ผู้จัดารสุดสัปดาห์ - เอาเพียงแค่พิษบาทแข็งกับการแข่งขันอันดุเดือดในอุตสาหกรรมการบินเมื่อปีที่ผ่านมาก็ทำเอา 4 สายการบินในตลาดหุ้นขาดทุนถ้วนหน้า โดย THAI จ่าฝูงสาหัสกว่าใคร มาปีนี้เจอศึกรอบด้าน หนักสุดคือ ไวรัสโควิด-19 ที่พ่นพิษพังทั้งระบบ จะเหลือรอดกันไหม ยังต้องลุ้น
ถึงแม้คาดหมายล่วงหน้าได้ว่า ผลประกอบการปี 2562 ของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI คงออกมาไม่สวยเท่าไหร่นักเมื่อวัดจากอดีตที่ผ่านมาจนบัดนี้ที่ยังโงหัวไม่ขึ้น โดยมียอดการขาดทุนสะสมเฉียด 4 หมื่นล้านในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา แต่ความคาดหวังในฝีมือของดีดีบินไทย “หลานชายอากู๋” นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ว่าจะช่วยพลิกฟื้นให้บินไทยดูดีขึ้น พิสูจน์ทราบกันชัดเจนแล้วจากผลประกอบการ ถึงกระนั้นความพยายามดิ้นอีกเฮือกในเวลานี้ก็ยังมีอยู่
เอาการรับศึกไวรัส โควิด-19 เฉพาะหน้านี้ก่อน นายสุเมธ ยืนยันว่า แม้ไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบอย่างมาก แต่การบินไทยจะไม่หยุดบินเป็นอันขาด แม้สายการบินอื่นๆ จะหยุดทำการบินแล้วก็ตาม เว้นเสียแต่ว่าเส้นทางบินนั้นๆ ไม่มีผู้โดยสารเดินทาง การพิจารณาจะหยุดบินหรือไม่จะคำนึงถึงผู้โดยสารเป็นหลัก และมั่นใจว่าปัญหานี้จะคลี่คลายได้ในไตรมาส 3 ของปีนี้
การแพร่ระบาดของไวรัสฯ ส่งผลให้การบินไทย ต้องลดเที่ยวบินลงทั้งหมดประมาณ 10-12% เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคมนี้ จะลดลงอีก 20% โดยเส้นทางบินเอเชียลดลง 30-40% เที่ยวบินในเส้นทางยุโรป 5% การลดเที่ยวบินทำให้รายได้ของบริษัทลดลงไปด้วย
มองข้ามช็อตตลอดทั้งปี 2563 รายได้ของการบินไทยลดลงอย่างมโหฬารแน่เมื่อดูจากการลดเที่ยวบินลง ขณะที่ผลประกอบการปี 2562 ที่ THAI เพิ่งแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 ปรากฏว่าขาดทุน 12,042 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9% จากช่วงเดียวกันปี 2561 ที่ขาดทุน 11,625 ล้านบาท เพราะต้องเผชิญผลกระทบจากปัจจัยลบ ทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน เงินบาทแข็งค่าที่สุดในรอบ 6 ปี การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง ทำให้มีรายได้รวม 184,046 ล้านบาท ตํ่ากว่าปี 2561 ประมาณ 7.7%
สำหรับค่าใช้จ่ายรวม 196,470 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 12,088 ล้านบาท หรือ 5.8% จากราคาน้ำมันที่และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยขาดทุนจากการดำเนินงานจำนวน 12,424 ล้านบาท ขาดทุนสูงกว่าปีก่อน 3,366 ล้านบาท หรือ 37.2%
THAI ประเมินสถานการณ์อุตสาหกรรมการบินในปี 2563 นี้ยังหนักหน่วง ทั้งไวรัสโควิด-19 ที่หลายประเทศประกาศห้ามหรืองดเดินทางไปยังประเทศเสี่ยง ทำให้ต้องลดเที่ยวบินลง ซึ่งถึงขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณคลี่คลาย ซ้ำยังทวีความรุนแรงลุกลามในภูมิภาคยุโรปและอีกหลายประเทศ บวกกับสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ที่ยังมีต่อเนื่อง รวมถึงการถอนตัวจากอียูของอังกฤษ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน รวมถึงราคาน้ำมันโลก อัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนจากปัจจัยลบ และสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรงส่งผลกระทบต่อผลประกอบการโดยรวมของบริษัทฯ
ภายใต้ปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลกระทบ THAI ได้จัดทำแผนฟื้นฟูเร่งด่วนระยะที่ 2 ดำเนินการควบคู่กับแผนกลยุทธ์หลัก 3 แนวทาง คือ เพิ่มรายได้โดยเจาะกลุ่มลูกค้าส่วนบุคคล หารายได้เสริม และเร่งทำตลาดดิจิทัลโดยใช้บิ๊กดาต้าในการวิเคราะห์ตลาด ลดค่าใช้จ่ายและลดค่าตอบแทนผู้บริหารและบอร์ดอย่างสมัครใจ ปรับปรุงโครงสร้างองค์กร รวมทั้งเร่งสรุปแผนจัดหาเครื่องบิน แผนขายเครื่องบินที่ปลดระวาง ส่วนระยะยาววางแผนลดหนี้สินเพื่อลดต้นทุนให้ต่ำลง ฯลฯ
นั่นเป็นแผนเร่งด่วนที่ “หลานอากู๋” วาดฝันว่าจะพาบินไทยเทกออฟ แต่ดูๆ ไปก็ยังลอยๆ และผลประกอบการที่ขาดทุนเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา คงพอบอกได้ว่าแผนนี้จะพาบินไทยเชิดหัวขึ้นได้หรือว่าต้องวิ่งวนบนรันเวย์ไปเรื่อยๆ จนน้ำมันหมด
ส่วน “นกแอร์” ก็ขาดทุนเช่นกัน เพียงแต่ว่าตัวเลขการขาดทุนนั้นลดลงให้เห็นเป็นรูปธรรม โดย นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานปี 2562 บริษัท(ไม่รวมบริษัทย่อย) ขาดทุนอยู่ที่ 1,591.12 ล้านบาท ลดลง 813.72 ล้านบาท หรือคิดเป็น 33.84% จากปี 2561 บริษัท(ไม่รวมบริษัทย่อย) ตัวเลขขาดทุนอยู่ที่ 2,404.84 ล้านบาท
สำหรับปัจจัยที่ทำให้การขาดทุนลดลง เนื่องจากสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดีขึ้นเป็นไปตามแผนการลดค่าใช้จ่ายตามแผนการฟื้นฟูธุรกิจ อีกทั้งยังปรับปรุงการบินให้ตรงต่อเวลาได้เพิ่มขึ้น ทำให้ค่าชดเชยการบินล่าช้าลดลง รวมถึงการเอาเครื่องบินที่ใช้งานมานานออกจากฝูงบินตามแผนฟื้นฟูธุรกิจ ทำให้ขนาดฝูงบินอากาศยานทั้งปี 2562 อยู่ที่ 24 ลำ มีอัตราการใช้เครื่องบินต่อลำเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น 6.41% จากปี 2561 และมีต้นทุนต่อปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร ลดลง 6.03% เมื่อกับปี 2561
“งบผลการดำเนินงานในปี 2562 ออกมาอย่างน่าประทับใจ ....” นายวุฒิภูมิ กล่าว
หันมาดู แอร์เอเชีย ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบทั้งภายในและภายนอกประเทศ ไม่แตกต่างไปจากการบินไทยเท่าใดนักนั้น ส่ออาการหนักหนาสาหัสเพียงใด ทั้งปี 2562 ที่ผ่านมา และปี 2563 ที่กำลังเผชิญหน้ากับหลายปัจจัยลบที่ยังรุมเร้า
นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น AAV และ บจ.ไทยแอร์เอเชีย (TAA) บอกว่า ปี 2563 เริ่มต้นด้วยความท้าทายจากการระบาดอย่างรุนแรงของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจในภาพรวม จำนวนผู้โดยสารลดลง จำต้องปรับลดหรือยกเลิกเที่ยวบินต่างๆ สถานการณ์เช่นนี้จึงต้องดำเนินงานเชิงรุก ลดค่าใช้จ่ายจริงจัง บริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในทุกมิติ เน้นการวางแผนเส้นทางบิน ซึ่งปีที่ผ่านมามีการยกเลิกและลดความถี่เที่ยวบินในเส้นทางที่ไม่ทำกำไร รวมทั้งกระตุ้นตลาดที่มีโอกาสเติบโต เช่น ตลาดอินโดจีน เส้นทางบินในประเทศที่ยังไม่มีคู่แข่ง
สำหรับผลการดำเนินงานปี 2562 นั้น AAV ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่ถือหุ้นใน TAA มีรายได้รวม 41,553 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 และมีขาดทุนสุทธิ 474 ล้านบาท ในขณะที่ TAA มีรายได้รวม 41,551 ล้านบาท และมีขาดทุนสุทธิ 871 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม TAA มีจำนวนการขนส่งผู้โดยสารรวม 22.15 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยตลอดทั้งปีได้เปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศมากขึ้น ส่งผลให้ระยะทางการบินโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 และปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 8
สำหรับปี 2563 นั้น แอร์เอเชีย ปรับลดเป้าหมายจำนวนผู้โดยสารมาอยู่ที่ 20.5 ล้านคน หลังจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาฯ คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง 10% อยู่ที่ 36 ล้านคน และคาดรายได้รวมจากการท่องเที่ยวลดลง 3% จากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 2.91 ล้านล้านบาท
ด้าน บางกอกแอร์เวย์ส (BA) ถึงแม้ว่าจะประกาศผลการดำเนินงานปี 2562 มีรายได้รวมอยู่ที่ 28,609.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 356.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.3 แต่เมื่อเจาะลงไปดูรายได้จากการดำเนินธุรกิจสายการบิน ก็พบว่าปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในปี 2562 บริษัทฯ มีรายได้รวม 28,609.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 และมีกำไรสุทธิเท่ากับ 356.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.3 เมื่อเทียบกับปี 2561
ทั้งนี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากกำไรการขายเงินลงทุนระยะยาวในหุ้นกรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ระหว่างปี จำนวน 1,990.8 ล้านบาท และเงินปันผลรับที่ได้รับจากการลงทุน รวมถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบิน ซึ่งเติบโตในอัตราร้อยละ 6.6
สำหรับรายได้จากการดำเนินงานของธุรกิจสายการบิน ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.9 จากการแข่งขันในตลาดที่มีความรุนแรง ส่งผลให้ราคาบัตรโดยสารเฉลี่ยลดลงร้อยละ 5.8 โดยในปี 2562 บริษัทฯ มีอัตราขนส่งผู้โดยสาร อยู่ที่ 68.1% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ขนส่งทั้งสิ้น 5.86 ล้านคน ลดลงร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
โดยสรุป ปี 2562 ที่ผ่านมา ผลประกอบการสายการบินในตลาดหุ้นลดลงถ้วนหน้า สำหรับปี 2563 ดูท่าจะสาหัสกว่า เพราะล่าสุดการระบาดจากไวรัสโควิด-19 นอกจากจะมีการเข้มงวดในการเดินทางเข้า-ออก หรือห้ามเข้าตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของบางประเทศแล้ว มาตรการที่ออกมาล่าสุดที่ภาครัฐเจรจากับเอกชนเจ้าของสายการบินขอให้ผู้โดยสารสามารถยกเลิกเที่ยวบินโดยได้รับค่าโดยสารคืนเต็มจำนวน หรือเลื่อนการเดินทางออกไปถึงสิ้นปี 2563 จะสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อธุรกิจสายการบินอย่างหนักหน่วงแน่นอน
ตามมาตรการดังกล่าวนี้ พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยหลังการหารือกับตัวแทนสายการบิน 13 สายการบิน ได้ข้อสรุป ว่า สายการบินพร้อมคืนเงินให้กับลูกค้าตามหลักเกณฑ์ของกรมการท่องเที่ยว แยกเป็น กรณีจองและเดินทางภายในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 จะคืนเงินให้เต็มจำนวน
ส่วนกลุ่มที่จองและเดินทางหลังวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 จะให้เลื่อนการเดินทางออกไปเป็นไม่เกินวันที่ 15 ธันวาคม 2563 ประกอบด้วย การบินไทย ไทยสไมล์ ไชน่าเซาท์เทิร์น บางกอกแอร์เวย์ส
ขณะที่กลุ่มสายการบิน นกแอร์ ไทยแอร์-เอเชีย ไทยไลออนแอร์ เวียดเจ็ต ยืนยันว่าหากลูกค้าจองและเดินทางภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 และมีจุดหมายปลายทางไปกลุ่มประเทศเสี่ยงตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศ จะคืนเงินให้เต็มจำนวน หากจองและเดินทางหลังจากวันที่ 31 มีนาคม 2563 สามารถเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาเดินทางได้ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2563 ถือเป็นการผ่อนปรนที่เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ให้เลื่อนตั๋วได้เพียงแค่ถึงเดือนพฤษภาคม 2563
ทั้งคืนเงินเต็มจำนวนทั้งให้เลื่อนเวลายาวถึงสิ้นปี ขณะที่ลูกค้าใหม่ยังขยาดไม่กล้าเดินทางเพราะการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่เห็นสัญญาณดีขึ้น โดยเฉพาะสายการบินที่ทำการบินระหว่างประเทศในเส้นทางที่ได้รับผลกระทบจำนวน 11 ประเทศในทวีปเอเชีย ได้แก่ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สิงคโปร์, อิหร่าน ทวีปยุโรป ได้แก่ ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี และเขตปกครองพิเศษ ได้แก่ ฮ่องกง, มาเก๊า, ไต้หวัน
จากข้อมูลที่เปิดเผยโดย “นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พบว่า ช่วงวันที่ 1-20 ก.พ. 2563 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศลดลง 35.2% ในประเทศลดลง 18.4% คิดเป็นจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงไป 2,548,729 คน โดยมีเที่ยวบินที่ถูกยกเลิกรวม 7,879 เที่ยวบิน แบ่งเป็น ระหว่างประเทศ 6,960 เที่ยวบิน, ในประเทศ 919 เที่ยวบิน ทำให้ต้นทุนต่อหนึ่งที่นั่งเพิ่มขึ้น 30-40%
ทั้งนี้ สายการบินประเมินว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะมีผลกระทบต่อเนื่องประมาณ 1 ปีครึ่ง จึงจะกลับสู่ภาวะปกติ
นอกจากนั้น บรรดาผู้ประกอบการสายการบินของไทย 7 แห่งได้ยื่นข้อเสนอขอให้ภาครัฐช่วยปรับลดค่าธรรมเนียมในการขึ้นลงของอากาศยาน (Landing fee) และค่าธรรมเนียมที่เก็บอากาศยาน (Parking fee) การใช้อุปกรณ์ต่างๆ เช่น สะพานเทียบ (Aerobridge) และค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน รวมทั้งค่าธรรมเนียมการเดินทางเข้าและออกนอกประเทศ (International Arrival and Departure Fees) เพื่อช่วยกระตุ้นการเดินทางอีกด้วย
เพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า ปี 2563นับเป็นปีที่สาหัสสำหรับธุรกิจสายการบินและการท่องเที่ยวทั้งระบบที่รอลุ้นกันว่าสิ้นปีนี้จะมีเหลือรอดกันอยู่กี่มากน้อย