xs
xsm
sm
md
lg

ล่าไอ้โม่งโก่งราคามาสก์ พณ.จ่อคุมเพดานขายสูงสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

บิ๊กตู่" สั่งจัดชุดไล่ล่าต้นตอหน้ากากอนามัยแพง-ขาดตลาด เช็กย้อนศรจากร้านค้าถึงโรงงาน ย้ำคุมราคาขาย 2.50 บาทต่อชิ้น สั่ง “บีโอไอ” วางแผนขยายตั้งโรงงานเพิ่ม หาทางผลิตวัสดุต้นทุนในประเทศเอง "พาณิชย์" ถกเครียดกว่า 8 ชั่วโมง ยังเคลียร์มาตรการบริหารจัดการ “หน้ากากอนามัย” เพิ่มเติมไม่ลงตัว “จุรินทร์” นัดแถลงอีกครั้งวันนี้ แย้มสั่งแจ้งปริมาณครอบครอง ไม่แจ้งเจอโทษคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสน ส่วนการคุมราคาขายสูงสุด ยังติดปัญหาหน้ากากอนามัยมีกว่า 70 ชนิด

วานนี้ (4 มี.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาหน้ากากอนามัยไม่เพียงพอความต้องการประชาชนว่า กำลังให้ชุดติดตามเข้าไปตรวจสอบช่องทางการจำหน่ายหน้ากากอนามัยว่าเกิดปัญหาในจุดใด จากโรงงานไปสู่ผู้แทนการขาย ร้านค้า ร้านจำหน่าย และจะไปตรวจจากร้านค้าย้อนกลับไปยังโรงงานเช่นกันว่า สั่งซื้อที่ไหนอย่างไร จำนวนเท่าใด และที่สรุปว่าผลิตได้ประมาณวันละล้านกว่าชิ้นนั้นหายไปไหน จะหาให้เจอว่ากักตุนหรือเปล่า ลักลอบขายต่างประเทศหรือไม่ เพราะตอนนี้ต่างประเทศให้ราคาสูง แต่ภายในประเทศจะควบคุมให้อยู่ในราคา 2.50 บาทต่อชิ้น

“แต่ก็มีปัญหาเรื่องวัสดุต้นทุนการผลิตต้องซื้อมาจากจีน ไต้หวัน อินโดนีเซีย และประเทศต้นทางก็ลดการส่งวัสดุต้นทุนลงไปครึ่งต่อครึ่ง ไม่สามารถเพิ่มการผลิตได้ หากหาแหล่งวัสดุต้นทุนใหม่ได้ ก็จะตั้งโรงงงานใหม่ได้ เวลานี้ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไปดูเรื่องการขยายโรงงงาน และจะหาวัสดุต้นทุนที่ไหนอย่างไร ทำเองได้หรือไม่” พล.อ.ประยุทธ กล่าว

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า ได้มีการประชุม คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน โดยเริ่มการประชุมตั้งแต่เวลา 11.00 น. เพื่อพิจารณากำหนดมาตรการควบคุมหน้ากากอนามัยเพิ่มเติม การจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัยของกรมการค้าภายใน และการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย โดยหลังจากการประชุมผ่านไปกว่า 8 ชม. หรือ จนถึงเวลา ประมาณ 19.00 น. การประชุมก็ยังไม่เสร็จสิ้น ซึ่งช่วงหนึ่ง นายจุรินทร์ ได้เดินออกมาแจ้งผู้สื่อข่าวที่รอทำข่าวหน้าห้องประชุมว่า ยังไม่รู้การประชุมเสร็จเมื่อไร จึงขอเลื่อนการแถลงข่าวผลการประชุมครั้งนี้ไป เป็นวันที่ 5 มี.ค.63 เวลา 11.00 น. แทน

ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการพิจารณามาตรการเพิ่มเติมที่จะนำมาใช้ควบคุมหน้ากากอนามัย โดยมาตรการที่จะนำมาใช้แน่นอน คือ การออกประกาศกำหนดให้ผู้ใดผู้หนึ่งที่มีหน้ากากอนามัยในครอบครองเกินกว่าปริมาณที่กำหนด จะต้องแจ้งปริมาณการครอบครองต่อกรมการค้าภายใน เพื่อป้องกันการกักตุน หากไม่แจ้ง จะมีความผิดตาม มาตรา 30 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่มีการหารือกันอย่างกว้างขวางว่า ปริมาณเท่าไร จึงจะเหมาะสมสำหรับคนแต่ละกลุ่มที่มีหน้ากากอนามัยในครอบครอง เช่น สถานพยาบาล ร้านขายยา นิติบุคคล ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขายยา (ผู้ค้าทั่วไป) บุคคลธรรมดาที่เป็นพ่อค้าทั่วไป เป็นต้น

ส่วนมาตรการควบคุมที่จะนำมาใช้เพิ่มเติม ได้มีการหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะนำมาตรการคุมราคาจำหน่ายสูงสุดมาใช้ ซึ่งเรื่องนี้ได้หารือกันนานมาก เพราะหน้ากากอนามัยที่มีใช้ในไทย มีหลายชนิดมาก ทั้งหน้ากากอนามัยที่ใช้ป้องกันโรค หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ หน้ากากอนามัยชนิดพิเศษที่ใช้ป้องกันสารเคมี วัตถุอันตราย หน้ากากอนามัยสำหรับใช้โรงงานอุตสาหกรรม โดยมีมากถึงประมาณ 70 เกรด และราคาขายแตกต่างกันไป จึงยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าแต่ละชนิดจะคุมราคาขายสูงสุดที่เท่าไร หรือจะนำมาคุมราคาขายสูงสุดทั้ง 70 เกรดหรือไม่

สำหรับการจัดสรรหน้ากากอนามัยของศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเป็นผู้บริหารจัดการ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมเพิ่มขึ้น เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการหน้ากากอนามัยที่ผู้ผลิตทั้ง 11 รายจัดส่งเข้ามายังศูนย์ฯ เดือนละประมาณ 38 ล้านชิ้น โดยจะเน้นการจัดสรรให้กับผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ก่อน เช่น โรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร (กทม.) มหาวิทยาลัย องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลเอกชน เป็นต้น และจะกระจายสู่ประชาชนผ่านร้านสะดวกซื้อต่างๆ และร้านธงฟ้าทั่วประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น