xs
xsm
sm
md
lg

“บินไทย” ปี 62 ขาดทุนบักโกรก 1.2 หมื่นล้าน เหตุรายได้หด-ขาดทุนด้อยค่าเครื่องบิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"THAI" ปี 62 ขาดทุน 1.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.58% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 1.16 หมื่นล้านบาท เหตุรายได้ลด 7.7%-มีรายการพิเศษเกิดขึ้นครั้งเดียว ขาดทุนด้อยค่าเครื่องบิน-ผลประโยชน์พนักงาน พร้อมติดตามการแพร่ระบาดโควิด-19 ใกล้ชิด

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI แจ้งผลการดำเนินงานปี 2562 ว่า บริษัทมีผลขาดทุน 12,042.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.58% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 11,625.16 ล้านบาท เนื่องจากรายได้รวมลดลง 7.7% อยู่ที่ 184,046 ล้านบาท จากปีก่อน สาเหตุสำคัญมีปัจจัยลบที่ส่งผลต่อการเดินทางของผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า และการแข่งขันที่รุนแรงทำให้รายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลงรวม 15,767 ล้านบาท หรือลดลง 8.6%

สำหรับค่าใช้จ่ายรวม 196,470 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 12,088 ล้านบาท หรือ 5.8% เนื่องจากค่าน้ำมันลดลง 5,421 ล้านบาท หรือ 9.0% เพราะราคาน้ำมันลดลง 8.2% ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมน้ำมันลดลงจากปีก่อน 6,580 ล้านบาท หรือ 4.6% สาเหตุหลักเกิดจากการปรับปรุงรายการค่าใช้จ่ายเงินทดแทนวันหยุดประจำปี (วันหยุดพักผ่อนประจำปี ที่ใช้ไม่หมดภายใน 3 ปี ตามที่ระเบียบบริษัทกำหนด) ที่รับรู้รายการเป็นค่าใช้จ่ายในงบการเงินสำหรับปี 2558-2561 รวมประมาณ 1,261 ล้านบาท

การเปลี่ยนประมาณการมูลค่าคงเหลือของเครื่องบินและเครื่องยนต์จากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 6 โดยบันทึกผลกระทบของเครื่องบินที่คิดค่าเสื่อมราคาครบ 20 ปีแล้ว รวมไว้ในปี 2561 จำนวน 1,279 ล้านบาท ประกอบกับค่าใช้จ่ายดำเนินงานอื่นๆ ลดลงตามปริมาณการผลิตที่ลดลง ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยขาดทุนจากการดำเนินงานจำนวน 12,424 ล้านบาท ขาดทุนสูงกว่าปีก่อน 3,366 ล้านบาท หรือ 37.2%

นอกจากนี้ บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียว ได้แก่ ประมาณการเงินตอบแทนความชอบในการทำงาน จำนวน 2,689 ล้านบาท โดยบริษัทฯ รับรู้ค่าชดเชยเพิ่มเติมตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 4) ที่กำหนดอัตราค่าชดเชยเพิ่มเติมกรณีนายจ้างเลิกจ้างสำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไปให้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายจำนวน 400 วัน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2562 เป็นต้นไป

บริษัทมีกำไรจากการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนเงินลงทุนในบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK จำนวน 273 ล้านบาท จากการลดสัดส่วนการถือครองหุ้นของบริษัทฯ ในสายการบินนกแอร์ลดลงจากเดิมร้อยละ 21.80 เป็นร้อยละ15.94 ในไตรมาส 1 ของปี 2562 รวมถึงมีผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบินจำนวน 634 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทมีผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 4,439 ล้านบาท ประกอบด้วย กำไรจากการตีมูลค่าสินทรัพย์และหนี้สิน (Unrealized FX Gain) 2,243 ล้านบาท และกำไรที่เกิดขึ้นแล้ว (Realized FX Gain) 2,196 ล้านบาท ส่งผลให้ปี 2562 บริษัทฯ และบริษัทย่อยขาดทุนสุทธิ 12,017 ล้านบาท ขาดทุนสูงกว่าปีก่อน 448 ล้านบาท หรือ 3.9% โดยเป็นขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 12,042 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.6%

สำหรับอุตสาหกรรมการบินในปี 2563 ยังต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งจากสถานการณ์ไวรัส COVID-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ ทำให้ประเทศไทยและรัฐบาลของประเทศต่างๆ ได้ประกาศห้ามหรือเตือนประชาชนของตนให้งดการเดินทางไปยังประเทศที่มีการแพร่ระบาด ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่ออุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว เป็นเหตุให้บริษัทต้องปรับลดเที่ยวบินและลดปริมาณการผลิตให้สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารที่ลดลง

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการตามมาตรการในการบริหารจัดการผลกระทบอย่างเข้มข้น โดยจัดตั้งคณะทำงานเรื่องการแก้ไขปัญหาเพื่อติดตามสั่งการและเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ยังไม่มีสัญญาณที่คลี่คลายและยังคงทวีความรุนแรง และลุกลามในภูมิภาคยุโรปในอีกหลายประเทศในขณะนี้ นอกจากนี้ ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ยังดำเนินต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าการเจรจาจะบรรลุข้อตกลงในเบื้องต้นแล้ว แต่คาดว่ายังคงนำไปสู่การเจรจาในขั้นต่อๆ ไป ประกอบกับประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมืองภายหลังการถอนตัวของสหราชอาณาจักรจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรือเบร็กซิต ปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่าน รวมทั้งสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกและอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังคงมีความผันผวนจากปัจจัยลบต่างๆ และสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรงส่งผลกระทบต่อผลประกอบการโดยรวมของบริษัทฯ

บริษัทฯ จึงได้ทบทวนสภาพแวดล้อมภายนอกของอุตสาหกรรมการบิน สภาวะตลาดและการแข่งขันสภาพแวดล้อมภายใน โดยได้จัดทำแผนฟื้นฟูระยะเร่งด่วนระยะที่ 2 โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการดำเนินการตามแผนดำเนินการตามกลยุทธ์หลัก ประกอบด้วย 3 แนวทางการดำเนินงาน ได้แก่ การเพิ่มรายได้ โดยดำเนินกลยุทธ์เจาะกลุ่มลูกค้าแบบ Personalized มุ่งเน้นการสร้างรายได้เสริม (Ancillary Revenue) รวมทั้งเร่งดำเนินงานด้าน Digital Marketing โดยใช้ Big Data และ Data Analytic ในการวิเคราะห์ตลาดเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มการขายทาง Online ให้มากขึ้น การควบคุมและลดค่าใช้จ่ายโดยมีมาตรการตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ลดค่าตอบแทนของผู้บริหารและคณะกรรมการอย่างสมัครใจ เป็นต้น

การปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน เช่น การบริหารจัดการฝูงบินให้มีประสิทธิภาพ โดยเร่งสรุปแผนการจัดหาเครื่องบินให้มีความเหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ รวมทั้งควบคุมติดตามแผนการจำหน่ายเครื่องบินที่ปลดระวาง และทรัพย์สินให้ได้ตามแผนการขายเครื่องบิน และวางแผนระยะยาวในการลดหนี้สินเพื่อลดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้ต่ำลงเพื่อลดความเสี่ยงของสถานะทางการเงินและหนี้สินของบริษัทฯ รวมทั้งปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับการประกอบธุรกิจ และบรรจุบุคลากรในตำแหน่งสำคัญให้ครบถ้วนเพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินการทั้งหมดมีการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด


กำลังโหลดความคิดเห็น