xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลเตรียมอัดเงินสู่ระบบ รอลุ้นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยงบปี 63

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐบาลเตรียมทางออกอัดเงินสู่ระบบ รอลุ้นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยงบปี 63 ศุกร์นี้ คลังศึกษา ออกกองทุน TFF ขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐาน รอลุ้นศาลรัฐธรรมนูญ ศุกร์นี้ อุตตม อนุมัติรายได้จากการส่งออกนำกลับประเทศ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดแรงกดดันบาทแข็งค่า

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างร่วมงาน Posttoday Forum 2020 “ถอดรหัสเศรษฐกิจปี 2020” โดยระบุว่า ยังคงยืนยันการทำงานเจตนาเดิม 2 ด้าน คือ พยุงไม่ให้เศรษฐกิจถดถอย และสร้างความสมดุลเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศ เมื่อไทยยังเจอมรสุมงบประมาณล่าช้า ปัญหาสงครามเศรษฐกิจจีน-สหรัฐฯ แต่เชื่อมั่นว่า สหรัฐฯ เลือกตั้งเมื่อไร เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะดีขึ้น สำหรับมรสุมจากปัญหาไวรัสโคโรนาแพร่ระบาด ขอให้มั่นใจกระทรวงสาธารณสุขจะดูแลป้องกันการแพร่เชื้อโรคได้ จึงไม่อยากให้ตื่นตระหนก แม้ว่าช่วงนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่เข้ามา จึงอยากผลักดันไทยเที่ยวไทย ท่องเที่ยวกันเอง เพื่อรักษาเศรษฐกิจในประเทศ โดยคลังเตรียมออกมาตรการมาส่งเสริมการท่องเที่ยวเร็วๆ นี้ ทั้งชิมช้อปใช้เฟส 4 และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพิ่มเติม

ยอมรับว่า ปัญหาอีกด้านคือ งบประมาณปี 63 คาดว่าอาจทำให้งบประมาณออกสู่ระบบได้ในเดือนพฤษภาคม โดยต้องรอลุ้นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในวันศุกร์นี้ จึงเป็นภาระหนักของคลังเพราะเหลือเวลาเงินงบประมาณเพียง 4-5 เดือน ในปีนี้ จึงเตรียมแผนสำรองผลักดันโครงการที่ต้องใช้งบประมาณภายใน 1 ปี ด้วยการระดมทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน TFF เพื่อขายหน่วยลงทุนให้ประชาชน หรือการให้กระทรวงการคลังออกพันธบัตรขายให้แก่ประชาชน โดยจ่ายผลตอบแทนดอกเบี้ยสูงกว่าตลาด โดยไม่ต้องอาศัยเงินงบประมาณ หากคลังออกพันธบัตรดอกเบี้ยร้อยละ 3 น่าจะดึงดูดใจ คาดว่าจะระดมทุนได้ไม่มีปัญหา และเมื่อ กนง.ประกาศลดดอกเบี้ย ต้องให้ธนาคารช่วยกันลดดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศช่วงนี้

ขณะนี้คลัง สำนักงบประมาณกำลังหารือกันเพื่อผ่านมรสุม จากวันนี้ไปถึงครึ่งปี แม้งบประมาณใช้จ่ายไม่เต็มที่ ต้องประคองร่วมกัน ไม่ใช่โทษใครถูกใครผิด ทุกฝ่ายต้องเป็นหลักให้คนไทยไม่ตื่นกลัว หากจีดีพีขยายตัวได้น้อยเพียงร้อยละ 2-3 ถือว่าดีแล้ว ขณะที่หลายประเทศพัฒนาแล้ว เช่น เยอรมนี คาดการณ์ขยายไม่ถึงร้อยละ 1 ยกเว้นเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เพราะกำลังขยายตัวเหมือนกับไทยหลายปีก่อน เมื่อเขตอีอีซีชัดเจน ประกาศให้ชัดว่าศูนย์กลางในภูมิภาคคือ ไทย จึงต้องผลักดันโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน รองรับอุตสาหกรรมเข้ามาขยายการลงทุน

เมื่อตั้งเขตอุตสาหกรรมในเขตอีอีซีแล้ว ต้องสร้างแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก เพื่อดึงคนเข้าไปท่องเที่ยวกรีนปาร์ค ผ่านเรือครูส เรือสำราญขนาดใหญ่ ด้วยการสร้างสตอรีต้อนรับการท่องเที่ยว ไทยต้องไม่หยุดนิ่ง เมื่อเขตอีอีซีสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ต้องเร่งรัดประมูล 5G เพราะเปลี่ยนแปลงการผลิต อุตสาหกรรมที่เข้ามายังเขตอีอีซีต้องใช้ 5G ทั้งหมด ทำให้หลายค่ายมือถือต่างลงทุนระบบ 5G จึงต้องร่วมกันสร้างให้เกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องเติม 4G เข้าไปด้วย เพราะภาคเกษตรต้องการแปรรูป มีนาคมนี้ ซิลิคอนวัลเลย์ เพื่อเข้ามาศูนย์ข้อมูล Big Data

และสุดท้ายปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ชุมชนในชนบท ยอมรับว่าภาคเกษตร รายย่อยยังต้องได้รับการช่วยเหลือ เพราะจีนประสบความสำเร็จค้าขายผ่านออนไลน์ 1 คน คือ 1 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงต้องสร้างเศรษฐกิจยุคใหม่ได้ ค้าขายไปทั่วโลก ขณะนี้ได้เปลี่ยนโมเดลการพัฒนาไปแล้ว รายย่อยเพียง 1 คน ช่วยพัฒนาประเทศได้ การท่องเที่ยวเมืองรอง เช่น พัทลุง กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเมืองรองอันดับ 1 ของไทย สวนไผ่ขวัญใจ มีนักท่องเที่ยวเข้าไปสูงมากนับหมื่นคนต่อวันช่วงวันหยุด หากสร้างได้แบบนี้ เศรษฐกิจฐานรากจะพึ่งพาตนเองได้ อย่างเช่น อิตาลี ยอมรับเอสเอ็มอีเข้มแข็งมาก นับว่าเป็นโมเดลตัวอย่างที่ดี แม้เจอปัญหาเศรษฐกิจจะผ่านพ้นไปได้ ส่วนการอภิปรายเป็นเรื่องปกติ รัฐบาลต้องชี้แจง ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องกังวล เมื่ออภิปรายแล้วหันกลับมาทำงานร่วมกัน ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย ผมไม่ใช่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยเจอมรสุมหลายลูก แม้งบประมาณรายจ่ายปี 63 เบิกจ่ายล่าช้า ขอย้ำว่าเงินเดือนราชการ ค่าใช้จ่ายไม่เป็นปัญหา เพราะ ครม. เห็นชอบให้เบิกจ่ายรายได้ประจำสัดส่วนร้อยละ 75 ของวงเงินทั้งหมด จึงไม่น่าเป็นห่วง แต่เงินลงทุนยังทำไม่ได้ จึงเตรียมพร้อม โดยช่วงนี้ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญออกบัลลังก์วินิจฉัยงบประมาณรายจ่ายปี 63 ในวันศุกร์ที่ 7 ก.พ.นี้ ขอรอลุ้นคำวินิจฉัยของศาล กระทรวงการคลังได้เตรียมการเพื่อให้มีเงินลงทุนใหม่โดยเร็วที่สุด เพราะล่าช้าไปนานแล้ว ขณะที่การลงทุนทั้งระยะสั้นและระยะยาวต้องขับเคลื่อน กรณี กนง.ลดดอกเบี้ย นับว่าเป็นปัจจัยส่งเสริมการลงทุน ต่างชาติมองว่าทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยยังเข้มแข็ง จึงมีความเชื่อมั่น ขณะนี้รัฐบาลเดินหน้าผลักดันโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับการอนุมัติผ่อนคลายกฎเกณฑ์ให้ผู้ส่งออก ขยายวงเงินรายได้จากการส่งออกนำกลับเข้าประเทศ 2 แสนดอลลาร์สหรัฐ ปรับเพิ่มเป็น 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลดต้นทุนให้แก่ผู้ส่งออก และลดแรงกดดันต่อเงินบาทแข็งค่า ไม่ต้องรีบเร่งนำเงินกลับเข้าประเทศ เพื่อสร้างความสมดุลเงินไหลเข้าออกในระยะยาว

นอกจากนี้ ยังเน้นนโยบายการคลัง ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ นโยบายการคลังเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ หวังแก้ปัญหาความยากจน การคลังเพื่อเตรียมการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ต้องจัดเตรียมงบประมาณรองรับ ส่งเสริมเอกชนเข้ามาร่วม การออมระยะยาวให้อย่างเพียงพอต่อการดำรงชีพ กระทรวงคลังต้องการสนับสนุนประเทศเติบโตด้วยขีดความสามารถ ยั่งยืน เข้มแข็ง และเติบโตกระจายอย่างทั่งถึงทุกภูมิภาค การสร้างความเข้มแข็งจากภายใน เมื่อเกิดปัญหาอาการหนักจะคลี่คลายเป็นเบา นโยบายการคลังจึงต้องเข้ามาดูแล การใช้เครือข่ายแบงก์รัฐและหน่วยงานอื่นมารองรับ เช่น ธ.ก.ส. ร่วมมือผลักดันเกษตรฐานราก ธ.ออมสิน ช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชน เอสเอ็มอีแบงก์ ช่วยเหลือเอสเอ็มอี ขณะที่ ธ.กรุงไทย จัดทำข้อมูล Big Data พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศ เพื่อจัดทำสวัสดิการของประชาชน ขยายนโยบายสังคมไร้เงินสด

สถานการณ์ช่วงนี้เหมาะสำหรับการขยายการลงทุน ผู้ประกอบการต้องลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องมือ เครื่องจักร ขยายการลงทุน เพราะหักลดหย่อนภาษี 2.5 เท่าของค่าใช้จ่าย เพื่อปรับเปลี่ยนประเทศ หากจัดสัมมนานำค่าใช้จ่ายหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ส่วนโรงแรม รีสอร์ต ลงทุนปรับปรุงอาคารที่พัก หักลดหย่อน 1.5 เท่า และแบงก์รัฐบาลสินเชื่อพิเศษ ช่วยบรรเทาผลกระทบจากปัญหาไว้รัสโคโรนา พร้อมร่วมมือกับ ธปท. ดูแลเศรษฐกิจร่วมกัน ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต. ต้องทำงานใกล้ชิด เพื่อขับเคลื่อนสิ่งใหม่ๆ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ใช่รอบริษัทพร้อมออกมาระดมทุน แต่ต้องมองกลับมุม ออกไปช่วยเหลือตั้งแต่ต้นทาง ปรับมุมมองใหม่ ส่งเสริมผู้ประกอบการสตาร์ทอัป ลงลีสซิ่ง

นายภากร ปิตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไทยผ่านวิกฤตปัญหาความผันผวนมาจำนวนมาก ทั้งปัญหาไข้หวัดนก โรคซาร์ส วิกฤตเศรษฐกิจโลก แต่ตลาดหุ้นไทยใช้เวลาพงฟื้นตัวไม่เกิน 10 เดือน เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็ง เพราะหนี้สาธารณะยังต่ำสัดส่วนเพียงร้อยละ 41 ของจีดีพี แม้รัฐบาลจะกู้ยืมเงินเพิ่มเติมช่วงนี้ยังทำได้ไม่กระทบฐานะทางการเงิน สถาบันการเงินของไทยเข้มแข็งมากสัดส่วนทุนสำรองแบงก์สูงร้อยละ 16.8 จากเดิมช่วงที่ผ่านมา เพียง 4-5 ขณะที่บริษัทจดทะเบียน มีศักยภาพในการทำกำไรได้สัดส่วนสูงเมื่อเทียบกับจีดีพีของกลุ่มอุตสาหกรรม ตลาดหลักทรัพย์ไทยมีสภาพคล่องสูงสุดในอาเซียน มีปริมาณการซื้อขายมากกว่าสิงคโปร์ 2 เท่า และสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

ขณะที่หุ้นจดทะเบียนใหม่ในแต่ละปีสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และขนาดมูลค่าเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ พื้นฐานของตลาดหลักทรัพย์ไทยดังกล่าว จึงเป็นสิ่งยืนยันสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน และฟื้นตัวเร็วเมื่อเจอวิกฤตต่างๆ บริษัทจดทะเบียนของไทยจึงเติบโต ขยายกิจการต่อเนื่อง มีความหลากหลายในการระดมทุน ทั้งตลาด SET, mai และผลิตภัณฑ์ระดมทุนหลากหลาย ตลาดหุ้นไทยยังเป็นโอกาสต่อการลงทุนในช่วงทิศทางดอกเบี้ยต่ำ ในปี 2020 จึงยังเป็นโอกาสในการลงทุนผ่านตลาดหุ้นไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น