xs
xsm
sm
md
lg

มากกว่าภาพเขียนสีโบราณ! เอกสารกรมศิลป์ชี้ชัด “เขายะลา” มีวัตถุโบราณอีกหลายชิ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

.
โดย..ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
.


 
20 ส.ค.2544 หลังจากตรวจพบภาพเขียนสีโบราณและขวานโบราณอายุหลายพันปีในพื้นที่ น.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น ได้ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินบริเวณเขายะลาเป็นโบราณสถาน กินพื้นที่ประมาณ 887 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ ต.ยะลา และลิดล อ.เมืองยะลา จ.ยะลา

กระทั่งวันที่ 30 ก.ย.2562 กรมศิลปากรได้ออกประกาศแก้ไขเขตที่ดินดังกล่าวเหลือเพียง 697 ไร่ เพื่อนำพื้นที่ที่หั่นออกไปราว 190 ไร่ไปให้โรงโม่หินนำไประเบิดหินเพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมก่อสร้างต่างๆ อันมีเป้าหมายรองรับการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังเป็นไปในอัตราเร่ง และนั่นได้ทำให้ผู้คนในสังคมจำนวนมาก โดยเฉพาะชาว จ.ยะลาได้รวมตัวคัดค้านในนามเครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลา นอกจากนี้ สังคมเริ่มตื่นและเข้าร่วมรณรงค์ค้านการลดพื้นที่ของกรมศิลปากร

รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยา ซึ่งเป็นผู้เสนอให้ช่วยกันประทับนิ้วมือด้วยหมึกสีแดงบนกระดาษแล้วนำไปโพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์เพื่อรณรงค์ปกป้องเขายะลา ได้ให้เหตุผลไว้ว่า การลดพื้นที่ประกาศเขตโบราณสถานของกรมศิลปากรดังกล่าวไม่สมควรทำ เพราะตามหลักเกณฑ์โบราณคดีสากลนั้น ต้องดูสภาพแวดล้อมด้วยว่าแหล่งโบราณคดีนั้นๆ มีความสัมพันธ์กับความเป็นบ้านเมือง สังคม วัฒนธรรม ในบริเวณโดยรอบหรือไม่ อย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ แต่กรมศิลปากรกลับไม่ได้ดูจุดนี้ กลับดูแต่จุดที่เจอวัตถุโบราณเท่านั้น

 


 
นอกจากเรื่องสภาพแวดล้อมโดยรอบจุดที่พบภาพสีโบราณและขวานโบราณอายุหลายพันปีแล้ว หลายภาคส่วนยังเชื่อว่า ยังมีวัตถุโบราณอีกหลายชิ้นที่ยังรอการค้นพบ และเป็นไปได้ว่า บางชิ้นอาจอยู่ในพื้นที่ที่ถูกหั่นออกไปเพื่อนำไประเบิด!

หลักฐานที่หนึ่งที่เชื่อว่ามีวัตถุโบราณอื่นนอกเหนือไปจากที่เคยเจอ คือ บันทึกรายงานของกรมศิลปากรในการสำรวจเขายะลาในห้วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่เคยมีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการมาก่อน รวมทั้งสิ้น 6 ครั้งด้วยกัน คือ (1) ปี 2541 โดยศิริพร ลิ่มวิจิตรวงศ์ ผลการศึกษา สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลาสำรวจพบหลักฐานทางโบราณคดีที่เขายะลาเป็นครั้งแรก เนื่องจากจะมีการทำเหมืองหินปูนที่เขายะลา (2) ปี 2542 สำนักงานศิลปากรที่ 13 สงขลา สำรวจแหล่งโบราณคดีเขายะลาอีกครั้งเพื่อขึ้นทะเบียนโบราณสถาน

(3) ระหว่างปี 2543-2544 สำนักงานศิลปากรที่ 13 สงขลา สำรวจเขายะลาเพิ่มเติมและแก้ไขแผนผังขึ้นทะเบียนโบราณสถานให้ครอบคลุมพื้นที่ระเบิดหิน (4) ปี 2544 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 118 ตอนพิเศษ 127ง หน้า 6 ประกาศเขตพื้นที่โบราณสถาน 887 ไร่ 3 งาน 40 ตาราง (5) ปี 2549 สำนักงานศิลปากรที่ 13 สงขลา ร่วมกับ หจก.คูน้ำดันดิน สำรวจเขายะลาเพื่อกันเขตป้องกันแหล่งศิลปกรรมและโบราณสถานจากเหมืองหินปูน

 


 
และ (6) ปี 2553 โดยอัตถสิทธิ์ สุขขำ ศึกษาศิลปะถ้ำหรือศิลปกรรมบนผนังหินที่พบในภาคใต้ของไทย เพื่อเสนอเป็นวิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต่อมหาวิทยาลัยศิลปากร หัวข้อ “การกำหนดอายุแหล่งศิลปกรรมบนผนังหินสมัยโบราณในภาคใต้ของประเทศไทย” เพื่อประมวลข้อมูลเบื้องต้นและแนวคิดในการกำหนดอายุแหล่งศิลปกรรมบนผนังหิน รวมทั้งเรียบเรียงข้อมูลและกำหนดอายุแหล่งศิลปกรรมบนผนังหินในสมัยโบราณในภาคใต้ของไทย ซึ่งรวมถึงศิลปะถ้ำที่พบที่เขายะลาด้วย

ทั้งนี้ จากการสำรวจศึกษา โดยเฉพาะของสำนักงานศิลปากรที่ 13 สงขลา และ หจก.คูน้ำคันดิน เมื่อปี 2549 พบถ้ำและเพิงผาบนเขายะลาหลายแห่ง ตั้งแต่ส่วนตอนล่างของเขาไปจนส่วนยอดที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบในลักษณะหุบเขา ซึ่งจากการสำรวจทางโบราณคดีพบหลักฐานทางโบราณคดีที่สัมพันธ์กับการพำนักอาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์และภาพเขียนสีที่พบในเขายะลาที่มี 4 พื้นที่ด้วยกัน

นอกจากนี้ จากการสำรวจได้มีการบันทึกรายงาน รายละเอียดเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากภาพเขียนสีโบราณที่พบแล้ว ยังได้สำรวจพบหลักฐานทางโบราณคดีอื่นๆ เช่น ชิ้นส่วนกะโหลกมนุษย์ สำรวจปี พ.ศ.2551 พบบริเวณหน้าภาพเขียนสีแดงจุดที่ 1 เพิงผาตอแล (ตอลัง) ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเขายะลา กระดูกสัตว์เป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่พบจำนวนมากที่สุด ชิ้นส่วนกระดูกไม่สามารถระบุได้พบจากการสำรวจพื้นที่บริเวณหน้าภาพเขียนสีแดงจุดที่ 1 เพิงผาตอแล (ตอลัง) ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเขายะลา

  


 
เศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน (Earthenware sherd) พบจากการสำรวจพื้นที่บริเวณหน้าภาพเขียนสีแดงจุดที่ 1 เพิงผาตอแล (ตอลัง) ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเขายะลา (สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา ม.ป.ป. ; ศิริพร ลิ่มวิจิตรวงษ์ 2543) ผู้ศึกษาสันนิษฐานว่าเศษภาชนะเหล่านี้มีอายุอยู่ในสมัยหินใหม่อายปุระมาณ 3,000-2,000 ปีมาแล้ว (กรมศิลปากร 2555:611)

เศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งเคลือบ (Glazed Stoneware) สำรวจพบในปี พ.ศ.2549 ที่โพรงถ้ำในหุบเขาด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขายะลา เป็นส่วนก้นภาชนะมีฐานเคลือบใสทั้งด้านนอกและใน ไม่มีลวดลาย ด้านในมีร่องรอยไม่มีเคลือบใสเป็นวงกลม สันนิษฐานว่าเป็นรอยของการวางภาชนะซ้อนในขั้นตอนการเผา จึงทำให้เคลือบหลุดติดไปกับส่วนฐานภาชนะอีกใบที่วางซ้อนกัน กำหนดอายุได้ในยุคประวัติศาสตร์ แต่ไม่สามารถระบุอายุสมัยที่แน่ชัดหรือแหล่งเตาได้ (คูน้ำคันดิน 2549)

เครื่องมือหินกะเทาะ (Stone tool) สำรวจพบในปี พ.ศ.2549 ในพื้นที่โพรงถ้ำในหุบเขาด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขายะลา ใช้งานเป็นเครื่องมือขุดสับ (Chopper tool) (คูน้ำคันดิน 2549) โกลนขวานหิน (Pre-Polished Axe) สำรวจพบในปี พ.ศ.2549 พื้นที่โพรงถ้ำในหุบเขาด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเขายะลา (คูน้ำคันดิน 2549) ขวานหินไม่มีบ่า ชาวบ้านพบบริเวณบึงน้ำธรรมชาติเชิงเขายะลาด้านทิศตะวนัตก (คูน้ำคันดิน 2549)

หลายภาคส่วนเชื่อว่า หากได้มีการสำรวจโดยละเอียดอีกครั้ง อาจได้พบกับวัตถุโบราณและหลักฐานทางโบราณคดีอีกจำนวนมาก ซึ่งมูลค่าของสิ่งเหล่านี้มีค่ามากกว่า “หิน” ที่ได้จากการระเบิดภูเขา เพื่อนำไปรองรับต่อกิจกรรมการก่อสร้างอย่างแน่นอน
 






















กำลังโหลดความคิดเห็น