xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นไวรัสร้ายโคโรนาลามอสังหาฯ ไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อสังหาฯ ปี 63 ยังเหนื่อยต่อ หวั่นทรุดต่ำกว่าปี 62 หลังขาวร้ายซ้ำเติมตลาดต่อเนื่อง ชี้ไวรัสโคโรนาทำลูกค้าจีนหาย ภาวนาหยุดโรคร้ายได้เร็ว หากลากยาวถึงไตรมาส 2 ตลาดทรุดแน่ แนะผู้ประกอบการลดลงทุนคอนโดฯ หันโฟกัสตลาดคนไทยเป็นหลัก

วิกฤตโรคไวรัสโคโรนา ที่กำลังแพร่ระบาดในประเทศจีน และยังลุกลามไปในประเทศต่างๆ อีกหลาย 10 ประเทศ ส่งผลให้ทั่วโลกต่างอยู่ในภาวะเฝ้าระวัง ในระหว่างนี้กำลังซื้อจากชาวจีนแทบหายไปจากตลาด เนื่องจากจีนถือเป็นกำลังซื้อหลักของตลาดไทย โดยเฉพาะตลาดท่องเที่ยว ส่งออก สายการบิน ห้างสรรพสินค้า หรือแม้กระทั่งตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่ช่วงหลังผู้ประกอบการมุ่งพัฒนาสินค้าออกมาเพื่อรองรับกำลังซื้อกลุ่มนักลงทุนชาวจีนเป็นจำนวนมาก

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า จากตัวเลขชาวต่างชาติที่ถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดในปี 2561 พบว่า มีจำนวน 13,113 หน่วย มูลค่า 55,007 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นชาวจีนมากถึง 7,548 หน่วย สัดส่วน 57.6% จากผู้ซื้อชาวต่างชาติทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 29,440 หน่วย ขณะที่ตัวเลข 9 เดือนปี 2562 พบว่า มีชาวจีนถือครองกรรมสิทธ์ทั้งสิ้น 5,430 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 57.6% ของผู้ซื้อต่างชาติทั้งหมด โดยมีมูลค่า 20,117 ล้านบาท

สุรเชษฐ กองชีพ
หวั่นไวรัสโคโนร่าฉุดอสังหาฯ ไทยต่ำกว่าปี 62
นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินิกซ์พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซ์ จำกัด นักวิจัยตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2563 มีความเป็นไปได้ว่าจะลดต่ำลงไปกว่าปี 2562 ที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจัยลบที่มากระทบตลาดมีอยู่จำนวนมาก ขณะที่ปัจจัยบวกแทบไม่มีให้เห็น ทั้งนี้ ปัจจัยลบในปี 2562 ได้ฉุดให้ตลาดอสังหาฯ ไทยตกต่ำจนหลายคนเชื่อว่าตลาดถึงจุดต่ำสุดถึงเวลาที่จะผงกหัวขึ้นมา แต่อย่างไรก็ตามปัญหาต่างๆ ดังกล่าวยังส่งผลต่อเนื่องมาในปี 63 แถมยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาใหญ่ไวรัสโคโรนาอีก จึงเป็นไปได้ว่าตลาดอสังหาฯ ไทยจะลดต่ำลงกว่าปี 2562

ในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยประสบปัญหาในหลายด้าน โดยเฉพาะปัจจัยภายนอก สงครามการค้าจีน-สหรัฐอเมริกา สงครามอิหร่าน-สหรัฐอเมริกา เงินบาทแข่งค่า LTV ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ซื้อต่างชาติ ทำให้ชะลอการลงทุน โดยเฉพาะชาวจีนที่เป็นกำลังซื้อหลักกว่า 50% ของผู้ซื้อชาวต่างชาติ

นอกจากปัจจัยสงครามการค้าและภาวะเศรษฐกิจแล้ว ผู้ซื้อชาวจีนยังมีปัญหาในเรื่องของข้อจำกัดในการนำเงินออกนอกประเทศปีละไม่เกิน 1.5 ล้านบาท/คน เงินบาทของไทยที่แข็งค่าขึ้นเกือบ 30% ส่งผลให้ผู้ซื้อชาวจีนเกิดความลังเลที่จะรับโอนกรรมสิทธิ์ บางรายถึงขึ้นยอมทิ้งเงินดาวน์กว่า 20% เพราะกังวลเรื่องการทำกำไรในอนาคต ทำให้ตลาดชาวจีนในปี 62 ไม่สดใสนักปรับลดลงไปราว 30-40%

แต่ปัญหาเรื่องเงินบาทแข็งค่ายังไม่จบก็ประสบปัญหาไวรัสโคโรนา ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ยิ่งทำให้ผู้ซื้อชาวจีนแทบหายไปจากตลาดอสังหาฯ ไทยในช่วงวันตรุษจีนที่เป็นวันหยุดยาว ตลาดที่ได้รับผลกระทบมากสุดเห็นจะเป็นอสังหาฯ ประเภทโรงแรม ธุรกิจให้เช่าคอนโดฯ เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ ที่นักท่องเที่ยวชาวจีนหายไปเกือบหมด ส่วนตลาดคอนโดมิเนียมคาดว่าจะได้รับผลกระทบไม่น้อยเนื่องจากช่วงเทศกาลตรุษจีนเป็นช่วงที่ชาวจีนจะออกมาเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยมากที่สุด โดยในช่วงนี้ชาวจีนแทบจะหายไปจากตลาดทั้งผู้ซื้อใหม่และผู้ที่จะโอนเนื่องจากออกจากประเทศไม่ได้หรือไม่กล้าเดินทาง

“หวังว่ารัฐบาลจีนจะสามารถหยุดวิฤตไวรัสโคโรนาลงในเวลารวดเร็วไม่เกินช่วงไตรมาส 1 เพราะยังทำให้ผู้ประกอบการมีเวลาในการกระตุ้นตลาดอีก 3 ไตรมาสที่เหลือของปี แต่หากปัญหาดังกล่าวยังลุกลามไปจนถึงไตรมาส 2 เชื่อว่าไทยจะได้รับผลกระทบอย่างมากเพราะจีนถือเป็นกำลังซื้อหลัก ซึ่งไทยพึ่งตลาดจีนในหลายเรื่อง” นายสุรเชษฐ กล่าว

ทั้งนี้ ผลกระทบของไวรัสโคโรนาจะส่งผล 2 ด้าน คือ คนจีนไม่สามารถมาซื้อห้องชุดของไทยได้ แต่หากมองกลับกันจะพบว่า จีนมักเกิดการระบาดของโรคร้ายแรงบ่อยครั้ง โดยก่อหน้านี้ เกิดการระบาดของโรคซาร์ส และในครั้งนี้ไวรัสโคโรนา ทำให้ชาวจีนบางส่วนหันมาซื้อที่อยู่อาศัยในไทยเพิ่มมากขึ้นเพื่อเป็นบ้านหลังที่ 2 หากปะเทศจีนเกิดปัญหาโรคร้ายขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งในปัจจุบันมีชาวจีนบางส่วนถือโอกาสพักอยู่ประเทศไทยในช่วงที่จีนปิดประเทศ

นายสุรเชษฐ กล่าวต่อว่า จากปัจจัยลบต่างๆ ที่เกิดขึ้นทำให้คาดว่าในปี 2563 ตลาดอสังหาฯ จะยังคงชะลอตัวต่อเนื่องและอาจลดต่ำลงไปได้อีก ผู้ประกอบการจึงควรมีความระมัดระวังในการลงทุน ซึ่งจากแนวโน้มการขายคอนโดฯ ในปีที่ผ่านมา พบว่า มีอัตราการขายเพียง 50% ของจำนวนยูนิตที่เปิดขายใหม่ ดังนั้น ควรลดการเปิดตัวลง 50% ลดการพัฒนาเพื่อขายต่างชาติหรือชาวจีน หันมาจับตลาดคนไทยเป็นหลักหรือขยายการลงทุนไปในตลาดแนวราบ

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่มีสต๊อกคอนโดฯ ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทควรเร่งปิดการขายหรือระบายสต๊อกออกให้ทันกับมาตรการของรัฐบาล เพื่อลดค่าใช้จ่ายจากการแบกภาระสต๊อกสินค้า ควรแนะผู้ซื้อในการขอสินเชื่อ เพราะส่วนใหญ่กลุ่มผู้ซื้อบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทเป็นผู้ซื้อบ้านหลังแรก คนจบใหม่เพิ่งทำงาน มักจะไม่มีความรู้ในการขอสินเชื่อ หรือบางรายมีปัญหาหนี้บัตรเครดิตหรือหนี้รถยนต์ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องแนะนำข้อปฏิบัติเพื่อให้ลูกค้ากู้ผ่าน

โอภาส ศรีพยัคฆ์
ปรับแผนกระจายลงทุนลดความเสี่ยง
ตลาดคอนโดฯ ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย กลุ่มผู้ซื้อชาวไทยลดน้อยลงตามภาวะเศรษฐกิจ ทำให้มีสต๊อกเหลือขายในตลาดเป็นจำนวนมาก แต่ยังได้อานิสงส์จากกลุ่มผู้ซื้อชาวจีนและชาวต่างชาติอื่นๆ ทำให้ผู้ประกอบการยังคงพัฒนาโครงการออกมาอย่างต่อเนื่องเพราะยังมีกำลังซื้อจากต่างชาติรองรับ บางรายพัฒนาสินค้าออกมาเพื่อขายชาวต่างชาติหรือชาวจีนกลุ่มนักลงทุนโดยเฉพาะ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการหลายรายได้ปรับตัวหันมาพัฒนาระบบหลังบ้าน กระจายความเสี่ยงด้านการลงทุนไปยังแนวราบที่ถือเป็นตลาดของผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง

นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN เผยว่า ตลาดอสังหาฯ เป็นตัวรับผลกระทบจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ขนาดใหญ่ ต้องใช้เงินก้อนใหญ่ในการซื้อและเป็นการก่อหนี้ระยะยาว หากผู้บริโภคเกิดความไม่เชื่อมั่น หรือมีความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินก็จะไม่ซื้อทั้งบ้าน และรถยนต์

ปัญหาการชะลอตัวของตลาดอสังหาฯ เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2562 และเริ่มผ่อนคลายมากขึ้นในช่วงปลายปี ที่หลายๆ อย่างมีแนวโน้มดีขึ้น เช่น มาตรการด้านภาษีกระตุ้นภาคอสังหาฯ ของรัฐบาล โครงการบ้านดีมีดาวน์ การผ่อนเกณฑ์ LTV แม้ว่าจะไม่มากแต่มีมีทิศทางที่ดี

“พอมีข่าวดีขึ้นมาบ้างกลับมีข่าวร้ายเข้ามาซ้ำเติมตลาดให้แย่ลงไปอีก เริ่มตั้งแต่ พ.ร.บ.ภาษีดินที่ ประชาชนเกรงว่าต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูงจนกระทั่งรัฐบาลออกมาให้ความชัดเจนและมีการประชาสัมพันธ์มากขึ้นประชาชนจึงคลายความกังวลลง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาสงครามการค้า ปัญหาสงครามระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน” นายโอภาส กล่าว

ส่วนกรณีไวรัสโคโรนายังไม่ส่งผลกระทบที่ชัดเจนต่อบริษัท เนื่องจากไม่ได้ทำตลาดกลุ่มผู้ซื้อชาวจีนแล้ว มีเพียงโครงการย่านมักกะสัน จำนวน 200 กว่ายูนิตที่นำไปขายที่ประเทศจีน และปัจจุบันโอนไปหมดแล้ว หลังจากนั้นบริษัทไม่ได้ทำในตลาดต่างชาติอีกเลย ยกเว้นจะมีลูกค้าชาวต่างชาติเดินเข้ามาซื้อเองยังโครงการ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ลดการพึ่งพิงจากสินค้าประเภทคอนโดฯเพียงอย่างเดียว และกระจายการลงทุนไปในกลุ่มสินค้าบ้านแนวราบเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ เชื่อว่าภาพรวมอสังหาฯ ในปี 2563 เผชิญต่อภาวะชะลอตัวจากสภาพเศรษฐกิจและมาตรการกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาตรการเรื่องการกำหนดสัดส่วนภาระหนี้ (DSR) ที่ ธปท.จะประกาศใช้ในปีนี้ ส่งผลให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้คาดว่าตลาดอสังหาฯ ในปีนี้จะติดลบประมาณ 3% เมื่อเทียบกับปี 62

จากแนวโน้มตลาดข้างต้น ทำให้บริษัทได้ปรับทิศทางและวางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อรองรับความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยขยายการลงทุนไปยังโครงการประเภทแนวราบมากขึ้น และเพิ่มรายได้จากการให้เช่าและบริหาร จากเดิมบริษัทมีรายได้จากการขายคอนโดฯ 98-99% แต่ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ทยอยขยายไปในธุรกิจบ้านจัดสรร ซึ่งตั้งเป้ารายได้ระหว่างบ้านและคอนโดฯ มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน ซึ่งในปีนี้ตั้งเป้ารายได้จากคอนโดฯ 6,000 ล้านบาท บ้านแนวราบ จำนวน 3,000 ล้านบาท ส่วนรายได้จากการบริการและให้เช่าประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งรายได้ในส่วนนี้สามารถรองรับรายจ่ายของบริษัทได้

นายโอภาส กล่าวต่อว่า บริษัทยังให้ความสำคัญใน 3 ประเด็นหลัก คือ การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำกำไรจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การบริหารจัดการสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น เช่น การนำเอาคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จมาปล่อยเช่า เพื่อสร้างรายได้จากทรัพย์สินที่มีอยู่ รวมทั้งการเร่งการขายและโอนโครงการที่สร้างเสร็จที่มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่มีระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท หรือมีจำนวนประมาณ 3,300 หน่วย โดยประมาณการว่า จะเร่งระบายสินค้าในกลุ่มนี้ได้ไม่น้อยกว่า 50% ของมูลค่าที่มีอยู่ หรือประมาณ 5,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือนำมาปล่อยเช่า

เน้นการขยายฐานรายได้ประจำ จากธุรกิจบริการ ทั้งการบริหารจัดการอาคาร การก่อสร้าง งานที่ปรึกษา วิจัยและพัฒนา ผ่านบริษัทในเครืออย่างบริษัท ลุมพินี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด บริษัท ลุมพินี โปรเจค มาเนจเมนท์ เซอร์วิส จำกัด และบริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด โดยการขยายฐานลูกค้าจากธุรกิจบริการทั้งในส่วนของการบริหารอาคารโครงการ และงานบริการด้านวิศวกรรมจากที่ให้บริการเฉพาะในส่วนของ LPN ไปสู่ตลาดภายนอกเพื่อขยายฐานรายได้ของธุรกิจในกลุ่มนี้ โดยตั้งเป้ารายได้ในส่วนนี้เติบโตไม่น้อยกว่า 20% ในปี 2563 เทียบกับปี 2562 โดยปัจจุบัน ตลาดการบริหารจัดการอาคาร ทั้งอาคารชุดพักอาศัยและสำนักงานมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 44,000 ล้านบาทในปี 2562 และมีอัตราการเติบโตไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี

การบริหารสภาพคล่องทางการเงิน บริหารสัดส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E) ไม่เกิน 1:1 เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินให้แก่บริษัท พร้อมบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินให้มีประสิทธิภาพ โดยมีต้นทุนดอกเบี้ยอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำกว่าร้อยละ 3 ลดลงจากร้อยละ 4 เป็นผลมาจากการจัดเครดิตเรตติ้งของบริษัทที่อยู่ที่ A- โดยทริส เรทติ้ง ซึ่งสะท้อนถึงฐานะทางการเงินที่มีความมั่นคง

ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม
ศุภาลัยเพิ่มพอร์ตลงทุนต่างจังหวัด
นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมตลาดในปี 2563 ตลาดจะมีการปรับตัวเข้าสู่ภาวะสมดุล และมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น ซึ่งหากพิจารณานับจากต้นปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมลดลงมาก ซึ่งจะทำให้ซัปพลายเข้าสู่ภาวะสมดุลระหว่างดีมานด์และซัปพลาย สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของผู้ประกอบการไทย นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนในส่วนของการเปิดใช้รถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ๆ มีการก่อสร้างเพิ่มอีกหลายเส้นทาง ซึ่งหากการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากเท่าไหร่ก็จะเห็นการขายที่อยู่อาศัยดีมากขึ้นตาม

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบที่จะส่งผลกระทบตลาด ได้แก่ LTV แม้จะผ่อนเกณฑ์ลงมาบ้างแต่ก็ยังส่งผลกระทบต่อลูกค้าอยู่ การที่มีซัปพลายคงค้างในตลาดจำนวนมากผู้ประกอบการจะต้องปรับลดราคาลงมา แต่ส่งผลดีต่อผู้ซื้อ ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากจะส่งผลกระทบต่อเนื่องยาวนานเพียงใดยังคงเป็นคำถามอยู่ รวมไปถึงไวรัสโคโรนาในจีนจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อมากน้อยเพียงใดยังไม่สามารถบอกได้

“บริษัทมองว่าปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นในระยะสั้น แต่ในระยะยาวตลาดอสังหาฯ ของไทยยังเติบโตได้ในอนาคต ปัจจุบันตลาดแนวราบยังมีการเติบโตที่ดี ในภาวะที่ตลาดชะลอตัวผู้ประกอบการที่มีหนี้สินมากต่างชะลอการลงทุน เปิดโครงการใหม่น้อยลง ทำให้คู่แข่งลดลง ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีที่ศุภาลัยจะขยายการลงทุน” นายไตรเตชะ กล่าว

การที่ศุภาลัยมีหนี้สินต่อทุนที่ต่ำ ขณะที่ต้นทุนการเงินอยู่ที่ 2.31% เท่านั้นทำให้มีศักยภาพในการขายการลงทุนในภาวะตลาดชะลอตัวได้ แต่บริษัทได้ให้น้ำหนักในการลงทุนโครงการแนวราบ โดยในปี 2563 นี้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนโครงการแนวราบอยู่ที่ 34% ของการลงทุนทั้งหมด ในจำนวนนี้อยู่ในต่างจังหวัด 32% ที่เหลืออยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ที่ผ่านมา บริษัทได้ลงทุนและพัฒนาระบบต่างๆ เพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต ได้แก่ ด้านผลิตภัณฑ์ (Product) ปัจจุบันบริษัทฯ มีการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภคทั่วทุกภูมิภาค จากที่มีโครงการอยู่ในพื้นที่ 20 จังหวัดนอกกรุงเทพฯ โดยปี 2563 นี้จะเน้นการเปิดตลาดอสังหาฯ ในจังหวัดใหม่ๆ ที่มีความต้องการที่อยู่อาศัยสูง พร้อมมีโอกาสเติบโต ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก ฉะเชิงเทรา อีกทั้งเตรียมรุกตลาดแนวราบ และพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่มากขึ้น

พัฒนา Digital Platform เช่น แอปพลิเคชันที่ครอบคลุมทุกการบริการหลังการขายอย่างครบวงจร เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค มีการนำเทคโนโลยีระบบ Construction Management (CM) มาปรับใช้ภายในองค์กร โดยข้อมูลต่างๆ จะสามารถนำมาพัฒนาและวิเคราะห์กลยุทธ์ธุรกิจเพื่อสร้างความพึงพอใจของลูกค้า รวมไปถึงการพัฒนา Supalai Privilege ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อแทนคำขอบคุณลูกค้าที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทฯ ซึ่งทั้งหมดจะนำไปสู่การสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้แก่ลูกค้า (Customer Experience) เพื่อตอกย้ำความเป็นเลิศทางด้านการบริการของบริษัทฯ

ด้านนวัตกรรม (Innovation) ศุภาลัยมีการประกวดนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยแต่ละปี จะมีนวัตกรรมในด้านต่างๆ ตั้งแต่การวางผังออกแบบ การก่อสร้าง การตลาด การบริการลูกค้า การเงิน ซึ่งทำให้เกิดการสร้างสรรค์พัฒนาคุณภาพของสินค้าและการบริการเพื่อลูกค้าอย่างต่อเนื่อง


กำลังโหลดความคิดเห็น