัวร์ออกนอกประเทศ ควบคุมการเดินทางท่องเที่ยว
ยอดผู้เสียชีวิตไม่สูงก็ตาม แต่การระบาดติดเชื้อเป็นไปอย่างรวดเร็ว สร้างความตื่นตระหนกเพราะมีผู้เสียชีวิตรวดเร็ว โดยความเป็นจริงเหยื่อส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงสุด และยังไม่มีวัคซีนป้องกันและรักษาอย่างเด็ดขาด
เมื่อถึงขั้น “ปิดเมือง” ก็นำไปสู่การ “ปิดประเทศ” ดังเช่นอิตาลี เพราะประเมินแล้วว่าการ “ปิดแคว้น” ลอมบาร์ดี มีประชากร 16 ล้านคนนั้น คุมไม่ได้ ดังนั้นจึงปิดประเทศ จำกัดการเคลื่อนไหวของประชากร 60 ล้านคน และมีมาตรการเข้มขึ้นเรื่อยๆ
นับเป็นเรื่องใหม่ สำหรับการปิดประเทศ อิตาลีมีขนาดเศรษฐกิจอันดับ 8 ของโลก แต่ระดับการพัฒนาไม่เกี่ยวกับความสามารถด้านสาธารณสุข ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงกว่า 1 หมื่นคนภายในเวลารวดเร็ว เป็นอันดับ 2 รองจากจีน ทั้งๆ ที่อยู่คนละทวีป
ล่าสุดอินเดียสั่งระงับวีซ่าท่องเที่ยวเข้าประเทศ เว้นแต่มีความจำเป็น เป็นมาตรการป้องกัน ทั้งๆ ที่ยอดผู้ติดเชื้อยังไม่ถึง 100 คน แต่อินเดียเคยมีการระบาดของเชื้อ “นิพาห์” ในรัฐเกราลา ภาคไต้ปลายปี 2018 มีรูปแบบคล้ายกับโคโรนาไวรัส
ท่ามกลางความโกลาหล ความวิตกกังวลด้านสุขภาพ ก็ถูกซ้ำเติมด้วยความหวาดผวาเพราะการขาดแคลนหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ในประเทศที่มีการระบาดหนัก และประชาชนเริ่มซื้ออาหาร สิ่งของจำเป็นสำหรับบริโภคระยะยาว
ในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย คนตื่นซื้อกระดาษชำระเกรงว่าจะขาดตลาด ในเยอรมนี ผู้นำ แองเกล่า แมร์เคิล ประกาศโครมคืนวันพุธว่าประชาชนเยอรมัน 70 เปอร์เซ็นต์มีโอกาสติดเชื้อไวรัส ยิ่งตอกย้ำให้เห็นความเลวร้ายกว่าเดิม
เยอรมนีเป็นพี่ใหญ่ในด้านเศรษฐกิจของประชาคมยุโรป มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ในโลกรองจากสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น ช่วงนี้จำนวนคนติดเชื้ออยู่พันกว่าคน ใกล้เคียงกับฝรั่งเศส แต่ทั้งคู่ถูกแซงโดยสเปนไปแล้ว ทำให้เกิดคำถามต่อเนื่อง
อิตาลีมีฐานะเศรษฐกิจไม่แข็งแกร่ง หนี้มาก ฝรั่งเศสดีกว่า สเปนนั้นมีปัญหาเศรษฐกิจและความพยายามแบ่งแยกดินแดนในแคว้นคาตาลาน เป็นปัญหาความมั่นคงที่ทำให้ประเทศอยู่ในภาวะอ่อนแอ ช่วงกรีซมีปัญหา ก็เกือบจะไปมิไปแหล่
ถ้าเยอรมนีมีปัญหาการติดเชื้อมากอย่างที่ผู้นำคาดการณ์ ก็จะสะท้อนให้เห็นว่าประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี มาตรฐานด้านสาธารณสุขสูง ไม่ได้หมายความว่าจะป้องกันการระบาดติดเชื้อได้ดีกว่า ดังเช่นที่เกิดขึ้นในอิตาลี
สหรัฐ เริ่มมีความกังวล ล่าสุดสั่งห้ามคนจากยุโรปเดินทางเข้าประเทศ ยกเว้นคนจากสหราชอาณาจักร หรืออังกฤษ เพราะห่วงว่าจะมีคนติดเชื้อเข้าไปทำให้การระบาดเพิ่มขึ้น ทุกวันนี้ก็ลามไปเกือบทั่วประเทศแล้ว โดยเฉพาะมหานครนิวยอร์ก
ปัญหาในสหรัฐทำให้ผู้นำทำเนียบขาว โดนัลด์ ทรัมป์ คุยโวไม่ออก เมื่อประกาศห้ามคนยุโรปเข้าประเทศ ความเชื่อมั่นในตัวเองแทบไม่เหลือ ถ้าคุมไม่อยู่ น่าจะส่งผลต่อการเลือกตั้งในช่วงปลายปี ซึ่งทรัมป์หวังว่าจะครองเก้าอี้ผู้นำต่อไป
นอกจากภัยต่อสุขภาพ ทั้งโลกเริ่มเห็นชัดว่าเศรษฐกิจอาจเข้าสู่สภาวะถดถอย ตลาดหุ้นนิวยอร์ก เริ่มเข้าขั้น “หมี” เพราะตกต่ำจากจุดสูงสุดวันที่ 12 กุมภาพันธ์มากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นตัววัดสำคัญ ถ้ายังรั้งไม่อยู่ จะส่งผลด้านจิตวิทยามาก
ที่เห็นชัดก็คือ จากตลาดหุ้นที่ตกต่ำเกือบทั่วโลก ตลาดน้ำมันดิบก็รั้งไม่อยู่ เมื่อรัสเซียและซาอุดิอาระเบีย เล่นสงครามตัดราคา และเพิ่มการผลิตเพราะต้องการรักษาสัดส่วนการตลาด หลังจากการเจรจาเพื่อตกลงลดการผลิตไม่เป็นไปตามคาด
ซาอุฯ เพิ่มการผลิตเป็นวันละ 13 ล้านบาร์เรลล์ รัสเซียเพิ่มการผลิตเพื่อเล่นงานผู้ผลิตน้ำมันจากหินดานในสหรัฐฯ ซึ่งมีต้นทุนสูงกว่า 60 ดอลลาร์ เมื่อราคาน้ำมันดิบอยู่เหนือกว่า 32 ดอลลาร์ ทำให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ หมดสภาพแข่งขัน
ทำให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้บริษัทน้ำมันสหรัฐฯ เสี่ยงต่อการเจ๊งไปด้วย และนี่เป็นการ “เอาคืน” สหรัฐฯ ด้วยการทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เดี้ยง เกิดวิกฤตการเงินรุนแรงเพราะการเจ๊งของบริษัทน้ำมันและสถาบันการเงิน หลังจากรัสเซียถูกเล่นงานมานาน
จะเห็นได้ว่าโคโรนาไวรัสส่งผลกระทบกว้างอย่างที่ไม่มีอะไรเคยทำได้มาก่อน!
สำหรับประเทศไทย ก็ไม่มีทางจะพ้นวิกฤตหนักหนาสาหัสไปด้วย เพราะเศรษฐกิจอยู่ในสภาพตายซากมานาน ทั้งหนี้ครัวเรือน หนี้ภาครัฐ คนขาดอำนาจการซื้อ ภัยแล้งยืดเยื้อ ฝุ่นพิษในหลายพื้นที่ การติดเชื้อไวรัสส่อแววว่าจะรุนแรงใกล้ขั้น 3
และการตั้งรับกับปัญหาไวรัสอยู่ในสภาพเละ ไม่มีรูปแบบน่าเชื่อถือ กระบวนการตัดสินใจขาดความรอบคอบ ทั้งยังมีประเด็นอิจฉาริษยา แย่งกันเอาหน้า ปัดความรับผิดชอบ การขาดแคลนหน้ากากอนามัย เจล และการทุจริต คอร์รัปชั่นเรื้อรัง
การเมืองก็มีปัญหาการแย่งชิงอำนาจ ขาดความเป็นเอกภาพ มุ่งเน้นการหาผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม มีความหลายหลายซับซ้อนของปัญหา รวมทั้งตัวผู้นำรัฐบาล ทำให้เกิดวิกฤตศรัทธา ความน่าเชื่อถืออย่างแรง ระบบนิติรัฐไม่น่าเชื่อถือด้วย
ดังนั้น ไม่ใช่ว่าอนาคตของโลกจะเป็นอย่างไร อนาคตของคนไทยและประเทศไทยน่าจะเป็นคำถามที่รุกประชิดตัวมากกว่า และหาทางออกลำบากที่สุด
เมื่อความเป็นผู้นำล้มเหลว ประชาชนไม่แน่ใจว่าจะอยู่อย่างไรเช่นกัน