xs
xsm
sm
md
lg

อิรัก...ยักตื้นก็ติดกึก-ยักลึกก็ติดกัก

เผยแพร่:   โดย: ทับทิม พญาไท


นายโมฮัมเหม็ด ทอว์ฟิค อัลลาวี นายกรัฐมนตรีอิรักคนใหม่
เปิดฉากสัปดาห์นี้...คงต้องขออนุญาตเผ่นไปแถวตะวันออกกลางโน่นเลย ซึ่งคงไม่ใช่เพราะอยากห่างๆ ไปจากเรื่อง “ไวรัสอู่ฮั่น” ที่ลากยาวมาไม่รู้กี่สัปดาห์ต่อกี่สัปดาห์เข้าไปแล้ว ก็ยังไม่หมดเรื่อง หมดราว ไปซักกะที แต่เพราะเมื่อช่วงวันเสาร์ที่ 1 กุมภาฯ ที่ผ่านมา มีข่าวคืบหน้าที่น่าสนใจ และน่าตามไปดู ในประเทศตะวันออกกลางอย่าง “อิรัก” ที่อาจไม่ถูกหยิบมาพูดถึงกันมากมายสักเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่อาจต้องถือเป็น “จุดเปลี่ยน” ของแนวรบในภูมิภาคตะวันออกกลางทั้งมวล เอาเลยก็ว่าได้...

คือหลังจากยักตื้น-ติดกึก ยักลึก-ติดกัก...มาร่วมๆ 2 เดือน สำหรับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ หรือการสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่เข้ามาแทนนายกรัฐมนตรีคนเดิม “นายอเดล อับดุล มาห์ดี” (Adel Abdul Mahdi) ที่ถูกบรรดาผู้ประท้วงชาวอิรัก รวมทั้งคุณพ่ออเมริกา ทั้งกด ทั้งบีบ ชนิดแทบขี้แตกคามือ จนต้องประกาศลาออกไปเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว (30 พ.ย. 2019) และเมื่อรัฐสภาอิรัก ไม่สามารถรวบรวมเสียงในการเสนอชื่อให้ใครขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีกันแทนที่ จนกำหนดเส้นตายผ่านพ้นไปเรียบร้อยแล้ว ประธานาธิบดีอิรัก “นายบาราห์ม ซาเละห์” (Barham Salih) ท่านเลยตัดสินใจ “ผ่าทางตัน” ด้วยการเสนอให้อดีตรัฐมนตรีคมนาคม 2 สมัย ของรัฐบาลอิรักเมื่อหลายปีที่แล้ว (ยุคปี ค.ศ. 2006 และค.ศ. 2010) ที่ได้ชื่อว่า “ใจซื่อ-มือสะอาด” มิใช่น้อย เคยตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะไม่เห็นด้วยกับการคอร์รัปชัน หรือการแทรกแซงทางการเมืองของรัฐบาลตัวเองชนิดครั้งแล้ว ครั้งเล่า นั่นคือผู้มีนามกรว่า “นายโมฮัมเหม็ด ทอว์ฟิค อัลลาวี” (Mohammed Tawfiq Allawi) ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางสภาวะที่ทุกสิ่งทุกอย่างยังคงเละเป็นขี้ เละเป็นวุ้น อยู่เช่นเดิม...

และแม้องค์กรระหว่างประเทศอย่าง “สหประชาชาติ” จะออกมาแสดงความยินดีต่อการตัดสินใจเช่นนี้...แต่บรรดา “ผู้ประท้วง” ภายในประเทศอิรักเอง ที่ประท้วงข้ามปีชนิดคนตายไปแล้วกว่าครึ่งพัน บาดเจ็บอีก 2-3 พัน แต่ก็ยังคงปักหลักประท้วงอยู่หน้าจัตุรัส “Tahrir” กลางกรุงแบกแดดอยู่ในทุกวันนี้ ก็ได้ออกมาร่วมกันเปล่งเสียงกู่ก้องร้องตะโกน ว่า “เราไม่เอาอัลลาวีๆๆๆ” หรือทำให้แนวโน้มแห่งความเละเป็นขี้ เละเป็นวุ้น ก็น่าจะยังคงเป็นไปเช่นเดิม แม้ว่าอดีตรัฐมนตรีวัย 65 ปีที่ได้รับเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอิรักรายนี้ จะออกมาประกาศเจตนารมณ์ทางทีวี พร้อมที่จะดำเนินการ “ปฏิรูป” ทุกสิ่งทุกอย่างภายในประเทศอิรัก ตามความปรารถนาและต้องการของผู้ประท้วง พร้อมที่จะขจัดกวาดล้างการคอร์รัปชัน พร้อมจัดตั้งคณะรัฐบาลโดยไม่ยึดเอาความเป็นนิกายต่างๆ ไม่ซุนหนี่ ชีอะห์ เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย รวมทั้งพร้อมที่จะสร้างงาน แก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยการผลักดันโครงการเมกะโปรเจกต์ ซึ่งค้างคามาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้วแบบฉับพลัน-ทันที ฯลฯ ฯลฯ...

แต่ก็นั่นแหละ...เหตุที่บรรดา “ผู้ประท้วง” บางกลุ่ม บางเหล่า ไม่คิดจะ “เอาอัลลาวี” แบบชนิดฉับพลัน-ทันทีเช่นเดียวกัน ก็น่าจะมาจากสาเหตุหลักๆ เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น นั่นก็คือ ความไม่แน่ใจว่า สุดท้ายแล้ว...นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอิรักจะยืนอยู่ข้างฝ่ายใดกันแน่??? ระหว่าง “อเมริกา” กับ “อิหร่าน” ที่กำลังไล่งับ ไล่ฟัด กำลังทำ “สงครามตัวแทน” โดยมีประเทศอิรักเป็นสมรภูมิ คือถ้าดูจาก “ประวัติความเป็นมา” แล้ว...แม้ “นายโมฮัมเหม็ด ทอว์ฟิค อัลลาวี” รายนี้ จะเป็นมุสลิมนิกายชีอะห์ แต่ท่านคงไม่ได้คิดจะเอียงข้าง เอียงฝ่าย ไปตามความรู้สึกของความเป็นนิกายใดๆ เอาเลยแม้แต่น้อย เพราะสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ท่านต้อง “ลาออก” จากความเป็นรัฐมนตรีคมนาคมมาถึง 2 ครั้ง 2 ครา ก็ด้วยเหตุเพราะความไม่พอใจต่อการเอียงไป เอียงมาในการหยิบเอาเรื่อง “นิกาย” มาใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมืองนั่นเอง...

จากที่ต้องเคยอพยพ หลบภัย ในยุคที่จอมเผด็จการ “ซัดดัม ฮุสเซน” เรืองอำนาจ จนต้องไปเรียนต่อจบทางด้านวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัยเบรุต ในประเทศเลบานอน ก่อนย้ายไปทำมาหากินอยู่ในประเทศอังกฤษ กระทั่งประสบความสำเร็จในการลงทุนมีชื่อ มีเสียง มีประสบการณ์ ความสามารถ ในด้านก่อสร้างและพัฒนาที่ดิน ทั้งในเลบานอน โมร็อกโก ฯลฯ และถูกดึงตัวมาเป็นรัฐมนตรีคมนาคม ในยุครัฐบาลนายกรัฐมนตรี “อัล มาลิกี” (Al-Maliki) โดยลักษณะอาการของท่านดูจะออกไปในแนวกลางๆ หรือหนักไปทาง “ยึดผลประโยชน์แห่งชาติ” เป็นที่ตั้ง นั่นแหละเป็นสำคัญ...

แต่ก็อย่างว่า...ในเมื่อสภาวะแวดล้อมของประเทศอิรักทุกวันนี้ แทบไม่เหลือ “พื้นที่กลางๆ” ให้กับใครต่อใครอีกต่อไป มีแต่ต้อง “เลือกข้าง” ว่าจะเลือก “อิหร่าน” บวก “จีน” หรือไม่ก็ต้องหันไปเลือก “อเมริกา” เท่านั้นเอง!!! แน่ล่ะว่า...ถ้าหากเลือกอิหร่านหรือเลือกจีน เหมือนอย่างนายกรัฐมนตรีคนเก่า “นายอเดล อับดุล มาห์ดี” ที่ตัดสินใจให้บริษัทก่อสร้างของจีน เข้ามารับงานบูรณะฟื้นฟูประเทศอิรัก แทนบริษัทพลังงานของอเมริกา ที่เรียกผลประโยชน์ตอบแทนสูงชนิดขูดเลือด ขูดเนื้อ หรือเลือกที่จะทำตามมติของรัฐสภาอิรัก ขับไส ไล่ส่ง ฐานทัพทหารต่างชาติที่นำโดยอเมริกาออกจะประเทศอิรัก อันเป็นการตอบสนองความต้องการที่จะแก้แค้น เอาคืน ต่อการลอบสังหารนายพลอิหร่านในดินแดนอิรัก แม้ว่าจะสามารถอ้างถึง “ผลประโยชน์แห่งชาติ” ได้อย่างเต็มปาก เต็มคำ ก็ตาม แต่ยังไงๆ...ก็ย่อมหนีไม่พ้นต้องเจอกับการประท้วง เจอบรรดาเครือข่ายผู้ประท้วงที่ “สถานทูตอเมริกัน” ประจำอิรัก จัดตั้งเอาไว้อย่างหนาแน่น ดังที่หนังสือพิมพ์ “al-Akhbar” ของอิรักได้รายงานเอาไว้โดยละเอียด เจอกับการหวนกลับมาของพวก “ผู้ก่อการร้ายไอเอส” ที่เคยถึงขั้นแยกประเทศ แยกดินแดนอิรักไปได้เป็นบางส่วน หรือแม้แต่เจอกับการอายัดบัญชีรายได้ของประเทศ ที่ฝากไว้กับธนาคารกลางสหรัฐฯ ไปจนถึงเจอกับการ “แซงชั่น” ระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ของคุณพ่ออเมริกา ได้ทุกเมื่อ...

ดังนั้น...การขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ของ “โมฮัมเหม็ด อัลลาวี” นอกจาก “ไม่ง่าย” แล้ว ยังยากส์ส์ส์ที่จะหาความหมายหรือคำจำกัดความว่าอะไรคือ “ผลประโยชน์แห่งชาติ” กันแน่!!! เพราะทุกสิ่งทุกอย่าง...หนีไม่พ้นต้องขึ้นอยู่กับ “ผลประโยชน์” ของชาติอื่นๆ ที่พยายามยื๊อแย่ง แข่งขัน เพื่อเข้ามามีบทบาทอิทธิพลในดินแดนอิรักไปด้วยกันทั้งสิ้น ยิ่งบรรดาชาวอิรักด้วยกันเอง ยังหันไปแบ่งกลุ่ม แบ่งฝ่าย แบ่งนิกาย หรือกระทั่งแบ่งเผ่า แบ่งพันธุ์ จนแทบหาความ “รู้-รัก-สามัคคี” แทบไม่ได้ อนาคตของประเทศอิรัก จึงขึ้นอยู่กับว่าชาติไหน ฝ่ายไหน ที่พยายามเข้ามามีบทบาทอิทธิพลในอิรัก จะ “เหี่ยวปลาย” ไปก่อนนั่นเอง และนี่คืออุทาหรณ์สอนใจ ที่สำคัญเอามากๆ สำหรับบรรดาประเทศเล็ก ประเทศน้อยทั้งหลาย...

แต่ก็นั่นแหละ...หลังจาก “แผนสันติภาพในตะวันออกกลาง” หรือที่เรียกๆ กันว่า “Deal of the Century” ของลูกเขย “ทรัมป์บ้า” ผู้นำอเมริกา ได้ถูก “สันนิบาตแห่งชาติอาหรับ” (Arab League) ประกาศต่อต้านไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาฯ ตามด้วยชาติมุสลิม 50 ประเทศแห่ง “องค์กรมุสลิมโลก” (Organization of Islamic Cooperation-OIC) ออกแถลงการณ์ปฏิเสธ เมื่อวันที่ 3 กุมภาฯ ไปจนถึงรัฐบาลปาเลสไตน์ ประกาศตัดความสัมพันธ์กับอเมริกาและอิสราเอลโดยสิ้นเชิง แนวโน้มที่อเมริกาอาจต้องเป็นฝ่าย “เหี่ยวปลาย” ไปก่อน จึงเริ่มปรากฏให้เห็นรางๆ และนั่นเอง...ที่ทำให้มหาอำนาจสูงสุดรายนี้ คงต้องพยายามออกแรงดิ้นให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อดำรงรักษาอำนาจอิทธิพล ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของภูมิภาคนี้ไว้จนตราบวินาทีสุดท้าย และนั่นย่อมส่งผลให้ อดีตมหาจักรวรรดิโบราณแห่งดินแดน “เมโสโปเตเมีย” อย่างอิรัก ยิ่งมีแต่ “พัง...กับ...พัง” ยิ่งขึ้นไปเท่านั้น!!!


กำลังโหลดความคิดเห็น