xs
xsm
sm
md
lg

งัดกม.คุมขายแมสก์2.50บ. CPทุ่ม100ล.ผุด รง.-แจกฟรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

“สมคิด” นำทีม “อุตตม-สุริยะ” หารือรับมือหน้ากากอนามัยขาดแคลนงัดแผนให้เอกชนผลิตแบบผ้าใช้ทดแทนเตรียมชง ครม.สัปดาห์หน้าของบหนุนผลิต 30 ล้านชิ้น แจกฟรีประชาชน หวังทยอยแจกได้ มี.ค.นี้ “ปตท.” ทำ “แอลกอฮอล์-เจลล้างมือ” แจกด้วย “พาณิชย์” ใช้กฎหมายเข้มสุด กำหนดราคาขายปลีกสูงสุดชิ้นละ 2.50 บาท ขายเกินเจอคุก-ปรับ “เจ้าสัวธนินท์” ทุ่ม 100 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยแจกฟรี แก้ขาดแคลน

วานนี้ (5 มี.ค.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการเป็นประธานหารือร่วมกับ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ผลิตหน้ากากอนามัย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ฯลฯ เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า ได้มอบให้กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งรัดการผลิตหน้ากากอนามัยที่ป้อนให้กับโรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานผลิต 11 แห่ง กำลังการผลิต 36 ล้านชิ้นต่อเดือน ให้ผลิตเต็มที่ ส่วนวัตถุดิบที่มีอยู่เริ่มหมดลง ให้เร่งหารือกับทุกส่วนเพื่อแก้ไขเพื่อให้สถานพยาบาลต่างๆ มีเพียงพอใช้ ส่วนกรณีของประชาชนทั่วไป มอบหมายให้หารือกับโรงงานสิ่งทอนำผ้าหรือวัสดุทดแทนมาตัดเย็บเป็นหน้ากากอนามัย เพื่อกระจายให้ทั่วถึง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนทั้งประเทศ ว่าจะมีหน้ากากอนามัยในการดูแลตนเองได้ ไม่ขาดแคลน

ก.อุตฯเผยโรงงานพร้อมผลิต 50 แห่ง

ด้านนายสุริยะ กล่าวเสริมว่าที่ประชุมเห็นชอบที่จะร่วมมือกับภาคเอกชน ผลิตหน้ากากอนามัยที่ทำจากผ้า ประมาณ 30 ล้านชิ้น เพื่อแจกให้กับประชาชนฟรีในพื้นที่ชุมชนแออัด โดยเฉพาะในเขต กทม. ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ๆ แต่จะทยอยผลิตและนำมาแจกได้เบื้องต้นในช่วง มี.ค. 10 ล้านชิ้นก่อน โดยให้คนละประมาณ 3 ชิ้น หรือราว 10 ล้านคน โดยจะมีการนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติของบประมาณในการดำเนินงานช่วงสัปดาห์หน้า

"โรงงานผลิตที่พร้อมจะเข้ามาร่วมมือครั้งนี้มีราว 100 แห่ง แต่พร้อมผลิตทันที 50 แห่ง แต่กำลังผลิตระยะแรกก็คงจะต้องทยอยออกมา ซึ่งต้องดูรายละเอียดว่าจะใช้ผ้า หรือวัสุดประเภทไหนที่เหมาะสม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นโรคทางเดินหายใจ สามารถใช้หน้ากากผ้าได้ ซึ่งยังประหยัด เพราะนำไปซักกลับมาใช้ใหม่ได้" นายสุริยะ กล่าว

“ก.พลังงาน” ระดมช่วยค่าครองชีพ

วันเดียวกัน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยหลังการหารือร่วมกับหน่วยงานด้านพลังงานกว่า 20 บริษัท ทั้งน้ำมัน ไฟฟ้า ปิโตรเคมี ฯลฯ ที่จะช่วยรับมือกับโควิด-19 รวมถึงการดูแลเศรษฐกิจช่วงระยะสั้น ที่ได้รับกระทบเบื้องต้นจะได้หารือกับที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจในวันที่ 6 มี.ค.นี้ โดยเฉพาะกรณีการผลิตเจลล้างมือ หากขาดแคลนซึ่งสามารถดึงเอทานอล ที่เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพมาดำเนินการได้ แต่ยังคงติดระเบียบด้านกฎหมายที่ต้องหารือกับส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป รวมไปถึงค่าครองชีพให้กับประชาชนทั้ง ค่าไฟฟ้า น้ำมัน และ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี)

ปตท.จ่อแจก “แอลกอฮอล์-เจลล้างมือ”

ขณะที่ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทางกลุ่ม ปตท.จะเร่งผลิตแอลกอฮอล์หรือเจลล้างมือที่ขณะนี้ตลาดมีความต้องการสูง โดยกลุ่ม ปตท.เตรียมแจกจ่ายประชาชนผ่านสถานีบริการน้ำมัน และร้านคาเฟ่ อเมซอน ในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้

“ขณะนี้ ปตท.อยู่ระหว่างการคิดค้นสูตรการผลิตที่ได้มาตรฐาน จัดทำแบรนด์ และบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการขออนุญาต ตามมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเบื้องต้น บริษัทในเครือปตท. คือ ไทยออยล์ ได้รับมาตรฐาน อย.แล้ว และเริ่มทดลองการผลิต ขณะที่ไออาร์พีซี เตรียมยื่นขอมาตรฐาน อย. คาดว่าจะ เริ่มนำมาทดลองใช้ภายในกลุ่ม ปตท.ในเดือนเม.ย.นี้” นายชาญศิลป์ ระบุ

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บางจากพร้อมที่จะนำเอทานอลมาผลิตเป็นเจลล้างมือเพื่อแจกให้กับประชาชนผ่านสถานีบริการน้ำมันบางจาก หรือเติมน้ำมันแล้วได้รับแจกเจลล้างมือฟรีแก่ลูกค้า แต่ทั้งนี้ คงต้องให้ภาครัฐต้องปลดล็อกแก้กฎหมายในการนำเอทานอลไปผลิตแอลกอฮอล์เพื่อทำเจลล้างมือก่อนจึงจะดำเนินการได้อย่างไรก็ตาม บางจากมีแผนจะนำผ้าที่ผลิตจากขวดพลาสติกPET รีไซเคิลมาผลิตเป็นเส้นใยเพื่อผลิตผืนผ้าเพื่อนำไปผลิตเป็นหน้ากากผ้า โดยขอเช็คสต็อกผ้าที่ทำจากขวดพลาสติกPETรีไซเคิลก่อน หลังจากนั้นจะนำไปแจกที่สำนักงานเขต กรุงเทพฯและพลังงานจังหวัดเพื่อกระจายต่อไป

เข้มราคาแมสก์ไม่เกิน 2.5 บาท/ชิ้น

ทางด้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาหน้ากากอนามัยราคาแพง และการกระจายหน้ากากอนามัยว่า ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) กำหนดราคาจำหน่ายสูงสุดหน้ากากอนามัยแบบสีเขียวในราคาไม่เกินชิ้นละ 2.50 บาท สำหรับหน้ากากอนามัยที่ผลิตได้ในประเทศ แต่ได้ยกเว้นให้สำหรับหน้ากากอนามัยที่เป็นสต๊อกเก่าและมีการจำหน่ายจากโรงงานไปยังผู้จำหน่ายต่างๆ ก่อนหน้านี้ โดยให้เวลาเคลียร์สต๊อกให้หมดภายใน 3 วัน และตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค.63 เป็นต้นไป จะต้องจำหน่ายในราคาชิ้นละ 2.50 บาททั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน หากขายเกินราคาสูงสุดที่กำหนด จะมีโทษตามกฎหมาย คือ จำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนหน้ากากอนามัยนำเข้า ได้กำหนดให้ผู้นำเข้าต้องแจ้งต้นทุนนำเข้ากับกรมการค้าภายใน และสามารถบวกค่าบริหารจัดการ แต่ต้องไม่เกิน 60% จากต้นทุนนำเข้า แต่การกำหนดราคาจำหน่ายสูงสุด ไม่รวมหน้ากากอนามัยแบบผ้า ที่เป็นหน้ากากทางเลือก ที่รัฐบาลกำลังส่งเสริมและผลักดันให้มีการผลิต

ปล่อยรถโมบายขาย ปชช.ทุกวัน

นายจุรินทร์กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้มีการสรุปตัวเลขการผลิตที่ชัดเจนร่วมกับโรงงานที่มีอยู่ 11 โรงงาน พบว่า มีกำลังการผลิตรวมกันวันละ 1.2 ล้านชิ้น ลดลงจากเดิม 1.35 ล้านชิ้น เพราะมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบ หรือจะมียอดรวมเดือนละ 36 ล้านชิ้น โดยการกระจายจะบริหารจัดการโดยศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย โดย 7 แสนชิ้น มอบให้กระทรวงสาธารณสุขนำไปกระจายให้กับโรงพยาบาล สถานพยาบาลทุกสังกัด ทั้งรัฐและเอกชน ส่วนอีก 5 แสนชิ้น กรมการค้าภายในจะเป็นผู้ระบายให้กับประชากร 60 ล้านคน ผ่านช่องทางที่มีอยู่เดิม และรถโมบายที่เพิ่มเข้ามาใหม่

สำหรับการกระจายผ่านรถโมบาย มีจำนวน 111 คัน แยกเป็น กทม. 21 คัน และต่างจังหวัด 90 คัน มีหน้ากากประมาณ 3 แสนชิ้นต่อวันไปขาย โดยรถที่วิ่งใน กทม.จะขาย 5,000-10,000 ชิ้นต่อวัน และในต่างจังหวัด 3,000-5,300 ชิ้นต่อวัน และอีก 2 แสนชิ้น จะกระจายผ่านช่องทางเดิม คือ ร้านขายยา ส่งให้กับการบินไทย ร้านสะดวกซื้อ และร้านธงฟ้า ซึ่งการกระจาย ศูนย์ฯ จะมีการประชุมกันทุกวัน เพื่อติดตามดูว่าตรงไหนขาด ตรงไหนเพียงพอ ก็จะปรับเปลี่ยน หรือเกลี่ยการระบายไปยังส่วนที่ขาดแคลนต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้มีการกำหนดให้เจลล้างมือ เป็นสินค้าที่จะต้องขออนุญาตก่อนปรับขึ้นราคา เพื่อแก้ไขปัญหาราคาแพง โดยหากขอมาแล้ว ไม่ได้รับการอนุมัติ ก็ไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้

รายงานข่าวจาก บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) ระบุว่า นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ตัดสินใจนำเงินจำนวนประมาณ 100 ล้านบาท เร่งสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อแจกจ่ายฟรีแก่บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลที่มีความจำเป็น และประชาชนทั่วไปที่ขาดโอกาสในการเข้าถึง ในช่วงเวลาวิกฤตที่คนไทยขาดแคลนหน้ากากอนามัย โดยจะใช้ศักยภาพของเครือข่ายการลงทุนที่มีอยู่ทั่วโลก จัดหาเครื่องจักร และวัตถุดิบที่ได้มาตรฐานสุขอนามัย สามารถใช้ในการป้องกันเชื้อโรคโดยเฉพาะเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ โดยโรงงานดังกล่าวจะสร้างเสร็จภายใน 5 อาทิตย์ จะมีกำลังการผลิตประมาณเดือนละ 3 ล้านชิ้น เพื่อนำไปแจกจ่ายต่อไป

“ถือเป็นหน้าที่ของเครือซีพี เราลงทุนในหลายประเทศ ทำให้น่าจะนำศักยภาพในการจัดหาวัตถุดิบที่ปัจจุบันกำลังขาดแคลน รวมการสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เราก็มีความตั้งใจที่จะทำเพื่อประเทศไทยอย่างดีที่สุด ด้วยเพราะเครือเจริญโภคภัณฑ์เกิดและเติบโตในประเทศไทยมาจนเกือบครบ 100 ปีแล้ว เราเข้าใจในช่วงนาทีที่ยากลำบากนี้ หลังเข้าสู่ภาวะปกติ โรงงานนี้จะดำเนินการโดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะมอบให้กับศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาฯ ต่อไป” นายธนินท์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น