“คมนาคม” ถกมาตรการช่วยเหลือผลกระทบ “โควิด-19” ลดค่า Landing-Parking fee ลง 50% ตั้งแต่ 1 เม.ย.-31 ธ.ค. 63 ให้สายการบินภายในประเทศ และเส้นทาง 11 ประเทศที่ได้รับผลกระทบ “ทอท.-ทย." ยอมขาดรายได้ “ศักดิ์สยาม” รับลูก เร่งชง ครม.ศก.เห็นชอบ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการสายการบินของไทย 7 แห่งได้ยื่นข้อเสนอขอให้ภาครัฐพิจารณายกเว้นและลดหย่อนค่าธรรมเนียมในการดำเนินงานเนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งได้มอบหมายให้ นายพีระพล สุภถาวรเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ร่วมหารือกับ 4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT กรมท่าอากาศยาน (ทย.) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) และ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และสายการบินได้ให้ข้อสรุปเพื่อรายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจรับทราบในวันที่ 6 มี.ค. ว่าแต่ละมาตรการต้องใช้วงเงินเท่าไร และมีส่วนที่ต้องรับการอุดหนุนจากรัฐบาลจำนวนเท่าไร
เบื้องต้นสายการบินขอให้ช่วยปรับลดค่าธรรมเนียมในการขึ้นลงของอากาศยาน (Landing fee) และค่าธรรมเนียมที่เก็บอากาศยาน (Parking fee) การใช้อุปกรณ์ต่างๆ เช่น สะพานเทียบ (Aerobridge) และค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน เป็นเวลา 2 ปี โดยปีแรก ขอลด 100% ส่วนปีที่ 2 ลด 50% ทั้งนี้ สายการบินประเมินว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะมีผลกระทบต่อเนื่องประมาณ 1 ปีครึ่ง จึงจะกลับสู่ภาวะปกติ
“นายกรัฐมนตรีต้องการให้ดูแลทุกคน ให้สามารถผ่านสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ไปด้วยกัน หากเรื่องที่หน่วยงานสามารถช่วยเหลือได้ก็ให้ดำเนินการ โดยให้พิจารณาตัวเลขที่เหมาะสม โดยมาตรการที่หน่วยงานสามารถช่วยเหลือไม่กระทบต่อการดำเนินงานก็ให้ทำเอง ส่วนที่ช่วยเหลือแล้วกระทบต่อการบริหาร หรือต้องขอรับการสนับสนุนจากรัฐก็เสนอรัฐบาล เพราะ ทอท.อาจจะมีสภาพคล่องมากกว่า ทย. โดยมาตรการช่วยเหลือนั้นจะเป็นช่วงที่มีผลกระทบ หากสถานการณ์คลี่คลายก็ยกเลิกมาตรการ”
จากข้อมูลพบว่า ช่วงวันที่ 1-20 ก.พ. 2563 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศลดลง 35.2% ในประเทศลดลง 18.4% คิดเป็นจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงไป 2,548,729 คน โดยมีเที่ยวบินที่ถูกยกเลิกรวม 7,879 เที่ยวบิน แบ่งเป็น ระหว่างประเทศ 6,960 เที่ยวบิน, ในประเทศ 919 เที่ยวบิน ทำให้ต้นทุนต่อหนึ่งที่นั่งเพิ่มขึ้น 30-40%
หลังจาก ครม.ศก.เห็นชอบแล้ว ในส่วนของ ทย.จะต้องนำเสนอ ครม.อนุมัติ ส่วน ทอท.และ บวท.จะต้องเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
สำหรับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และไทยสมายล์นั้น จะเข้าพบเพื่อหารือถึงมาตรการช่วยเหลือจากผลกระทบโรคไวรัสโควิด-19 ในวันที่ 5 มี.ค. เวลาประมาณ 10.30 น.
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า ผลการประชุมร่วม 4 หน่วยงานและสายการบินได้ข้อสรุปมาตรการที่จะเสนอ ครม.ศก. โดย ทอท.และ ทย.จะลด ค่า Landing fee และค่า Parking fee ลง 50% ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-31 ธ.ค. 2563 ให้สายการบินที่ทำการบินภายในประเทศ และสายการบินที่ทำการบินระหว่างประเทศในเส้นทางที่ได้รับผลกระทบจากโรคไวรัสโควิด-19 จำนวน 11 ประเทศในทวีปเอเชีย ได้แก่ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สิงคโปร์, อิหร่าน ทวีปยุโรป ได้แก่ ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี และเขตปกครองพิเศษ ได้แก่ ฮ่องกง, มาเก๊า, ไต้หวัน
บวท.จะลดค่าบริการจราจรทางอากาศเที่ยวบินภายในประเทศ 50% เที่ยวบินระหว่างประเทศ 20% (ใน 11 ประเทศที่ได้รับผลกระทบ) โดยได้รับส่วนลดทั้งสายการบินของไทย และสายการบินต่างประเทศ เนื่องจากไม่สามารถเลือกปฏิบัติได้ตามกฎขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)
ส่วน กพท.ให้ส่วนลดค่าธรรมเนียมการเดินทางเข้าและออกนอกประเทศ (International Arrival and Departure Fees) ลง 5 บาทต่อผู้โดยสาร หรือจากเดิม 15 บาท เหลือ 10 บาท/ผู้โดยสาร 1 คน สำหรับเส้นทาง 11 ประเทศที่ได้รับผลกระทบ และสนามบินต่างๆ จะพิจารณาลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่มีผลต่อต้นทุนของสายการบินสัญชาติไทย ซึ่งจะรวมไปถึงค่าเช่าพื้นที่ภายในสนามบินด้วย ซึ่งจะเป็นอัตราเท่าไรขึ้นกับแต่ละสนามบิน
นอกจากนี้ จะเสนอขยายลดภาษีสรรพสามิตที่จะสิ้นสุด 30 ก.ย. ไปสิ้นสุด 31 ธ.ค. 2563 ในอัตราลดจาก 4.6726 บาท/ลิตร เหลือ 0.2 บาท/ ลิตร
ทั้งนี้ ในส่วนของการบินไทยและไทยสมายล์นั้นแม้จะไม่ได้อยู่ใน 7 สายการบินที่ร่วมประชุม แต่จะได้รับมาตรการช่วยเหลือเช่นเดียวกัน
สำหรับสายการบินที่เข้าร่วมประชุม 7 สาย ได้แก่ แอร์เอเชีย, แอร์เอเชียเอ็กซ์, บางกอกแอร์เวย์ส, นกแอร์, นกสกู๊ต, ไทยไลอ้อนแอร์, ไทยเวียตเจ็ต