ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หน้ากากอนามัยหายไปไหน?
ยังจำได้ดีว่า ไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ “อู๊ดด้า - นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมานั่งยันนอนยันว่า หน้ากากอนามัยมีเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน
แต่บัดนี้หน้ากากอนามัยกลายเป็นของหายาก ร้านขายยาทั่วทุกแห่งหนพร้อมใจปิดป้ายประกาศ “หน้ากากอนามัยหมด” พี่น้องประชาชนหาซื้อไม่ได้ หรือที่ยังพอมีขายก็โก่งราคาแพงหู่ฉี่ อ้างต้นทุนแพง กอบโกยกำไร หน้ากากเขียวธรรมดา ตกชิ้นละ 35 - 70 บาท
ขณะที่บรรยากาศร้านค้าขององค์การเภสัชกรรม รัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงสาธารณสุข จัดจำหน่ายราคาไม่แพง 1 แพค10 ชิ้น 10 บาท มีประชาชนไปต่อคิวรอตั้งแต่ตี 5 - 6 โมงเช้าทุกวัน และไม่ใช่ว่าทุกคนได้หน้ากากอนามัยกลับบ้าน เพราะจำเป็นต้องจำกัดจำนวน กลับกันในโซเชียลฯ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ชอปปี้ ลาซาด้า ฯลฯ มีประกาศเสนอขายหน้ากากอนามัยล็อตใหญ่กันเป็นหมื่นเป็นพันชิ้น
ค้าขายเกินราคาไม่อินังขังขอบต่อประกาศ พณ. ที่กำหนดให้ “หน้ากากอนามัย- เจลล้างมือ” เป็น “สินค้าควบคุม 1 ปี” หากพบกระทำผิด ขายแพงเกินราคา กักตุนสินค้า และปฏิเสธการจำหน่าย มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือหากไม่ปิดป้ายราคามีโทษ ปรับ 10,000 บาท
ยิ่งไปกว่านั้น บุคลากรทางการแพทย์ หมอ พยาบาล ฯลฯ โรงพยาบาลรัฐและเอกชนทั่วราชอาณาจักร กำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ทุกโรงพยาบาลต้องกำหนดโควตาการเบิกใช้ ช่วยกันประหยัดทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเปิดเผยจากสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ถึงวิกฤตขาดแคลนหน้ากากอนามัยในโรงพยาบาล สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจาก การเข้ามาควบคุมของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ หลังจากประกาศให้ “หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม” ทำให้โรงงานผู้ผลิตต้องจัดส่งให้กับกรมการค้าภายในเท่านั้น ไม่สามารถจำหน่ายให้กับโรงพยาบาลโดยตรง ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นถึง “ความไร้ประสิทธิภาพ” ของกระทรวงพาณิชย์ในการบริหารจัดการชัดแจ้งขึ้นไปอีก
หน้ากากอนามัยไม่เพียงขาดแคลน แต่ยังมีการโก่งราคา และหลอกจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐานเกิดกรณี “แจกหน้ากากอนามัยไร้คุณภาพ10,000 ชิ้น” ที่ “นายสิระ เจนจาคะ” ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ ถูกหลอกขาย โดยคว้านซื้อมาจากช่องทางออนไลน์ ราคาชิ้นละ 14.75 บาท รวมทั้งหมด 147,500 บาท กระทั่ง มีการนำไปตรวจสอบวิเคราะห์ด้วยเทคนิค FT-IR-ATR พบว่า หน้ากากอนามัยที่นายสิระนำมาแจก เป็ นผ้าสปันบอนด์ ที่เกิดจากเส้นใยสังเคราะห์ของโพลิเมอร์ ที่เป็นพอลิโพรไพลีน (Polypropylene หรือ PP) ลักษณะทางกายภาพมีกลิ่นเหม็นพลาสติก มีขนาด 3 ชั้นแต่บางมาก ลักษณะย้อมสีฟ้าเพื่อให้ดูรู้สึกดี แตกยุ่ยได้ง่าย ซึ่งจะก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เรียกว่าไมโครพลาสติก หากสูดดมเข้าไปในร่างกาย มีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง
รวมทั้ง หากนำไปล้างน้ำและไหลลงไปในระบบนิเวศ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง สัตว์น้ำสัตว์ทะเลจะได้รับไมโครพลาสติกพวกนี้กลับเข้ามาสู่ระบบและมนุษย์ก็ไปกินสัตว์น้ำเหล่านี้ก็จะเข้ามาสู่ร่างกายได้เช่นกัน ในระยะยาวพลาสติกเหล่านี้ย่อยสลายได้ยากมาก และเป็นกลุ่มเสี่ยงซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ยังมีการนำ “หน้ากากอนามัยใช้แล้ว” มาหลอกลวงจำหน่ายฟาดกำไรไปเต็มๆ ดังที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมให้เห็นกันจะจะที่วิหารแดง จ.สระบุรี
คำถามที่ดังอึงมี่ไปทั่วทั้งประเทศก็คือ “หน้ากากอนามัย” หายไปไหน “ใคร” คือคนที่กักตุนสินค้า และ “กระทรวงพาณิชย์” ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ “รัฐมนตรีอู๊ดด้า” ทำอะไรกันอยู่ เพราะมีข้อมูลอยู่ในมือหมดแล้วว่า โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยในประเทศไทยมี 11 แห่ง และแต่ละแห่งมีกำลังการผลิตมากน้อยแค่ไหนต่อวัน
ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า วิกฤตหน้ากากอนามัยขาดแคลน “มีขบวนการกักตุนสินค้า” มี “ไอ้โม่ง” ผู้ใกล้ชิดกับรัฐบาลหรือนักการเมืองคนใดหรือพรรคไหน ไปกว้านซื้อล็อตใหญ่จากโรงงานหรือไม่?
เพราะนับตั้งแต่ โควิด-19 ระบาด ลากยาวตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 หน้ากากอนามัยเริ่มขาดตลาดและขาดแคลนหนัก ในห้วงเวลาประกาศเป็นสินค้าควบคุม ของกระทรวงพาณิชย์ เกิดการกักตุน โก่งราคา แม้มีบทลงโทษทางกฎหมายร้ายแรง
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ออกมาแจกแจงเผยรายละเอียดว่า ปัจจุบันโรงงานในประเทศมีกำลังการผลิตที่จำกัด 1.35ล้านชิ้นต่อวัน แต่ความต้องการเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า ประกอบกับปัญหาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเริ่มขาดแคลนและหายาก
ปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ไทยมีสต็อกหน้ากากอนามัย 30 ล้านชิ้น ซึ่งสต็อกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยอัพเดทอีกครั้งในวันที่ 10 มี.ค. 2563 ขณะที่ความต้องการหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 100 ล้านชิ้น ซึ่งกำลังการผลิตของผู้ผลิตรายใหญ่ 11ราย รวมกันวันละ 1.3 ล้านชิ้น หรือเดือนละประมาณ 36 ล้านชิ้นเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จัดระเบียบให้โรงงานผลิตกระจายหน้ากาก ต้องส่งหน้ากากอนามัยส่วนเข้า “ศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย” ของกระทรวงพาณิชย์ ประมาณ 40 - 45% โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรก จัดสรรให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงสาธารณสุข รวม 600,000 ชิ้นต่อวัน โดยจัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์ 350,000 ชิ้น ผ่านโรงพยาบาลโดยตรง 150,000 ชิ้น ผ่านองค์การเภสัชกรรม 200,000 ชิ้น และส่งมาที่กรมการค้าภายใน 250,000 ชิ้น เพื่อกระจายไปยังสมาคมร้านขายยา การบินไทย ร้านธงฟ้า เซเว่นอีเลฟเว่น บิ๊กซี เทสโก้โลตัส ขายให้ประชาชนคนละไม่เกิน 1 แพ็คๆ ละ 4 ชิ้น ราคาชิ้นละ 2.50 บาท รวมจำหน่ายแพ็คละ 10 บาท
ส่วนที่สอง เหลืออีกจำนวน 750,000 ชิ้นต่อวัน ทางโรงงานอุตสาหกรรมดำเนินการบริหารจัดการตามการค้าปกติ ซึ่งอาจจะต้องเข้าไปตรวจสอบว่าจำหน่ายไปในช่องทางใดบ้าง
ตามข้อมูลข้างต้น โรงงานต้องส่งหน้ากากอนามัยส่วนเข้า “ศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย” ของกระทรวงพาณิชย์ ประมาณ 40 - 45% เพื่อให้ศูนย์ฯ สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึงมากขึ้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการแทรกแซงการทำธุรกิจปกติของภาคเอกชน เพราะ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ให้อำนาจกระทรวงพาณิชย์เต็มที่ในการบริหารจัดการสินค้าควบคุมภายใต้ภาวะวิกฤต
เห็นภาพเห็นข้อมูลจากกรมการค้าภายในแล้ว คำถามก็เกิดขึ้นเหมือนเคยว่า แล้วทำอะไรกันอยู่ เพราะไม่ใช่ไม่รู้ว่า ความต้องการหน้ากากอนามัยเพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” และปัญหา “ฝุ่นพิษ PM 2.5”
แล้วจะว่าไป ปัญหานี้ไม่ใช่เพิ่งเกิด หากแต่เกิดมานานแล้ว
4 มี.ค. นายจุรินทร์ประชุมเคร่งเครียดกว่า 8 ชั่วโมงก็หาข้อสรุปไม่ได้ กระทั่งวันที่ 5 มี.ค. นายจุรินทร์ถึงได้มี “บทสรุป” ที่ชัดเจน โดยเปิดเผยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาหน้ากากอนามัยราคาแพง และการกระจายหน้ากากอนามัย ว่า ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) กำหนดราคาจำหน่ายสูงสุดหน้ากากอนามัยแบบสีเขียวในราคาไม่เกินชิ้นละ 2.50 บาท สำหรับหน้ากากอนามัยที่ผลิตได้ในประเทศ แต่ได้ยกเว้นให้สำหรับหน้ากากอนามัยที่เป็น สต๊อกเก่าและมีการจำหน่ายจากโรงงานไปยังผู้จำหน่ายต่างๆ ก่อนหน้านี้ โดยให้เวลาเคลียร์สต๊อกให้หมดภายใน 3 วัน และตั้งแต่วันจันทร์ที่ 9 มี.ค. 2563 เป็นต้นไปจะต้องจำหน่ายในราคาชิ้นละ 2.50 บาททั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน หากขายเกินราคาสูงสุดที่กำหนดจะมีโทษตามกฎหมาย คือ จำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนหน้ากากอนามัยนำเข้า ได้กำหนดให้ผู้นำเข้าต้องแจ้งต้นทุนนำเข้าต่อกรมการค้าภายใน และสามารถบวกค่าบริหารจัดการ เช่น ต้นทุนค่าบริหาร การขนส่ง ค่าน้ำค่าไฟ ค่าบริหารงานบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) ค่าใช้จ่ายอื่นๆ และค่าตอบแทน รวมกันทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 60% จากต้นทุนนำเข้า เช่น สินค้านำเข้าราคา 100 บาทบวกได้เป็น 160 บาท หรือราคา 1 บาท บวกได้เป็น 1.60 บาท เป็นต้น แต่การกำหนดราคาจำหน่ายสูงสุด ไม่รวมหน้ากากอนามัยแบบผ้า ที่เป็นหน้ากากทางเลือก ที่รัฐบาลกำลังส่งเสริมและผลักดันให้มีการผลิต
รัฐมนตรีอู๊ดด้าบอกด้วยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้มีการสรุปตัวเลขการผลิตที่ชัดเจนร่วมกับโรงงานที่มีอยู่ 11 โรงงาน พบว่ามีกำลังการผลิตรวมกันวันละ 1.2 ล้านชิ้น ลดลงจากเดิม 1.35 ล้านชิ้น เพราะมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบ หรือจะมียอดรวมเดือนละ 36 ล้านชิ้น โดยการกระจายจะบริหารจัดการโดยศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย โดย 7 แสนชิ้นมอบให้กระทรวงสาธารณสุขนำไปกระจายให้โรงพยาบาล สถานพยาบาลทุกสังกัดทั้งรัฐและเอกชน ส่วนอีก 5 แสนชิ้น กรมการค้าภายในจะเป็นผู้ระบายให้ประชากร 60 ล้านคน ผ่านช่องทางที่มีอยู่เดิม และรถโมบายล์ที่เพิ่มเข้ามาใหม่
สำหรับการกระจายผ่านรถโมบายล์มีจำนวน 111 คัน แยกเป็นกรุงเทพฯ 21 คัน และต่างจังหวัด 90 คัน มีหน้ากากประมาณ 3 แสนชิ้นต่อวันไปขาย โดยรถที่วิ่งในกรุงเทพฯ จะขาย 5,000-10,000 ชิ้นต่อวัน และในต่างจังหวัด 3,000-5,300 ชิ้นต่อวัน และอีก 2 แสนชิ้นจะกระจายผ่านช่องทางเดิม คือ ร้านขายยา ส่งให้กับการบินไทย ร้านสะดวกซื้อ และร้านธงฟ้า ซึ่งการกระจาย ศูนย์ฯ จะมีการประชุมกันทุกวันเพื่อติดตามดูว่าตรงไหนขาด ตรงไหนเพียงพอ ก็จะปรับเปลี่ยน หรือเกลี่ยการระบายไปยังส่วนที่ขาดแคลนต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้มีการกำหนดให้ “เจลล้างมือ” เป็นสินค้าที่จะต้องขออนุญาตก่อนปรับขึ้นราคา เพื่อแก้ไขปัญหาราคาแพง โดยหากขอมาแล้วไม่ได้รับการอนุมัติก็ไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้
ส่วนการออกประกาศกำหนดให้ผู้ใดผู้หนึ่งที่มีหน้ากากอนามัยในครอบครองเกินกว่าปริมาณที่กำหนด จะต้องแจ้งปริมาณการครอบครองต่อกรมการค้าภายในเพื่อป้องกันการกักตุน ยังไม่ได้มีการกำหนดเป็นมาตรการออกมา เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อผู้ที่เก็บหน้ากากอนามัยที่บริสุทธิ์ โดยเฉพาะการครอบครองเพื่อใช้งาน เช่น โรงพยาบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ขณะที่ในด้านการดูแลและแก้ไขปัญหาการกักตุน ได้กำหนดพฤติกรรม คือ 1. การเก็บสินค้าไว้ในสถานที่อื่นตามที่ได้แจ้งไว้กับเจ้าหน้าที่ 2. ไม่นำหน้ากากที่มีเพื่อจำหน่ายออกจำหน่ายตามปกติ 3. ปฏิเสธการจำหน่าย 4. ประวิงการจำหน่าย และ 5. การส่งมอบโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร จะถือว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นการกักตุนสินค้า จะมีความผิดตามกฎหมาย มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และด้วยความเชื่องช้านี้เอง ทำให้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้หารือร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาหน้ากากอนามัยให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กลุ่มผู้ผลิตหน้ากากอนามัย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรมฯลฯ
โดยได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งรัดกับผู้ผลิตหน้ากากอนามัยที่ป้อนให้แก่โรงพยาบาลประมาณ 11 แห่ง กำลังผลิต 36 ล้านชิ้นต่อเดือน ให้ผลิตเต็มกำลังที่มีอยู่เพื่อให้สถานพยาบาลต่างๆ มีเพียงพอใช้
ส่วนกรณีของประชาชนทั่วไป ที่ประชุมเห็นชอบที่จะร่วมมือกับภาคเอกชนผลิตหน้ากากอนามัยที่ทำจากผ้าจำนวนประมาณ 30 ล้านชิ้น เพื่อแจกให้กับประชาชนฟรีในพื้นที่ชุมชนแออัด โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ๆ โดยมีโควตาให้คนละประมาณ 3 ชิ้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มแจกได้ภายใน 1 เดือน หรือเร็วสุดภายใน มี.ค. โดยจะมีการนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติของบประมาณในการดำเนินงานในสัปดาห์หน้าต่อไป
คงต้องลุ้นกันเฮือกใหญ่ว่า ประชาชนจะเข้าถึงหน้ากากอนามัยง่ายขึ้นกว่าที่ผ่านมาหรือไม่?