xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

อู่ฮั่น CONSPIRACY?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - มี “คำถาม” เกิดขึ้นมากมายหลัง การแพร่ระบาดของ “ไวรัสอู่ฮั่น” หรือที่มีชื่อทางการแพทย์ว่า “ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019-nCoV” เพราะเต็มไปด้วยปริศนาที่ยังไม่สามารถหา “คำตอบ” ได้

โดยเฉพาะการที่รัฐบาลจีนโดย ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ประกาศ “ภาวะฉุกเฉินสูงสุด” ทั่วประเทศ และมีคำสั่ง Shutdown คือห้าม “ทัวร์จีนออกนอกประเทศ” รวมทั้งห้ามขายแพ็กเกจเที่ยวบินและโรงแรมให้ชาวจีนที่ต้องการเดินทางไปต่างประเทศ เป็นเวลา 3 เดือน หรือตั้งแต่ 27 ม.ค.-เม.ย.2563 โดยไม่หวั่นผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น พร้อมทั้งระดมสรรพกำลังต่อสู้กับ “ไวรัสนรก” อย่างฉับไวในทุกมิติ ทั้งๆ ที่ถ้าจะว่าไปมีความรุนแรงน้อยกว่าเมื่อครั้งที่ “ซาร์ส” ระบาดเสียด้วยซ้ำไป

ขณะที่จนถึงวันนี้( 30 มกราคม) รัฐบาลจีนก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่า “ต้นตอ” ของการแพร่ระบาดนั้นมาจากอะไรกันแน่ แม้กระทั่ง “จงหนานซาน” หัวหน้าทีมผู้เชี่ยวชาญระดับชาติที่จีนแต่งตั้งขึ้นมาควบคุมการแพร่ระบาดของ “ไวรัสอู่ฮั่น” ก็ยังคงเดินหน้าค้นหน้าความลับอันมืดมนอนธการ

หรือว่า เชื้อนี้จะรุนแรงกว่าที่คิด?

หรือว่า มี CONSPIRACY อะไรที่ชาวไทยและชาวโลกยังไม่รู้?

เศรษฐกิจจีนพินาศยับ ใครได้-ใครเสีย
คำสั่งอันเด็ดขาดของ “ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง” ในการปิดประเทศจีนเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสอู่ฮั่น เป็นที่ชัดเจนว่า ได้ส่งผลกระทบกับจีนอย่างมิอาจประมาณค่าได้ ทั้งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง-การทหารระหว่างประเทศ

เแค่ปิด “อู่ฮั่น” เมืองเดียวก็กระทบกับจีนอย่างหนัก เพราะอู่ฮั่นถือเป็นเมืองที่เปรียบเสมือนเครื่องจักรสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน โดยข้อมูลจากรัฐบาลเมืองอู่ฮั่น ระบุว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองอู่ฮั่น เมื่อปี 2562 อยู่ที่ระดับ 7.8% แถมเมืองอู่ฮั่นยังเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมและอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีน จนได้รับฉายาว่า “เมืองแห่งยานยนต์” มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีจำนวนมาก

บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่างประเทศจำนวนมาก เช่น เจเนอรัลมอเตอร์ส และเรโนลต์ ร่วมทุนกับเหล่าบริษัทจีน โดยมูลค่าผลผลิตของอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนในเมืองอู่ฮั่นอยู่ที่ราวๆ 400,000 ล้านหยวน (57,000 ล้านดอลลาร์) ตามรายงานในหนังสือพิมพ์ฉางเหลียงเดลี่

จะเห็นได้ว่า เฉพาะการปิดอู่ฮั่นก็ส่งผลกระทบกับการเติบโตของเศรษฐกิจจีนมหาศาลแล้ว

จูเลียน อีแวนส์-พริตชาร์ด นักวิเคราะห์แห่ง แคปิตอล อีโคโนมิกส์ ลงความเห็นว่าการระบาดของไวรัสโคโรนาฯ เป็นการกระหน่ำตีครั้งใหม่ต่อเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะในภาคการขนส่ง การบริโภคในวงกว้าง ทั้งภัตตาคารร้านอาหารต่างๆ และภาคการค้าปลีก

ทั้งนี้ การที่รัฐบาลจีนสั่งให้ยกเลิกกรุ๊ปทัวร์ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ อาจกระทบอย่างร้ายแรงต่อภาคการท่องเที่ยว-อุตสาหกรรมสำคัญที่มีมูลค่าเท่ากับ 11% ของจีดีพีรวมของประเทศ ขณะที่การสัญจรทั้งทางรถไฟและทางอากาศ ต่างลดฮวบ รวมทั้งอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่กระทบจากรายได้ก่อนวันตรุษจีนที่ทำได้เพียงแค่ 10% ของปีที่แล้ว  



จีนระดมบุคลากรทางการแพทย์เข้าไปที่เมืองอู่ฮั่นเป็นจำนวนมาก
ขณะที่การบริโภคซึ่งเป็นตัวสร้างอัตราเติบโตของจีนในปี 2019 ถึงราว 3.5% ก็หลีกหนีไม่พ้นปัญหา ซึ่งการบริโภคลดไปเพียง 10% ก็จะทำให้จีดีพีต่ำลงไปราว 1.2% เลยทีเดียว

นอกจากนี้ บรรดายักษ์ใหญ่ฟาสต์ฟูดสัญชาติสหรัฐฯ อย่าง แมคโดนัลด์ ได้ปิดทุกสาขาในมณฑลหูเป่ย เช่นเดียวกับ อิเกีย ห้างเฟอร์นิเจอร์ยักษ์ใหญ่สัญชาติสวีเดน ซึ่งปิดสาขาต่างๆ ราวครึ่งหนึ่งจากที่มีอยู่ทั้งหมด 30 แห่งในจีนแผ่นดินใหญ่ ขณะที่ก่อนหน้า สตาร์บัคส์ เครือข่ายร้านกาแฟดังได้ประกาศปิดสาขาครึ่งหนึ่งในจีน และ ดิสนีย์ ตัดสินใจปิดให้บริการสวนสนุกที่เซี่ยงไฮ้และฮ่องกง

ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นยังส่งผลทำให้การขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง คือ “นโยบายหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ที่จะสร้างความมั่งคั่งให้กับจีน รวมทั้งสานสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ก็จะพลอยจะชะงักงันตามไปด้วย

บรรดานักเศรษฐศาสตร์พากันวิเคราะห์ว่า ไวรัสอู่ฮั่นอาจทำให้จีนมีอัตราการเติบโตต่ำสุดในรอบ 29-30 ปี และกว่าที่จะสามารถฟื้นกลับคืนมาเหมือนเดิมได้ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย

นอกจากนั้นยังมีผลกระทบที่คาดไม่ถึงอีกมากมาย เช่น ผลกระทบทางด้านความมั่นคงโลก เพราะเมื่อจีนต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ย่อมทำให้ศักยภาพทางด้านการทหารของจีนที่เบียดขึ้นมาเคียงคู่กับสหรัฐฯฯ ลดลงไป และไม่รู้ว่าใช้เวลานานแค่ไหนถึงจะฟื้นกลับคืนมาได้ เพราะต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการฟื้นฟูประเทศและดูแลประชาชนของตัวเองเป็นลำดับแรก

จะว่าไป ความรุนแรงอาจจะมากกว่าเมื่อครั้งที่เกิดเหตุการณ์ “9/11” กับสหรัฐอเมริกาเสียด้วยซ้ำไป

ที่น่าประหลาดยิ่งกว่าก็คือ ในวิกฤตครั้งนี้ปรากฏ “เฟกนิวส์” ทำหน้าที่ไปทั่วทั้งโลก โดยเฉพาะเฟกนิวส์ที่สร้าง “ความสับสน” และ “หวังผลบางประการ” เช่น โพสต์ต่างๆ นานาบนทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กที่อ้างว่าไวรัสโคโรนาถูกสร้างขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์บางอย่าง

หรือการที่มีรายงานจาก “เดลิเมล์” รวมทั้งสื่อตะวันตกพาเหรดกันออกมาให้ข้อมูลว่า ที่เมืองอู่ฮั่นเป็นที่ตั้ง “แล็บระดับ 4” แห่งแรกของประเทศจีน ซึ่งเป็นแล็บที่ใช้ในการทดลองวิจัยเชื้อโรคที่มีความอันตรายมากที่สุดในโลก เป็นต้น

แน่นอนว่า สงครามข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ย่อมสร้างความหวั่นวิตกให้กับคนทั้งโลก และซ้ำเติมสถานการณ์การแพร่ระบาดให้เลวร้ายหนักกว่าเก่า ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ ก็คือ “ประเทศจีน” ทำให้ดูประหนึ่งว่า จะมี “การเมืองระหว่างประเทศ” เข้ามาเกี่ยวข้องที่รุนแรงมากเสียยิ่งกว่าตัวโรคไวรัสอู่ฮั่นเสียอีก

จะว่าไปก็ประจวบเหมาะกันการที่ บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ คือ กูเกิล แอปเปิล เฟซบุ๊ก อะเมซอน และไมโครซอฟท์ ที่มีบทบาทในจีนน้อยกว่าประเทศอื่นๆทั่วโลก ส่งสัญญาณลดความน่าเชื่อถือของจีนด้วยการพร้อมใจกันประกาศว่าจะปิดสำนักงานในประเทศจีนจากเหตุการณ์โรคไวรัสอู่ฮั่นในครั้งนี้

ดังนั้น เมื่อมาผสมรวมกับปฏิกิริยาของรัฐบาลจีนที่ใช้มาตรการเข้มข้นกว่าเมื่อเกิดการระบาดโรคซาร์สและโรคเมอร์ส จึงทำให้มีการคาดเดาความเป็นไปได้ไปต่างๆ นานา เช่น เป็นเพราะว่าความรุนแรงของโรคมีมากกว่าที่ปรากฏในรายงานหรือไม่ หรือเป็นเพราะว่าต้องการแสดงภาวะความเป็นผู้นำยุคใหม่ของจีนที่สามารถจัดการกับโรคภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งกลายเป็นที่มาของ CONSPIRACY THEORY หรือ ทฤษฎีสมคบคิด สารพัดสารพัน

จีนเจ็บ โลกก็เจ็บ
อย่างไรก็ดี นอกจากประเทศจีนแล้ว การแพร่ระบาดครั้งนี้ยังก่อให้เกิดผลกระทบไปทั่วโลก เนื่องด้วยจีนเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลกและยังเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก

การประเมินของเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม คาดว่าน่าจะสร้างความเสียหายสูงถึง 570,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ถือเป็นมูลค่าความเสียหายที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

เจอโรม เพาเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กล่าวเมื่อวันพุธ (29 ม.ค.) ในการแถลงผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟดว่า ขณะที่เศรษฐกิจโลกดูเหมือนจะกลับมามีเสถียรภาพ ไวรัสโคโรนาก็กลายเป็นความเสี่ยงใหม่สำหรับการเติบโตของจีนและที่อื่นๆ

“มันมีผลกระทบอย่างชัดเจนอย่างน้อยที่สุดก็ในระยะสั้นต่อผลผลิตของจีน ผมขอเดาด้วยว่า ต่อเพื่อนบ้านใกล้ชิดกับจีนบางรายด้วย” อย่างไรก็ตาม “สถานการณ์จริงๆ แล้วยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น มีความไม่แน่นอนเป็นอย่างมากเกี่ยวกับเรื่องที่ว่ามันจะระบาดไปมากน้อย ยาวนานแค่ไหน และผลกระทบทางเศรษฐกิจมหภาคจะเป็นยังไง เรากำลังเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมขนส่งและท่องเที่ยวซึ่งครอบคลุมทั้งการบิน โรงแรม ฯลฯ ถือว่ากระทบหนักที่สุดเป็นอันดับแรก ลามไปถึงภาคการผลิตจริง การส่งออก ประกันภัย ฯลฯ รวมถึงตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งถ้วนหน้าฉุดราคาน้ำมันร่วง จากความกังวลเศรษฐกิจโลกหดตัวจากผลกระทบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

หลี่ว์จวิ้น หนึ่งในสมาชิกคณะเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ 142 ชีวิตที่เดินทางไปสู้ศึกไวรัสยังนครอู่ฮั่น กล่าวอำลาและปลอบโยนภรรยาผู้ร่ำไห้



การสร้างโรงพยาบาลพิเศษเพื่อรับมือกับไวรัส 2 แห่งคือ โรงพยาบาลหั่วเสินซาน และ “โรงพยาบาลเหลยเสินซาน” มีความคืบหน้าเป็นจำนวนมาก
รายงานข่าวของเอเอฟพี ระบุว่า นับถึงวันที่ 29 ม.ค. มีสายการบินทั่วโลกประกาศระงับการบินไปยังเมืองอู่ฮั่นและจีนแผ่นดินใหญ่ เช่น สายการบินแอร์ฟรานซ์ของฝรั่งเศสที่ยกเลิกเที่ยวบินไปอู่ฮั่น, สายการบินบริติชแอร์เวย์สของอังกฤษ ประกาศสั่งหยุดทุกเที่ยวบินทั้งไปและกลับจีนแผ่นดินใหญ่, สายการบินคาเธ่ย์แปซิฟิค ที่มีฐานอยู่ในฮ่องกง กำลังจะลดเที่ยวบินไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ลง 50%, สายการบินฟินน์แอร์ ของฟินแลนด์ ที่มีเที่ยวบินจำนวนมากเชื่อมต่อระหว่างเอเชียกับยุโรป จะระงับบางเที่ยวบินไปจีนจนถึงเดือนมีนาคม, สายการบินไลออนแอร์ สัญชาติอินโดนีเซียที่มีจำนวนฝูงบินที่ใหญ่ที่สุดประกาศหยุดการเดินทางทุกเที่ยวบินทั้งไปและกลับจีน

ส่วนสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ส ของสหรัฐฯ จะลดเที่ยวบินจากสหรัฐฯไปจีน ตามที่ทำเนียบขาวสั่งการผู้บริหารสายการบินหลายแห่ง พิจารณายกเลิกเที่ยวบินจากจีนมายังสหรัฐฯ, สายการบินอูราลส์แอร์ไลน์สของรัสเซีย แถลงระงับการให้บริการบินไปยังเมืองใหญ่ของยุโรปที่มีนักท่องเที่ยวจีนนิยม ขณะที่คาซัคสถาน ออกคำสั่งปิดการเชื่อมต่อทางคมนาคมกับจีนทั้งหมด โดยเส้นทางถนนเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ และการเดินทางทางอากาศตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ.

ทั้งนี้ การสั่งห้ามทัวร์จีนออกนอกประเทศ และการเลี่ยงเดินทางเข้าจีนของพลเมืองโลก ส่งผลสะเทือนต่อธุรกิจท่องเที่ยวมหาศาล จากตัวเลขขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) ระบุตัวเลขประมาณการการใช้จ่ายในต่างประเทศของทัวร์จีนปี 2562 อยู่ที่ 277,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (พาต้า) ระบุว่าคนจีนเดินทางไปต่างประเทศในปี 2562 ราว 132 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 มีจำนวน 128 ล้านคนที่ออกเดินทางไปทั่วโลก

นี่นับเป็นฝันร้ายของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโลก

ขณะที่รายงานการวิเคราะห์ของบรรดาโบรกเกอร์และสำนักวิจัยต่างชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาฯ กดดันตลาดหุ้นทรุดถ้วนหน้า โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด คาดการณ์ว่าดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ S&P500 และดัชนีตลาดหุ้นยุโรป EUROSTOXX 600 มีโอกาสปรับตัวลดลงประมาณ 3-5% นับจากวันศุกร์ที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา ขณะที่คาดการณ์ว่า ดัชนีตลาดหุ้นจีนมีโอกาสปรับตัวลงประมาณ 6-8% และแนวโน้มกำลังซื้อของผู้บริโภคชาวจีนชะลอตัวลงในระยะสั้น ซึ่งจะมีผลต่อรายได้ของบริษัทจดทะเบียนบางแห่งให้ปรับตัวลดลง

ด้านศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลด้านการลงทุนและที่ปรึกษาการลงทุน (CIO Office) ธนาคารไทยพาณิชย์ เผยแพร่บทวิเคราะห์"ตลาดหุ้นส่วนใหญ่มีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากความกังวลสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่" โดยชี้แนวโน้มว่า ตลาดหุ้นยังคงได้รับแรงกดดัน และความกังวลนี้จะส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยงมีแนวโน้มปรับลดลง ส่วนสินทรัพย์ปลอดภัยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ด้านราคาน้ำมัน มีแนวโน้มปรับลดลงจากความกังวลว่าการแพร่ระบาดจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และทำให้ความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกปรับลดลง

อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นว่า ผลกระทบของการแพร่ระบาดของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่โคโรนาไวรัสจะทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจเอเชียปีนี้อาจไม่กระเตื้องขึ้นอย่างที่คาดโดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนอาจต่ำกว่า 5.8% ในปีนี้ และอาจทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียแปซิฟิกในปีนี้ไม่ถึง 6%

ไทยกระทบหนัก-ท่องเที่ยวสูญแสนล้าน
สำหรับ “ประเทศไทย” แน่นอนว่า ถือเป็น “ประเทศเสี่ยงลำดับต้นๆ” เนื่องด้วยในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามามหาศาล และเป็นประเทศที่ตรวจพบ “ผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีนมากที่สุด” ซึ่ง ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “มือหนึ่ง” ในด้านนี้ ยืนยันว่า “เราต้องยอมรับความจริง โรคนี้ระบาดแน่ในประเทศไทย และทุกประเทศ”

จากสถานการณ์และความเป็นจริงที่ปรากฏ แน่นอนว่า ย่อมส่งผลกระทบทางด้าน “เศรษฐกิจ” อย่างรุนแรง และใช้เวลาพอสมควรกว่าที่สถานการณ์ของโรคจะคลี่คลายและการท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นปกติ

ทั้งนี้ ในปัจจุบันจีนเป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ของไทย และในช่วง 17 ปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นเกือบ 14 เท่าตัว หรือเพิ่มขึ้นจาก 7.97 แสนคนในปี 2545 เป็น 10.99 ล้านคนในปี 2562 หรือคิดเป็นสัดส่วนเกิน 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดของไทยที่มีจำนวน 39.7 ล้านคน

มีการประเมินว่าการระบาดของไวรัสอู่ฮั่น จะสร้างความเสียหายให้กับภาคการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจไทย “3 เท่าตัว” เมื่อเทียบกับการระบาดของโรคซาร์สครั้งก่อน ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป 1 ล้านคน ในห้วงเวลาเพียง 3 เดือนเศษ และทำให้ไทยต้องสูญรายได้ 3.1 หมื่นล้านบาท

นั่นหมายความว่า หากคิดจากค่าใช้จ่ายรายหัวของนักท่องเที่ยวจีนที่อยู่ที่ 5 หมื่นบาท/ทริป จะพบว่าในช่วง 3 เดือนของปีนี้ ไทยจะสูญเสียรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนอย่างน้อย 9.45 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

บรรยากาศของเมืองอู่ฮั่นในวันที่ไร้ผู้คนและรถราสัญจรไปมา
“จากช่วงตรุษจีนจนถึงเดือนเม.ย. ปกติจะมีนักท่องเที่ยวจีนมาไทย 2.7 ล้านคน ซึ่งการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ที่ยังรุนแรง คาดว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวจีนลดลงประมาณ 70% หรือ 1.89 ล้านคน แต่หากทางการจีนควบคุมการระบาดได้เร็ว ผลกระทบจะน้อยกว่านี้” ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเมิน

ทั้งนี้ มีการประเมินว่าการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่จะจบลงใน 3 เดือน ซึ่งทำให้ภาคท่องเที่ยวสูญเสียรายได้ 6-7.5 หมื่นล้านบาท และกว่าที่การท่องเที่ยวจีนจะฟื้นตัวก็ต้องใช้เวลาอีก 3 เดือน นั่นเท่ากับว่ารายได้ของภาคการท่องเที่ยวจะหายไปไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท

ไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ “อสังหาริมทรัพย์” ก็ต้องเผชิญกับความยากลำบากไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยเฉพาะ “คอนโดมิเนียม” ที่ช่วงหลังผู้ประกอบการมุ่งพัฒนาสินค้าออกมาเพื่อรองรับกำลังซื้อกลุ่มนักลงทุนชาวจีนเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ จากตัวเลขชาวต่างชาติที่ถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดในปี 2561 พบว่า มีจำนวน 13,113 หน่วย มูลค่า 55,007 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นชาวจีนมากถึง 7,548 หน่วย สัดส่วน 57.6% จากผู้ซื้อชาวต่างชาติทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 29,440 หน่วย ขณะที่ตัวเลข 9 เดือนปี 2562 พบว่า มีชาวจีนถือครองกรรมสิทธ์ทั้งสิ้น 5,430 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 57.6% ของผู้ซื้อต่างชาติทั้งหมด โดยมีมูลค่า 20,117 ล้านบาท

“ปัญหาเรื่องเงินบาทแข็งค่ายังไม่จบก็ประสบปัญหาไวรัสโคโรนา ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ยิ่งทำให้ผู้ซื้อชาวจีนแทบหายไปจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย”นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินิกซ์พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซ์ จำกัด นักวิจัยตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย ให้ข้อมูล

ด้าน นายลวรรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้ปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยลง อยู่ที่ระดับ 2.8% จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ที่ 2.3-3.3% เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจไทยก็ได้รับแรงกดดันจากปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะเชื้อไวรัสโคโรนาที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ซึ่งอาจทำให้ทั้งปีมีนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง 4 แสนราย และความล่าช้าของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 อย่างไรก็ดี ยังคงมองว่าสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงระยะสั้น เชื่อว่าภายใน 3 เดือนจะคลี่คลายลง ทั้งนี้ คาดว่าในเรื่องการส่งออกยังคงเติบโตได้เพียง 1% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 2.6%

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเมื่อ “จีนเจ็บ” โลกทั้งโลกก็ย่อมเจ็บตามไปด้วย ประเทศไทยก็เช่นกัน

อู่ฮั่นสู้สู้ ประเทศจีนสู้สู้ ประเทศไทยสู้สู้.

ขอขอบคุณภาพจากสำนักข่าวซินหวา




กำลังโหลดความคิดเห็น