xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ลดเขต “โบราณสถานเขายะลา” เดินหน้าทำ “เหมืองหิน” ประเทศไทยเกิดอะไรขึ้น?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“เส้นสีแดง” แสดงขอบเขตการประกาศขึ้นทะเบียนฯ ปี 2544 “พื้นที่สีเขียว” แสดงการประกาศแก้ไขเขตที่ดินฯ ปี 2562 และ “ลูกศรสีชมพู” แสดงระยะห่าง 500 เมตร ระหว่างภาพเขียนสีโบราณ 2 จุด กับพื้นที่ประกาศแก้ไขเขตที่ดินล่าสุด
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นประเด็นร้อนกรณี “ประกาศลดพื้นที่โบราณสถานเขายะลา จ.ยะลา จำนวน 190 ไร่” โดยอธิบดีกรมศิลปากร “นายอนันต์ ชูโชติ” จดปากกาลงนามตามเสียงเว้าวอนของรัฐ ในวันเกษียณอายุราชการ เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2562 ปรับแก้ขอบเขตของพื้นที่เขตโบราณสถาน เพื่อเปิดพื้นที่บางส่วนให้สามารถทำ “เหมืองหิน” อ้างเหตุผลเป็นแหล่งสัมปทานเดิม แต่ขัดต่อ “พ.ร.บ.แร่ 2560” ระบุชัดห้ามใช้พื้นที่เขตโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียน

ประกาศกรมศิลปากร เปิดช่องให้มีการระเบิดภูเขาทำเหมืองหินอุตสาหกรรมในพื้นที่โบราณสถานเขายะลา ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อแหล่งโบราณสถานอายุนับพันปี ยังเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ สร้างความขัดแย้งในพื้นที่ กลายเป็นประเด็นร้อนเกิดกระแสต่อต้านจากกลุ่มนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี หน่วยงานท้องถิ่น ตลอดจนภาคประชาชน ออกมาคัดค้านและเรียกร้องให้ปกป้องหลักฐานทางประวัติศาสตร์

โดยเครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลา ออกได้ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม เรียกร้องให้ยกเลิกประกาศดังกล่าว เนื่องจากพื้นที่โบราณสถานเขายะลา เป็นพื้นที่โบราณสถานที่สำคัญ และอาจเป็นพื้นที่ทางโบราณคดีผืนใหญ่ผืนสุดท้ายในพื้นที่ชายแดนใต้ การขออนุญาตระเบิดหินในพื้นที่ที่เป็นเขตโบราณสถานและใกล้เคียง ย่อมมีความปริวิตกว่าจะสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อภาพเขียนสี และหลักฐานทางโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์

กล่าวสำหรับ “เขายะลา” หรือ “เขายาลอ” เป็นภูเขาหินปูน ที่มีความยาว 2.7 กิโลเมตร ติดกับแนวเขต ต.ลิดล และ ต.ยะลา ตั้งอยู่ระหว่าง อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ลักษณะเพิงผาสูงชัน ประกอบด้วยหินธรรมชาติมากมาย เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์หลากชนิดด้วย

ต่อมา มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีและออกประกาศกรมศิลปากร “เรื่องขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณ ภาพเขียนสีเขายะลา ต.ลิดล - ต.ยะลา อ.เมืองยะลา จ.ยะลา พื้นที่โบราณสถานประมาณ 887 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา” ซึ่งลงนามโดย “น.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น” อธิบดีกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2544

พื้นที่เขตโบราณสถาน “เขายะลา” เป็นหนึ่งในแหล่งโบราณคดีของประเทศไทยที่มีอายุเก่าแก่กว่า 3,000 ปี มีภาพเขียนโบราณและโบราณวัตถุเก่าแก่อยู่มากมาย จากการสำรวจศึกษาโดยเฉพาะของสำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา ค้นพบภาพเขียนสีโบราณกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ 4 แห่ง ได้แก่ ภาพเขียนสีแดงบริเวณเพิงผาตอแล หรือ ตอลัง ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเขายะลา, ภาพเขียนสีดำบริเวณโพรงถ้ำด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเขายะลา, ภาพเขียนสีแดงบริเวณเพิงผาด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขายะลา และภาพเขียนสีบริเวณด้านทิศใต้ของเขายะลา

นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานที่อยู่อาศัยชั่วคราวของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์อีก 2 แห่ง บริเวณหุบเขาและโพรงถ้ำด้านตะวันตกของเขายะลา และบริเวณหน้าเพิงผาภาพเขียนสีด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเขายะลา รวมทั้ง พบข้าวของเครื่องใช้โบราณคดี เช่น เศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน เครื่องมือหินกะเทาะ โกลนขวานหินขัด เป็นต้น

ต่อมา เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกรมศิลปากร “เรื่องแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถาน ภาพเขียนสีเขายะลา จากเดิมที่มีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 887 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา เป็นเหลือพื้นที่ 697 ไร่ 75” หรือปรับพื้นที่โบราณสถานเขายะลา ลดลงกว่า 190 ไร่ลงนามโดย “นายอนันต์ ชูโชติ” อธิบดีกรมศิลปากร วันที่ 30 ก.ย. 2562 ซึ่งเป็นวันเกษียณอายุราชการในตำแหน่งฯ พอดิบพอดี

ทั้งนี้ ปัจจุบัน จ.ยะลา มีแหล่งโบราณสถานที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนไว้ 3 แห่ง คือ ภาพเขียนสีโบราณเขายะลา, ภาพเขียนสีโบราณถ้ำศิลป์ และภูเขาวัดถ้ำคูหาภิมุข ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน ใน อ.เมืองยะลา ขณะที่พื้นที่โดยรอบแนวเขตโบราณสถาน มีบริษัทและโรงโม่หินขนาดใหญ่รายล้อม รับสัมปทานระเบิดหินแบบผูกขาดมานานหลายปี ไม่ต่ำกว่า 6 บริษัท

กรมศิลปากร ได้ระบุถึงเหตุผลในการปรับลดพื้นที่โบราณสถานในจังหวัดยะลา รวมถึงพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง เนื่องจากประสบสภาวะขาดแคลนหินอุตสาหกรรมสำหรับการก่อสร้าง เพราะแหล่งหินอุตสาหกรรมในพื้นที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตที่มีปัญหาด้านความมั่นคง และมีความจำเป็นจะต้องใช้แหล่งหินอุตสาหกรรมในเขตโบราณสถานเขายะลา ผ่อนคลายสภาวะขาดแคลนหินอุตสาหกรรมเพื่อใช้ในการก่อสร้าง และลดการก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้

นอกจากนี้ นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร คนปัจจุบัน ระบุด้วยว่าเหตุผลการประกาศแก้ไขเขตที่ดินฯ ในครั้งนี้ มีที่มาจากการขอความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ 1. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี 2. ศูนย์อำนวยการบริหารส่วนจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3. กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม 4. จังหวัดยะลา 5. สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งในครั้งนั้นกรมศิลปากรพิจารณาแล้วเพื่อเหตุผลด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม และความมั่นคงของประเทศ จึงพิจารณาให้ความร่วมมือ โดยการพิจารณาแก้ไขเขตพื้นที่ดังกล่าวยังอยู่ในเกณฑ์ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อแหล่งศิลปกรรมภาพเขียนสีเขายะลาแต่อย่างใด

ภาพเขียนสีโบราณ (ภาพจาก กรมศิลปากร, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร)


ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ระบุอย่างชัดเจนว่า เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองจะต้องไม่อยู่ในพื้นที่ต้องห้ามได้แก่ พื้นที่ป่าต้นน้ำ, อุทยานแห่งชาติ, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า, พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ, และเขตโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม สัมปทานเหมืองหินอุตสาหกรรมในพื้นที่เขายะลา ดำเนินกิจการมานานก่อนที่กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน หมายความว่าอาจมีภาพเขียนโบราณจำนวนหนึ่งถูกทำลายจากการระเบิดหินอุตสาหกรรม ไปแล้วก่อนที่จะมีการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถานโดยกรมศิลปากร

ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2540 กระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศให้ภูเขายะลา ตั้งอยู่ ต.ลิดล อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1บี กำหนดเป็นพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรม ตามที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2540 เห็นชอบและอนุมัติให้ใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1บี เพื่อกิจการเหมืองหินอุตสาหกรรม

ต่อมา 20 ส.ค. 2544 กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลาพื้นที่ 887 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา เป็นการประกาศทับพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมที่กระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศก่อนหน้าเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2540

ขณะเดียวกัน พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ได้ระบุถึงพื้นที่ที่กำหนดเป็นแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ต้องไม่ใช่เขตโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนไว้ ว่าด้วยตามกฎหมายโบราณสถาน แต่ก็มีการต่ออายุประทานบัตรต่อเนื่องมาเรื่อยๆ

นอกจากนี้ มีข้อมูลเปิดเผยอีกว่าจะมีการขยายพื้นที่เตรียมการขอสัมปทานระเบิดภูเขาทำเหมืองหินอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้ หมุดหมายภูเขาอย่างน้อย 8 ลูก โดยการขยายพื้นที่ทำเหมืองหินอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้ เป็นผลพวงตรงจากนโยบายผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักและโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล เพื่อเตรียมการผลิตหินอุตสาหกรรมในการก่อสร้างโครงการของรัฐ เช่น โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา, โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชนเป็นอย่างมาก

และหากพิจารณาตาม พ.ร.บ. แร่ 2560 กำหนดพื้นที่ห้ามทำสัมปทานเหมืองหินไว้อย่างชัดเจน ทว่า ในทางปฏิบัติรัฐกลับดำเนินไปในทิศทางตรงกันข้าม ด้วยกล่าวอ้างเหตุนานาประการ จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังโขมง

อ่านข่าวที่เดี่ยวข้อง : มากกว่าภาพเขียนสีโบราณ! เอกสารกรมศิลป์ชี้ชัด “เขายะลา” มีวัตถุโบราณอีกหลายชิ้น 


กำลังโหลดความคิดเห็น