xs
xsm
sm
md
lg

บินไทยอ่วม วิกฤต “โควิด-19” ฉุด ผดส.หาย 30% คาด มี.ค.ลดเที่ยวบินเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การบินไทยเผยไวรัสโควิด-19 ระบาด ทำผู้โดยสารหาย 30% ยอดจองล่วงหน้าหด คาดหลัง มี.ค.อาจต้องลดเที่ยวบินลง 20% “สุเมธ” เน้นลดค่าใช้จ่ายประคองธุรกิจ หวังไตรมาส 3 คลี่คลาย

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลกระทบจาก โรคระบาดไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2562 ที่ผ่านมาว่า บริษัทฯ ได้ออกมาตรการ 5 ระดับเพื่อรองรับสถานการณ์ ครอบคลุมการปฏิบัติ รายได้ ค่าใช้จ่าย มีตัวชี้วัด และปรับลดมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยที่ผ่านมาได้มีการปรับลดเที่ยวบินไปแล้วกว่า 10% เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสาร และประเมินจากยอดจองตั๋วที่เข้ามา คาดว่าช่วง มี.ค.-พ.ค. จะมีการปรับลดเที่ยวบินประมาณ 20% โดยภาพรวมผู้โดยสารในเอเชีย ลดลง 30-40% ส่วนยุโรป ลดลงประมาณ 5%

และขณะนี้การระบาดได้มีการขยายไปที่ยุโรป และตะวันออกกลางมากขึ้น จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งการปรับลดเที่ยวบินทำให้รายได้ลดลงแต่จะมีการปรับลดค่าใช้จ่ายลงไปด้วยซึ่งจะช่วยพยุงสถานการณ์และต่อสู้กับภาวะวิกฤตไปได้

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด-19 มีสัญญาณดี เช่น การเปิดเมืองอู่ฮั่น และจีน มีการผลิตวัคซีนรักษา ออกมา และหากมีวัคซีนป้องกันจะคลี่คลาย คาดว่าน่าจะดีขึ้นในไตรมาส 3 โดยเชื่อว่าในประเทศไทยยังควบคุมได้ดี แต่ต้องดูมาตรการของทุกประเทศด้วยที่จะสร้างความมั่นใจให้คนกลับมาเดินทาง ซึ่งการบินไทยจะเดินหน้ามาตรการต่างๆ ทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพ มาตรการด้านการตลาด พัฒนาฝูงบิน เส้นทางบินต่อไป ประคองธุรกิจ และรับได้เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย และเพื่อให้อยู่ได้และอยู่รอด

โดยบริษัทฯ ได้วางแผนและกำหนดมาตรการต่างๆ รองรับวิกฤตินี้ และบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยมุ่งเน้นการควบคุมและลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการและความปลอดภัย อาทิ ชะลอการลงทุน ชะลอการว่าจ้างบุคลากร ลดค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อจัดจ้าง ลดวัสดุอุปกรณ์สิ้นเปลือง ฯลฯ รวมทั้งปรับลดเงินเดือนระดับผู้อำนวยการใหญ่ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ พร้อมกันนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ ร่วมสมัครใจลดผลตอบแทนลงร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563เป็นต้นไป

ขณะที่โครงการที่ยังคงมีความคืบหน้า ได้แก่ โครงการ MRO ศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา ซึ่งแอร์บัส ยังยืนยันในการร่วมทุนภายในวันที่ 6 มีนาคม 2563 และจะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบเอกสารและประเมินข้อเสนอของคณะกรรมการคัดเลือกต่อไป

การดำเนินการขายเครื่องบินที่ปลดระวางแล้วอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 มีการโอนกรรมสิทธิ์เครื่องบินให้แก่ผู้ซื้อรวม 6 ลำ ได้แก่ เครื่องบินแบบแอร์บัส A330-300 จำนวน 5 ลำ และเครื่องบินแบบโบอิ้ง B747-400 จำนวน 1 ลำ

สำหรับแผนการจัดหาเครื่องบินว่า การปรับปรุงแผนจะเสร็จในเดือน มี.ค.โดยได้นำเสนอบอร์ดแนวทางการจัดหาและทดแทน ประเภทและขนาดของเครื่องบิน โดยจะสรุปแผนและเสนอกระทรวงคมนาคม และครม.ได้เร็วๆ นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น