xs
xsm
sm
md
lg

ชาว ต.ลิดล ยะลา ร้องผู้ตรวจฯจี้คืนเขตโบราณสถานภาพเขียน หลังหั่นพื้นที่เอื้อนายทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศรีสุวรรณ” งานล้น เดินสายร้องนำชาวบ้าน ต.ลิดล ยะลา ร้องผู้ตรวจฯ สั่งกรมศิลป์คืนเขตโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา หลังหั่นพื้นที่เอื้อนายทุนเหมือง หวั่นกระทบ 4 ภาพเขียนอายุ 3 พันปี

วันนี้ (9 มี.ค.) นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน นำชาวบ้าน ต.ลิดล จ.ยะลา เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้สั่งกรมศิลปากรประกาศแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ซึ่งอยู่บริเวณ ต.ลิดล ต.ยะลา อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ให้กลับมามีพื้นที่เท่าเดิม นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ประกาศฉบับใหม่ลดพื้นที่จากกว่า 887 ไร่ เหลือประมาณ 697 ไร่ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับโรงโม่หินเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างไปกว่า 190 ไร่ โดยอ้างปัญหาความมั่นคง-ลดความไม่สงบในพื้นที่ยะลาและใกล้เคียง เข้าข่ายกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 ซึ่งสมาคมฯได้ยื่นคำร้องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยเอาผิดและลงโทษไปแล้ว แต่เนื่องจากประกาศกรมศิลปากรฉบับดังกล่าวยังมีผลบังคับใช้อยู่ ยังไม่มีการทบทวนแก้ไข หรือยกเลิก

ทำให้เป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการโรงโม่หินอุตสาหกรรมก่อสร้างที่มีอยู่ 5-6 โรงรอบพื้นที่ภาพเขียนสีเขายะลา สามารถยื่นคำขอประทานบัตรเพื่อระเบิดหินนำหินมาใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างต่อไปได้ ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาพเขียนสีโบราณบนผนังหินที่มีอายุกว่า 3,000 ปีจำนวน 4 ภาพ คือ 1. ภาพเขียนสีแดงบริเวณเพิงผาตอแล หรือ ตอลัง ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเขายะลา 2. ภาพเขียนสีดำบริเวณโพรงถ้ำด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเขายะลา 3. ภาพเขียนสีแดงบริเวณเพิงผาด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขายะลา และ 4. ภาพเขียนสีบริเวณด้านทิศใต้ของเขายะลา ที่มีที่ตั้งอยู่ใกล้โรงโม่หินประมาณ 1-2 กม.เท่านั้น

“การหาแหล่งหินเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างในจังหวัดยะลา ยังมีอีกมากมายหลายพื้นที่มีปริมาณสำรองมากกว่า 634.45 ล้านเมตริกตัน แต่ภาพเขียนสีที่สะท้อนอารยธรรมของชนชาติมาแต่โบราณ เป็นสมบัติที่ล้ำค่าจะหาสิ่งใดมาทดแทนกันไม่ได้ การรักษาภาพเขียนสีดังกล่าวให้คงอยู่คู่บ้านคู่เมืองต่อไปมีหนทางเดียวคือต้องยกเลิกประกาศแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลาฉบับดังกล่าวเท่านั้น จึงขอให้ผู้ตรวจฯสั่งกรมศิลปากรยกเลิกประกาศฉบับดังกล่าวเสีย หากยังเพิกเฉยก็จะนำชาวบ้านยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง”




กำลังโหลดความคิดเห็น