xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สงครามไวรัส “อู่ฮั่น” จีนเพลี่ยงพล้ำ “ทรัมป์” ผงาด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สงครามสู้ “ไวรัสอู่ฮั่น” ยังไม่จบ นับศพและคนเจ็บป่วยเพิ่มทุกวัน วัคซีนและยารักษายังไม่มี แต่ที่น่าประหวั่นพรั่นพรึงไม่แพ้กันคือ ถ้าจีนไม่รอด ชาวโลกที่ผูกเศรษฐกิจไว้กับจีนก็ไม่รอดเช่นกัน เดิมพันนี้สูงลิ่ว

คนป่วยไต่ระดับจากหลักพันขึ้นสู่หลักหมื่น ยังดีที่คนเสียชีวิตยืนอยู่หลักร้อยและอัตราการเสียชีวิตเมื่อติดเชื้อแล้วต่ำกว่าซาร์ส และเมอร์ส

มิหนำซ้ำ ยังมีข่าว ไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ระบาดที่ฟาร์มไก่ในเมืองเชาหยาง มณฑลหูหนานที่อยู่ติดกับมณฑลหูเป่ยและมีผู้เสียชีวิตจาก ไวรัส H1N1 หรือไข้หวัดหมู จำนวน 56 รายในไต้หวันในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เข้ามาผสมโรงอีก

ขณะที่ทั่วโลกต่างร่วมมือหาทางป้องกันและหยุดยั้งไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ประเทศไทยได้รับคำชื่นชมจากการรักษาผู้ป่วยวิกฤตให้หายด้วยยาสองกลุ่มสามตัวจากยากลุ่มต้านไวรัสเอดส์และกลุ่มยารักษาไข้หวัดใหญ่ ผลงานนี้เป็นฝีมือหมอไทยชนิดเหนือความคาดหมายของชาวโลก

ความโกลาหลจากการปิดเมือง ปิดเส้นทางการบิน การห้ามพลเมืองเดินทางไปจุดเสี่ยง ยังมีคำเตือนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกเป็นระยะ คงทำให้ทางการจีนรู้ดีและรู้ซึ้งว่าวิกฤตคราวนี้ใครคือมิตรแท้ยามยาก ใครคือนักฉวยโอกาสเหยียบย่ำซ้ำเติม

ยามยากเช่นนี้ ฮุน เซน ยืนยันการเดินทางไปเยือนจีนเพื่อโชว์ความจริงใจและยืนอยู่ข้างจีน ไม่รับคนกัมพูชากลับและเปิดประเทศต้อนรับคนจีนเสมอ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ถึงกับกล่าวว่า “a friend in need is a friend indeed” - เพื่อนยามยากย่อมเป็นเพื่อนแท้

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรพญามังกรแห่งบูรพาทิศย่อมต้องกัดฟันกลืนเลือด ด้านหนึ่งหาทางสกัดการแพร่เชื้อทุกวิถีทางแม้กระทั่งการบินโดรนเตือนประชาชนใส่หน้ากากป้องกันเชื้อโรค พ่นยาฆ่าเชื้อ “ไวรัสอู่ฮั่น” ตามหมู่บ้านและย่านชุมชน อีกด้านหนึ่งทุ่มอัดฉีดเม็ดเงินมโหฬารเพื่อพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ดำดิ่งสู่ก้นเหว

ธนาคารกลางจีน ได้ลดดอกเบี้ย ประมาณ 0.10% และจะอัดฉีดเงิน 1.2 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 173,000 ล้านดอลลาร์ เข้าสู่ตลาดโดยผ่านธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืน สภาพคล่องทั้งหมดนี้จะมากกว่าช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้วถึง 900,000 ล้านหยวน พร้อมด้วยตัดลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรอายุ 7 วัน และ 14 วันลง 0.1%

ขณะที่หุ้นจีนและตราสารโภคภัณฑ์ ปรับตัวลงอย่างแรงหลังเปิดซื้อขายอีกครั้งเป็นวันแรก (3 ก.พ.) หลังหยุดตรุษจีน โดยมูลค่าตลาดหุ้นจีนหายไปมากกว่า 420,000 ล้านดอลลาร์ จากการคำนวณของรอยเตอร์ ดัชนีเซี่ยงไฮ้ คอมโพสิต ปรับตัวลง 8% ต่ำสุดในรอบหนึ่งปี ส่วนเงินหยวนเริ่มการซื้อขายในตลาดออนชอร์ที่ระดับอ่อนสุดของปีนี้ เช่นเดียวกัน เหล็ก น้ำมันและทองแดง ที่ซื้อขายในตลาดเซี่ยงไฮ้ ปรับตัวลงเต็มเพดานการซื้อขายประจำวัน

ภายใต้แรงกดดันที่จีนกำลังดิ้นรนหาทางลดผลกระทบ สื่อตะวันตก ซีเอ็นบีซี รายงานโดยรวบรวมความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและเศรษฐกิจหลายสำนัก ระบุตรงกันว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ สร้างผลกระทบเสียหายรุนแรงมากเกินกว่าการอัดฉีดเงินเข้าระบบของธนาคารกลางจีนจะสามารถแก้ไขได้

นาย ฮูเบิร์ต เดอ บาโรเชซ นักเศรษฐศาสตร์การตลาด จาก Capital Economics มองว่ามาตรการของแบงก์ชาติจีน อย่างการตัดลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่น่าจะช่วยชดเชยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะงักงันของจีนได้

ส่วนนาย Mohamed El-Erian นักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของ Allianz มองว่า ธนาคารกลางของหลายประเทศทั่วโลกไม่เฉพาะแต่จีนเท่านั้น ต้องคิดหาวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจที่มากกว่าการอัดฉีดเงินและตัดลดอัตราดอกเบี้ย

ด้านนายเซี่ยงหรง หยู นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากซิตี้ มองว่าอย่างน้อยก็ช่วยให้ความเสียหายเกิดขึ้นในวงจำกัด

ในสายตานักเศรษฐศาสตร์ตะวันตก มองด้วยความความไม่เชื่อมั่นเชิงเย้ยหยันว่ามาตรการที่ธนาคารจีนออกมาไม่ได้ผล เป็นท่วงทำนองเดียวกันกับที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ปิดประตูใส่หน้าจีนตามแผนปฏิบัติการขั้นเด็ดขาดในการปกป้องพลเมืองสหรัฐฯ ให้พ้นจากภัยคุกคามไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

“เราเห็นว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราก็ปิดประตูซะ” ผู้นำสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ฟอกซ์

“เราคงไม่สามารถปล่อยให้คนเป็นพันๆ ที่มีปัญหาไวรัสโคโรนาเข้ามาได้” ทรัมป์ กล่าว

การทำศึกไวรัสฯ ที่เพลี่ยงพล้ำของจีนคราวนี้ หนุนเสริมความอหังการมมังการของทรัมป์ ที่เพิ่งผ่านพ้นการลงมติถอดถอนจากตำแหน่ง พร้อมคำประกาศกร้าวในงานแถลงนโยบายประจำปีเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ว่า ยุคสมัยของเขาถือเป็น “การกลับมายิ่งใหญ่ของอเมริกา” และ “ในเวลาสั้นๆ เพียงแค่ 3 ปี เราได้ทำลายแนวคิดที่นำความตกต่ำมาสู่อเมริกา และปฏิเสธการลดทอนโชคชะตาของอเมริกา”

สี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน
หลายประเทศทั่วโลกเดินตามรอยสหรัฐฯ จีนถูกโดดเดี่ยวจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยนานาชาติส่งเครื่องบินรับพลเมืองกลับและห้ามชาวจีนเดินทางเข้าประเทศ กระทั่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาเตือนว่าไม่ควรใช้มาตรการที่ไม่จำเป็นในการแทรกแซงการเดินทางระหว่างประเทศและการค้าเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ และเรียกร้องให้ทุกประเทศตัดสินใจโดยอิงจากหลักฐานที่ปรากฏ

สหรัฐฯ ยังตามขย่มจีนต่อเนื่อง ตามคำให้สัมภาษณ์สถานีซีบีเอส ของ นายโรเบิร์ต โอไบรอัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ ทำเนียบขาว ที่ว่า “ถึงตอนนี้จีนโปร่งใสมากกว่าเมื่อครั้งเกิดวิกฤตในอดีต ซึ่งเราชื่นชมมาก” แต่ไม่วายเตือนว่า ถึงตอนนี้จีนก็ยังไม่ยอมรับความช่วยเหลือที่สหรัฐฯเสนอให้ ไม่ว่าจะเป็นจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) หรือเจ้าหน้าที่แพทย์อื่นๆ

“เรามีผู้เชี่ยวชาญมากมายมหาศาล นี่เป็นเรื่องที่ทั่วโลกกังวล เราอยากช่วยจีนถ้าเราทำได้ และได้เสนอไปแล้ว ตอนนี้ก็ได้แต่รอว่าเขาจะรับข้อเสนอหรือไม่” ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ ทำเนียบขาว กล่าวในเชิงเล่นลิ้น

ขณะที่ นายหัว ชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน แถลงเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ว่าสหรัฐฯไม่ได้ให้ความช่วยเหลือสำคัญใดๆ เลย ทำอย่างเดียวคือ “สร้างความตื่นตระหนก”

สตีเฟ่น มอรริสัน รองประธานอาวุโสและผู้อำนวยการศูนย์นโยบายสุขภาพโลก ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และนานาชาติ วอชิงตัน ย้ำให้เห็นชัดเจนว่า ความที่จีนและสหรัฐขัดแย้งแข่งขันกันทั้งในทางอำนาจ การเมืองและเศรษฐกิจ กลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ระหว่างสองประเทศในอันที่จะช่วยเข้าไปแก้ปัญหา

นี่จึงนับเป็นเกมการเมืองระดับโลกของสองมหาอำนาจที่ตามเข่นกันไม่เลิก นับจากสงครามการค้า สงครามเทคโนโลยีจนมาถึงสงครามไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังแพร่ระบาดในเวลานี้

สำนักข่าวซินหัว รายงานเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ว่า “จีนย้ำฉวยประโยชน์จากทุกข์ของผู้อื่นไม่ช่วยให้สหรัฐฯยิ่งใหญ่ขึ้น” โดยระบุว่าขณะที่จีนพยายามอย่างสุดกำลังในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสฯ ฝ่ายสหรัฐฯกลับเผยแพร่ความคิดเห็นและการกระทำที่ไม่เป็นมิตรต่อจีน ซึ่งไม่อยู่บนฐานความจริงและไม่มีส่วนช่วยใดๆ ในช่วงเวลาเฉพาะเช่นนี้

ขณะที่องค์การอนามัยโลก ชื่นชมมาตรการที่มีประสิทธิภาพและทันท่วงทีของจีนในการควบคุมการระบาด และไม่เห็นด้วยกับการจำกัดการเดินทางหรือการทำการค้ากับจีน สหรัฐฯ กลับตัดสินใจเคลื่อนไหวในทางตรงกันข้าม โดยเมื่อวันที่ 31 มกราคม กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยกระดับการเตือนภัยการเดินทางไปยังจีนสู่ระดับสูงสุด ซึ่งเป็นระดับเดียวกับอิรักและอัฟกานิสถาน

นอกจากนั้น รัฐมนตรีพาณิชย์ของสหรัฐฯ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสฯ จะช่วยเร่งให้อัตราการจ้างงานของสหรัฐฯ ดีดตัวขึ้นอีกครั้ง สะท้อนว่าฝ่ายสหรัฐฯ มองปัญหาที่จีนกำลังเผชิญเป็นโอกาสที่จะพัฒนาตัวเอง การเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ย้ำถึงจิตใจที่คับแคบและไร้ความรับผิดชอบ

"จีนมีความเชื่อมั่นและมุ่งมั่นเอาชนะศึกสุดท้ายในการต่อสู้กับไวรัสให้ได้ และหวังว่าสหรัฐฯ จะยับยั้งการตัดสินใจอย่างไร้ความรับผิดชอบ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อโลกและไม่ทำให้สหรัฐฯ ยิ่งใหญ่ขึ้นแต่อย่างใด"

ขณะเดียวกัน บทความของไชน่ามีเดียกรุ๊ป (CMG) เผยแพร่เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ยังชี้ว่า คำกล่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ที่ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในจีน มีส่วนช่วยเร่งให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตถอนตัวกลับไปลงทุนที่สหรัฐฯ ซึ่งได้รับการประณามอย่างกว้างขวางในประชาคมโลก

คำกล่าวดังกล่าวยังไร้ซึ่งมนุษยธรรมและไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเห็นอกเห็นใจ แสดงถึงความคิดที่คำนึงถึงแต่ประโยชน์ส่วนตนของบุคคลการเมืองบางคนของสหรัฐฯ และสะท้อนให้เห็นว่า พวกเขายังคงยืนหยัดแนวคิด “เกมผลรวมเป็นศูนย์ (zero-sum game)” และคิดโดยลำพังฝ่ายเดียวว่า ทุกอย่างที่ไม่เป็นผลดีต่อจีน ล้วนส่งผลดีต่อสหรัฐฯ แสดงถึงการขาดความรู้พื้นฐานด้านเศรษฐกิจ

นางฮว่า ชุนอิ๋ง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวในที่ประชุมแถลงข่าวทางอินเตอร์เน็ตครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ว่า สหรัฐฯ สร้างความตื่นตระหนกมากเกินควร และใช้มาตรการเกินควรในการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งขัดต่อข้อเสนอขององค์การอนามัยโลกอย่างเห็นได้ชัด

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เมื่อโลกเชื่อมกันเป็นหนึ่งเดียว ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาฯ ก็สั่นสะเทือนต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินทั้งโลก เพราะจีนเป็นทั้งฐานการผลิต บริการ ทำรายได้ให้กับบริษัทต่างๆ ทั่วโลก

แคลร์ ลี นักวิเคราะห์ฝ่ายกลยุทธ์เครดิตและฝ่ายวิจัยของมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส กล่าวว่า ตามประมาณการพื้นฐาน คาดว่าการระบาดของไวรัสโคโรนาฯ จะมีผลกระทบชั่วคราวต่อเศรษฐกิจจีน และการเติบโตของจีดีพีจีนจะยังคงสอดคล้องกับที่ได้ประมาณการไว้ 5.8% ในปี 2563

มูดี้ส์ คาดว่า การระบาดน่าจะมีผลกระทบในการทำลายซัพพลายเชนทั่วโลก โดยบริษัททั่วโลกที่ทำธุรกิจในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอาจจะสูญเสียอัตราผลผลิตจากการอพยพคนงาน ส่วนบริษัทที่ทำธุรกิจนอกจีนแต่พึ่งพาผลผลิตต้นน้ำจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจะมีปัญหาเช่นกัน

ขณะเดียวกัน การระบาดจะกระทบภาคท่องเที่ยว การค้า และบริการต่างๆ ในพื้นที่เอเชียและนอกภูมิภาคเอเชียที่รับนักท่องเที่ยวจีน โดยเฉพาะฮ่องกง มาเก๊า ไทย ญี่ปุ่น เวียดนาม และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงไม่กี่ปีมานี้

ทั้งนี้ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแห่งชาติของจีน ระบุว่า การเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศโตประมาณ 12% ต่อปี

ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ยังออกมาเตือนในทำนองเดียวกันว่าการระบาดของไวรัสโคโรนาฯ กำลังคุกคามต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก อย่างน้อยที่สุดในช่วงสั้นจากผลผลิตด้านอุตสาหกรรมที่ลดลง ส่งผลต่อระบบห่วงโซ่อุปทานโลก แม้ผลกระทบระยะยาวยังไม่เห็นชัดเจนก็ตาม

เช่นเดียวกับ แบงก์ ออฟ อเมริกา สถาบันการเงินชั้นนำของสหรัฐ นำเสนอรายงาน Asia : The shadow of coronavirus outbreak looms large คาดว่าการเติบโตของจีดีพีจีนจะลดลงเหลือ 5.0% ในไตรมาส 1/2563 พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยของจีดีพีจีน ปี 2563 จะอยู่ที่ 5.6% ส่วนปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 5.8%

สำหรับประเทศไทย บอกได้คำเดียวว่าหนักสุดๆ อันดับแรกเลยคืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เจอวิกฤตเต็มๆ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประเมินร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดการณ์ว่า น่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 3 แสนล้านบาท ถ้าเหตุการณ์ยุติได้ในเดือนมีนาคม 2563 การฟื้นตัวเข้าสู่สภาพเดิมน่าจะเป็นต้นเดือนกรกฎาคม เสียโอกาสไป 5 เดือน แต่ถ้าลากยาวอาจเสียหายหนักกว่านี้

กล่าวจำเพาะธุรกิจสายการบิน ที่เผชิญกับแรงกดดันจากการแข่งขันตัดราคา ความต้องการเดินทางด้วยเครื่องบินที่เคยเติบโตอย่างรวดเร็วลดต่ำลงตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ซ้ำเติมเข้ากับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาฯ จะยิ่งออกอาการย่ำแย่

โรงพยาบาลในสนามกีฬาในเขตอู่ชาง นครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ได้เริ่มรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาเข้ารักษาตัวแล้ว

เจ้าหน้าที่ชุมชนในนครหนานชาง เมืองเอกของมณฑลเจียงซี ทางตะวันออกของประเทศจีนออกตระเวนซื้อของใช้ในชีวิตประจำวันแก่ครัวเรือน 75 แห่งที่อาศัยอยู่ในอาคารที่ถูกปิดเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินมูลค่าตลาดธุรกิจสายการบินในปี 2563 หดตัวลงเหลืออีก 4.3% - 6.2% เหลือมูลค่าเพียง 2.94-3.00 แสนล้านบาท จากมูลค่า 3.14 แสนล้านบาทในปี 2562 โดยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสฯ จะทำให้ธุรกิจสายการบินสูญเสียมูลค่าตลาดประมาณ 8,000-11,000 ล้านบาท

ส่วนผลกระทบต่อการส่งออก นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คาดการณ์ว่าจะสร้างความเสียหายต่อมูลค่าการส่งออกของไทยไปจีนไตรมาสที่ 1/2563 ลดลง 0.87% มูลค่าความเสียหายที่65.625 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2,000 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) แต่ยังคาดการณ์ส่งออกไทยในปีนี้เติบโต 0-1 % บนสมมติฐานค่าเงินบาท 30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ไว้เช่นเดิม โดยขอประเมินผลกระทบจากตัวเลขส่งออกในเดือนมกราคมปีนี้ก่อนปรับใหม่

ขณะที่นายระพีภัทร จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลกระทบระยะสั้นต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปจีนลดลง 0.81% เนื่องจากจีนปิดเมืองต้องหยุดนำเข้าสินค้าเกษตร สินค้าที่กระทบแรกสุดคือ อาหารสด ทั้งผักผลไม้ ไก่ กุ้ง ปลา ทั้งสดและแช่เย็น ถ้าอีก 3 เดือน สถานการณ์ไม่ดีขึ้นจะกระทบต่อผลไม้ที่จะออกสู่ตลาดตามฤดูกาล เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ ซึ่งไทยส่งออกไปจีนมากกว่า 80%

สศก. ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปจีน มูลค่า 902,273.75 ล้านบาท โดยสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง มูลค่า 64,535.88 ล้านบาท 2. ยางพารา มูลค่า 50,131.29 ล้านบาท 3. ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง มูลค่า 42,300.67 ล้านบาท 4. ข้าว มูลค่า 9,336.49 ล้านบาทและ5. ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง 6,858.65ล้านบาท

เรียกได้ว่ากระอักกันถ้วนหน้า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จึงต้องออกมาตรการรับมือทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจ และลดดอกเบี้ยนโยบายลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

อย่างไรก็ตาม แพกเกจกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังนั้น เป็นเพียงการปัดฝุ่น “เหล้าเก่าในขวดเก่า” โดยมาตรการการเงินการคลังบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ปี 2563 วงเงินสินเชื่อกว่า 125,000 ล้านบาท เป็นโครงการที่ครม.เห็นชอบมาแล้วก่อนหน้า นำมาบวกเพิ่มบางมาตรการใหม่เข้าไป

เช่น โครงการสินเชื่อเอสเอ็มอีประชารัฐสร้างไทยของแบงก์ออมสิน วงเงินคงเหลือ 40,000 ล้านบาท, โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ของเอสเอ็มอีแบงก์ วงเงินคงเหลือ 15,000 ล้านบาท โครงการสินเชื่อกรุงไทยเอสเอ็มอี วงเงินคงเหลือ 55,000 ล้านบาท โครงการ Soft Loan เพื่อเปลี่ยนเครื่องจักร ระยะที่ 2 ของออมสิน วงเงินคงเหลือ 15,000 ล้าน

นอกจากนั้น ยังมีมาตรการขยายเวลาชำระหนี้และค่าธรรมเนียมของแบงก์รัฐ ทั้งเอสเอ็มอีแบงก์, ธ.ก.ส., ธ.อ.ส., บสย. และมาตรการด้านภาษี เช่น การขยายเวลายื่นเสียภาษีบุคคลธรรมดา ออกไปถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ, มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนปรับปรุงกิจการโรงแรม และลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบิน เป็นต้น

มีเพียงนโยบายทางการเงินที่กล่าวได้ว่าอัดลงไปหนักๆ โดยไทยเป็นประเทศแรกที่ลดดอกเบี้ยนโยบายสู้สงครามไวรัสโคโรนาฯ ลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และต่ำสุดในภูมิภาคนี้

ทั้งนี้ ผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เห็นพ้องกันปรับลดดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.25% เหลือ 1% หวังช่วยพยุงเศรษฐกิจ ลดภาระดอกเบี้ยภาคธุรกิจและประชาชน

กนง. ยังแสดงความกังวลเศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวต่ำกว่าคาด หลังหลายปัจจัยรุมเร้าทั้ง การระบาดของไวรัสโคโรนาฯความล่าช้าของงบประมาณ และปัญหาภัยแล้งที่รุมเร้า

ในวันเดียวกันนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้าย สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2563 ซึ่งเผชิญแรงกดดันปัจจัยลบทั้งในและต่างประเทศ ทั้งงบประมาณประจำปีที่ล่าช้า ภัยแล้ง และการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

ภายใต้สมมติฐานการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาฯในจีนอยู่ในกรอบเวลา 3-6 เดือน กกร. คาดการณ์เบื้องต้นผลกระทบจากรายได้การท่องเที่ยวของไทยหายไปอาจคิดเป็นมูลค่าประมาณ 108,000-220,000 ล้านบาท ครอบคลุมธุรกิจตลอดห่วงโซ่ทั้งโรงแรมและที่พัก ร้านอาหาร ค้าปลีก และขนส่ง รวมทั้งอาจทำให้การส่งออกลดลงด้วย ทำให้ กกร. ประเมินอัตรการขยายตัวของจีดีพีในปีนี้ อาจลดลงมาอยู่ที่ 2.0-2.5% จากเดิมคาดการณ์ 2.5-3.0%

รายงานของ แบงก์ ออฟ อเมริกา ที่ประเมินเศรษฐกิจจะลดต่ำลงจากการระบาดของไวรัสโคโรนาฯ ยังประเมินอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยสอดคล้องกับบทวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ ที่ปรับลดเป้าการเติบโตของจีดีพีไทยปีนี้ เพราะวิตกกังวลการระบาดของไวรัสโคโรนาฯ ภัยแล้ง และงบประมาณล่าช้า โดยปรับเป้าจีดีพีไทยปี 2663 ลงมาเหลือขยายตัวแค่ 2.3% จากเดิม 2.8%

ทางด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2562 และ 2563 ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.5 ชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.1 ส่วนปี 2563 คาดว่าจะปรับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2.8 จากการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวบวกกับการลงทุนภาครัฐ แต่มีปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิด คือ การแพร่ระบาดของไวรัสฯ สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ การถอนตัวออกจากอียูของอังกฤษ เป็นต้น

อาจกล่าวได้ว่า กระทรวงการคลัง ยังมองโลกสวย เชื่อว่าการลงทุนของเอกชนและรัฐบาลจะพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ดำดิ่งลงสู่เหวลึกมากไปกว่านี้

สงครามไวรัสฯ ยังไม่จบ การนับศพยังไม่สิ้นสุด มหากาพย์นี้ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะลากยาวและสั่นสะเทือนทั้งโลกถึงขีดสุดและสงบลงเมื่อใด?


กำลังโหลดความคิดเห็น