“พาณิชย์” เข้มกำหนดราคาขายปลีก “หน้ากากอนามัย” สูงสุดชิ้นละ 2.50 บาท ใครเกินเจอคุก 5 ปี ปรับ 1 แสน ส่วนสินค้านำเข้าบวกต้นทุนทุกอย่างได้ไม่เกิน 60% โชว์แผนแก้ขาดแคลนให้สาธารณสุขจัดสรรให้โรงพยาบาลทุกสังกัด 7 แสนชิ้น พาณิชย์กระจาย 5 แสนชิ้น ผ่านรถโมบายล์ 111 คันทั่วประเทศ ร้านสะดวกซื้อและร้านธงฟ้า ล่าสุดสั่ง “เจลล้างมือ” ห้ามปรับราคาก่อนได้รับอนุญาต
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาหน้ากากอนามัยราคาแพง และการกระจายหน้ากากอนามัย ว่า ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) กำหนดราคาจำหน่ายสูงสุดหน้ากากอนามัยแบบสีเขียวในราคาไม่เกินชิ้นละ 2.50 บาท สำหรับหน้ากากอนามัยที่ผลิตได้ในประเทศ แต่ได้ยกเว้นให้สำหรับหน้ากากอนามัยที่เป็นสต๊อกเก่าและมีการจำหน่ายจากโรงงานไปยังผู้จำหน่ายต่างๆ ก่อนหน้านี้ โดยให้เวลาเคลียร์สต๊อกให้หมดภายใน 3 วัน และตั้งแต่วันจันทร์ที่ 9 มี.ค. 2563 เป็นต้นไปจะต้องจำหน่ายในราคาชิ้นละ 2.50 บาททั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน หากขายเกินราคาสูงสุดที่กำหนดจะมีโทษตามกฎหมาย คือ จำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนหน้ากากอนามัยนำเข้า ได้กำหนดให้ผู้นำเข้าต้องแจ้งต้นทุนนำเข้าต่อกรมการค้าภายใน และสามารถบวกค่าบริหารจัดการ เช่น ต้นทุนค่าบริหาร การขนส่ง ค่าน้ำค่าไฟ ค่าบริหารงานบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) ค่าใช้จ่ายอื่นๆ และค่าตอบแทน รวมกันทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 60% จากต้นทุนนำเข้า เช่น สินค้านำเข้าราคา 100 บาทบวกได้เป็น 160 บาท หรือราคา 1 บาท บวกได้เป็น 1.60 บาท เป็นต้น แต่การกำหนดราคาจำหน่ายสูงสุด ไม่รวมหน้ากากอนามัยแบบผ้า ที่เป็นหน้ากากทางเลือก ที่รัฐบาลกำลังส่งเสริมและผลักดันให้มีการผลิต
นายจุรินทร์กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้มีการสรุปตัวเลขการผลิตที่ชัดเจนร่วมกับโรงงานที่มีอยู่ 11 โรงงาน พบว่ามีกำลังการผลิตรวมกันวันละ 1.2 ล้านชิ้น ลดลงจากเดิม 1.35 ล้านชิ้น เพราะมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบ หรือจะมียอดรวมเดือนละ 36 ล้านชิ้น โดยการกระจายจะบริหารจัดการโดยศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย โดย 7 แสนชิ้นมอบให้กระทรวงสาธารณสุขนำไปกระจายให้โรงพยาบาล สถานพยาบาลทุกสังกัดทั้งรัฐและเอกชน ส่วนอีก 5 แสนชิ้น กรมการค้าภายในจะเป็นผู้ระบายให้ประชากร 60 ล้านคน ผ่านช่องทางที่มีอยู่เดิม และรถโมบายล์ที่เพิ่มเข้ามาใหม่
สำหรับการกระจายผ่านรถโมบายล์มีจำนวน 111 คัน แยกเป็นกรุงเทพฯ 21 คัน และต่างจังหวัด 90 คัน มีหน้ากากประมาณ 3 แสนชิ้นต่อวันไปขาย โดยรถที่วิ่งในกรุงเทพฯ จะขาย 5,000-10,000 ชิ้นต่อวัน และในต่างจังหวัด 3,000-5,300 ชิ้นต่อวัน และอีก 2 แสนชิ้นจะกระจายผ่านช่องทางเดิม คือ ร้านขายยา ส่งให้กับการบินไทย ร้านสะดวกซื้อ และร้านธงฟ้า ซึ่งการกระจาย ศูนย์ฯ จะมีการประชุมกันทุกวันเพื่อติดตามดูว่าตรงไหนขาด ตรงไหนเพียงพอ ก็จะปรับเปลี่ยน หรือเกลี่ยการระบายไปยังส่วนที่ขาดแคลนต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้มีการกำหนดให้เจลล้างมือเป็นสินค้าที่จะต้องขออนุญาตก่อนปรับขึ้นราคา เพื่อแก้ไขปัญหาราคาแพง โดยหากขอมาแล้วไม่ได้รับการอนุมัติก็ไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้
นายจุรินทร์กล่าวว่า ส่วนการออกประกาศกำหนดให้ผู้ใดผู้หนึ่งที่มีหน้ากากอนามัยในครอบครองเกินกว่าปริมาณที่กำหนด จะต้องแจ้งปริมาณการครอบครองต่อกรมการค้าภายในเพื่อป้องกันการกักตุน ยังไม่ได้มีการกำหนดเป็นมาตรการออกมา เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อผู้ที่เก็บหน้ากากอนามัยที่บริสุทธิ์ โดยเฉพาะการครอบครองเพื่อใช้งาน เช่น โรงพยาบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากมีการเปลี่ยนแปลง หรือเห็นว่ามีปัญหาก็จะมีการออกคำสั่ง กกร.เพื่อบังคับใช้ต่อไป
ทั้งนี้ ในด้านการดูแลและแก้ไขปัญหาการกักตุน ได้กำหนดพฤติกรรม คือ 1. การเก็บสินค้าไว้ในสถานที่อื่นตามที่ได้แจ้งไว้กับเจ้าหน้าที่ 2. ไม่นำหน้ากากที่มีเพื่อจำหน่ายออกจำหน่ายตามปกติ 3. ปฏิเสธการจำหน่าย 4. ประวิงการจำหน่าย และ 5. การส่งมอบโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร จะถือว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นการกักตุนสินค้า จะมีความผิดตามกฎหมาย มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ