“สมคิด” เตรียมหารือร่วม “สุริยะ” ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อหามาตรการรับมือโควิด-19 โดยเฉพาะเร่งการผลิตหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ด้าน “สนธิรัตน์” นัด 23 หน่วยงานในสังกัดระดมสมองหามาตรการดูแลผลกระทบ
รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่า วันที่ 5 มี.ค. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะหารือร่วมกับ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานพันธมิตรเพื่อเร่งหาแนวทางการแก้ไขปัญหาหน้ากากอนามัย และเจลล้างมือที่หลายพื้นที่ยังคงขาดแคลนและมีราคาแพงเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งสรุปข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดเพื่อประกอบการหารือแล้ว โดยเบื้องต้นพบว่าหน้ากากอนามัยได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เร่งโรงงานที่ผลิตอยู่ 10 แห่งเพิ่มกำลังการผลิตและกระจายสินค้าให้ทั่วถึง ซึ่งขณะนี้มีกำลังผลิต 500 ล้านชิ้นต่อปี อย่างไรก็ตาม การกระจายสินค้าส่วนหนึ่งต้องให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลด้วย
สำหรับหน่วยงานที่จะร่วมหารือ เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ผู้ประกอบการผลิตหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า เจลล้างมือ น้ำยาฆ่าเชื้อ แอลกอฮอล์ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า วันที่ 5 มี.ค.นี้ตนได้นัดหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน ทั้งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เอกชนด้านพลังงานทั้งหมด ทั้งธุรกิจไฟฟ้า ปิโตรเลียม โรงกลั่นน้ำมัน ปิโตรเคมี โรงงานด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อระดมสมองในการเตรียมพร้อมรับผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจตั้งแต่ฐานรากจนถึงระดับบนเพื่อหามาตรการร่วมกันในการคลี่คลายปัญหาดังกล่าว
“กลุ่มนี้ถือว่ามีศักยภาพสูงในระบบเศรษฐกิจ เมื่อทั่วโลกและไทยได้รับผลกระทบ ภาครัฐก็ต้องการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนว่าจะร่วมมือกันได้อย่างไรเพื่อคลี่คลายผลกระทบจากโควิด-19 และกลุ่มนี้จะครอบคลุมตั้งแต่เศรษฐกิจฐานรากไปจนถึงเศรษฐกิจมหภาค และกลุ่มปิโตรเคมียังเป็นกลุ่มผู้ผลิตวัตถุดิบต้นทางของสินค้าที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด เช่น เจลล้างมือ หน้ากากอนามัย” นายสนธิรัตน์กล่าว
สำหรับหน่วยงานที่จะเข้าหารือร่วมประมาณ 23 บริษัท เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง, สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน, ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท., บมจ.ไทยออยล์, บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล, บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม, บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก, บมจ.ราช กรุ๊ป, บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ เป็นต้น