เครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลา บุก วธ. ยื่นหนังสือถึง รมว.วัฒนธรรม เรียกร้องให้ยกเลิกประกาศกรมศิลป์แก้ไขเขตที่ดินโบราณสถาน ที่ลงวันที่ 30 ก.ย. 62 หวั่นภาพเขียนสีอายุพันปีถูกทำลาย ด้าน วธ. เตรียมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อสรุป
วันนี้ (5 มี.ค.) ที่กระทรวงวัฒนธรรม นายวรา จันทร์มณี ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลา พร้อมคณะ เดินทางมายื่นหนังสือเปิดผนึกแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม โดยมี นายประสพ เรียงเงิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นายพนมบุตร จันทรโชติ รองอธิบดีกรมศิลปากร เป็นผู้รับหนังสือ
นายวรา กล่าวว่าว่า ที่เดินทางมายื่นหนังสือวันนี้ เพื่อขอให้ยกเลิกประกาศกรมศิลปากร เรื่องแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถาน ในขอบเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา และดำเนินการตามข้อเรียกร้อง เพื่อคุ้มครองโบราณสถานและทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและชุมชน
ตามที่กรมศิลปากรได้มีประกาศ เรื่อง แก้ไขเขตที่ดินโบราณสถาน ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 โดยได้แก้ไขขอบเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ในพื้นที่ ต.ลิดล ต.ยะลา อ.เมือง จ.ยะลา จากพื้นที่ประกาศเดิม ที่ได้ประกาศไว้เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2544 ขนาด 887 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา ลดเหลือ 697 ไร่ 75 ตารางวา โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการผ่อนคลายสภาวะขาดแคลนหินอุตสาหกรรมเพื่อใช้ในการก่อสร้าง และลดการก่อความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มคนผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องระเบิดภูเขาในเขตโบราณคดีเพื่อสนองทุนอุตสาหกรรม การอนุญาตให้ระเบิดหินไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดกับสถานการณ์ของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งจากการประกาศดังกล่าว จะเกิดการขออนุญาตระเบิดในพื้นที่ที่เคยเป็นเขตโบราณสถานส่งผลกระทบต่อภาพเขียนสี และทำให้ท้นที่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เสียหาย เป็นการทำลายแหล่งโบราณคดีที่ต้องอนุรักษ์ไว้ให้เห็นภาพรวม การต่อเนื่อง รอยต่อทางอารยธรรม ซึ่งเป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่งว่าก่อนหน้านี้ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ยาว 3 เมตร อายุกว่าพันปี ที่ประเมินค่ามิได้ ก็ได้พังถล่มลงมาจากการระเบิดหิน
โดยเครือข่ายฯ ขอเรียกร้อง 4 ประเด็น ดังนี้ 1. ให้ยกเลิกประกาศกรมศิลปากร เรื่อง แก้ไขที่ดินโบราณสถาน ในขอบเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา วันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2562 ที่อดีตอธิบดีกรมศิลปากรลงนามในวันสุดท้ายก่อนการเกษียณอายุราชการ ในทันที 2. ให้กรมศิลปากรเร่งทำการสำรวจในพื้นที่แถบ ต.ลิดล ต.ยะลา อ.เมือง จ.ยะลา ตามที่ได้ประกาศเขตไว้ รวมถึงกลุ่มใกล้เคียง เพราะลักษณะของการอยู่อาศัยของคนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม หากกล่าวเฉพาะกลุ่มเขายะลา มีลักษณะบ่งชี้ว่าพื้นที่แถบนี้เป็นพื้นที่กลุ่มเขาศักดิ์สิทธิ์ มีหลักฐานภาพการชุมนุมเพื่อประกอบพิธีกรรมร่วมกันตามฤดูกาล เป็น no man's land 3. เร่งสำรวจและประกาศเขตที่ดินโบราณสถานในพื้นที่ภูเขาที่ตกค้าง โดยคำนึงถึงความเป็นย่านกลุ่มเขาแหล่งโบราณสถานโบราณคดีในภาพรวม และเร่งทำการอนุรักษ์ ไม่เปิดโอกาสให้มีการตัดเฉือนเพื่อระเบิดทำลายอีก และ 4. วธ.ต้องให้ความสำคัญของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เร่งสร้างการอนุรักษ์โบราณสถานโบราณคดีให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกป้องอนุรักษ์คุ้มครองด้วย
นายสมบูรณ์ คำแหง หนึ่งในตัวแทนเครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลา กล่าวเสริมว่า ในส่วนของ พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่ พ.ศ. 2560 ในมาตร 17 วรรค 4 ผมไม่ทราบว่าอดีตอธิบดี อาจจะยังไม่ทราบว่าขั้นตอนการอนุมัติการทำเหมืองแร่ จะต้องมีการประกาศแหล่งแร่ เพื่อบอกให้ผู้ประกอบการให้สามารถเข้าไปสัมปทานได้ ซึ่งกฎหมายใหม่มีการระบุชัดเจนมาก เพราะเขากังวลมากของการถูกทำลายทางโบราณคดี เนื่องจากถูกกระทำไปแล้วหลายพื้นที่ ถ้าหากค้นพบว่าภูเขาลูกนั้นเป็นแหล่งโบราณคดีหรือแหล่งประวัติศาสตร์ไม่สามารถประกาศเป็นแหล่งแร่ได้ ถ้าหากมีการฟ้องร้องกับอดีตอธิบดีกรมศิลปากร ท่านอาจจะต้องหนักใจ เพราะว่าผิดหมายแน่นอน นอกจากนี้ ยังมีแหล่งโบราณคดีหลายแห่งที่อยู่ระหว่างการสำรวจแต่ยังไม่ได้มีการประกาศ อย่างไรก็ตาม การที่ยังไม่ได้ประกาศ ทางกฎหมายแร่ก็ไม่สามารถเช็นอนุมัติได้ ส่วนที่ประกาศแล้วประกาศยกเลิกเป็นการกระทำที่ยอมรับได้ยากมาก ในกรณีขอยะลาและภาพเขียนสีที่ถูกระเบิดไป ซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญของประเทศไทย ตรงนี้ถ้ากรมศิลปากรไม่ทำ ก็ไม่รู้จะให้หน่วยงานไหนทำ ขอฝากเรื่องนี้ต่อกรมศิลปากรให้เร่งดำเนินการ ว่า พื้นที่ไหนเป็นแหล่งโบราณคดี
“หลังประกาศเขตพื้นที่ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว บริษัทสามารถขอสัมปทานได้ทันที ที่ไม่ได้อยู่ในเขตโบราณสถาน พูดตรงๆ ถ้าผมเป็นเจ้าของบริษัทสามารถขอยื่นสัมปทานกรมเหมืองแร่ได้เลย ในการเดินทางมายื่นหนังสือในวันนี้ขอให้ยกเลิกคำสั่งนี้อย่างเร่งด่วน ถ้าไม่ทำเรื่องนี้ภูเขาลูกนี้จะถูกสัมปทานได้ และไม่สามารถเอากฎหมายฉบับไหนไปล้มล้างได้ เพราะบริษัทเขาก็ทำตามขั้นตอน ถ้าหากพวกผมและคนในพื้นที่ไม่ยินยอมก็สามารถฟ้องร้องกรมศิลปากรได้ เพราะกรมศิลปากรทำเกินขอบเขตกฎหมายเหมืองแร่ด้วย เพราะว่ากฎหมายเหมืองแร่บอกว่า ถ้าหากมีการค้นพบแหล่งโบราณคดี แหล่งโบราณสถาน ไม่สามารถเป็นแหล่งแร่ได้ ซึ่งตรงนี้เป็นการย้อนแย้งอยู่ในตัว” นายสมบูรณ์ กล่าว
นายประสพ กล่าวว่า รมว.วัฒนธรรม ติดภารกิจ มอบหมายให้ผมมารับเรื่องแทน ก่อนอื่นผมขอขอบคุณทางเครือข่ายฯที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องข้อมูลทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีเขายะลา ทั้งนี้ ทาง วธ.ให้ความสำคัญเรื่องนี้ และรับข้อเรียกร้องมาดำเนินการ โดยจะมอบหมายให้กรมศิลป์ไปดำเนินการ และจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งพื้นที่ เพื่อหาข้อสรุปในการดำเนินงานร่วมกันต่อไป กระทรวงวัฒนธรรมไม่ได้นิ่งนอนใจ รมว.วัฒนธรรม และปลัดวัฒนธรรม ให้ความสำคัญเรื่องนี้