ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ใครๆ ก็มองว่า “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง นายทหารนักการเมืองวัย 70 กว่า ออกจะดู “โบฯ” แต่รู้ไหมว่า “ลุง” คือคนที่นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ผลักดันยุทธศาสตร์อวกาศแห่งชาติ หรือเรียกสั้นๆ ว่า “นาซ่าไทยแลนด์” ให้เป็นรูปธรรม
โลกเศรษฐกิจยุคใหม่สุดล้ำที่ไทยมี “ลุง” ถือธงนำหน้านั้น มีการประเมินตัวเลขคร่าวๆ จาก ดร.เจษฎา ศิวรักษ์ หัวหน้างานฝ่ายรัฐกิจและธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท อิริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISDA) ว่า “....เริ่มมีการศึกษาและพูดถึงเศรษฐกิจบนกิจการอวกาศยุคใหม่ (Space Economy) ซึ่งปัจจุบันมีประมาณการตัวเลขไว้ที่ 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นธุรกิจที่สร้างเศรษฐกิจใหม่ที่มีขนาดใหญ่เอาเรื่อง”
ตามเทรนด์ที่ที่ปรึกษา GISDA มองว่า ปัจจุบันในวงการอวกาศและเทคโนโลยี กำลังพูดถึงเรื่องอวกาศยุคใหม่ (New Space) ซึ่งหมายถึงกิจการอวกาศที่ถูกเปิดเข้าสู่ระบบธุรกิจ (Commercial Space) จากเดิมเคยถูกมองว่าเป็นกิจการของรัฐและถูกผูกขาดไว้ได้ถูกปลดล็อกสู่การเปิดเสรี สามารถระดมทุนมาพัฒนากิจการอวกาศให้ก้าวหน้าได้เร็วกว่าเดิม ดีกว่าเดิม เข้าสู่ตลาดด้วยต้นทุนที่ต่ำลงทั้งในส่วนของผู้ให้บริการและผู้บริโภค
เช่นนี้แล้ว “ลุงป้อม” ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ต้องรีบเร่งเครื่อง ล่าสุด ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เมื่อวันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมี นายพุฒิพงษ์ ปุณณ์กันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส, ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะกรรมการ เข้าร่วม ได้เร่งรัดการจัดทำนโยบายยุทธศาสตร์ด้านกิจการอวกาศและแผนดำเนินการให้สำเร็จโดยเร็ว ประกอบด้วย
1.การจัดทำร่างแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ 2.การจัดทำร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. .... 3.การจัดตั้งสำนักงานประสานงานภูมิภาคของ UNOOSA ในประเทศไทย 4.การจัดทำ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการในการเปิดตลาดในระดับรัฐของนโยบายการพิจารณา อนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศ 5.การจัดทำแนวทางการบริหารจัดการทรัพย์สิน หลังสิ้นสุดสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ
และ 6.การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อจัดทำนโยบาย และแผนการดำเนินการเฝ้าระวังและการจราจรทางอวกาศ ทั้งนี้ เพื่อให้ส่งผลต่อการพัฒนากิจการอวกาศ และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง
เนื้องานที่เร่งรัดนั้น เป้าใหญ่เฉพาะหน้าอยู่ที่การเปิดเสรีดาวเทียม ภายหลังการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม โดยกระทรวงดีอีเอส แบะท่าหนุนหลังให้บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงดีอีเอส เป็นผู้ดำเนินการต่อ
ตามที่ นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงดีอีเอส ระบุว่า ดีอีเอส แจ้งวาระเพื่อทราบต่อที่ประชุมข้างต้นเรื่องแผนการดำเนินงานหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม 4,5,6 ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2564 โดยขอให้ดาวเทียมดวงต่อไปเป็นแบบรัฐต่อรัฐ หรือ G2G เพื่อให้หน่วยงานรัฐดำเนินการเอง
แหล่งข่าวระดับสูงจากดีเอสเอส ที่อยู่เบื้องหลังแบ็ค CAT ลุยธุรกิจดาวเทียม ปล่อยข่าวว่า มีการวางแผนไว้ว่าการประชุมนัดนี้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบขอเป็นแบบ G2G ก่อน เนื่องจาก CAT ยังไม่ได้ทำการวิเคราะห์แผนดำเนินธุรกิจซึ่งอาจทำไม่ทันปี ปี’64 รอให้ CAT ทำเสร็จให้เรียบร้อยก่อนจะเสนอที่ประชุมครั้งหน้าเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี รับทราบต่อไป
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น CAT หรือรายเก่าอย่างไทยคม หรือรายใหม่จากไหน ก็สามารถลงสนามแข่งขันได้ทั้งนั้น ดังที่ พล.อ.ท. ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หน่วยงานที่เป็นผู้รับผิดชอบทั้งเรื่องคลื่นความถี่และสิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียม ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า ภายในไตรมาสแรกของปี 2563 กิจการดาวเทียมของไทยจะก้าวสู่การแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมอย่างแท้จริง
นั่นหมายถึงว่า เมื่อแผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม รวมทั้งประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียม และหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ มีผลบังคับใช้ เท่ากับการปลดล็อกการผูกขาดสัมปทานดาวเทียมที่มีมายาวนานได้สิ้นสุดลง
“.... เป็นการปลดล็อกให้ทั้งผู้เล่นรายเดิมและรายใหม่ ได้เดินบนลู่วิ่งใหม่ แต่ กสทช.ต้องยึดหลักสำคัญ คือต้องเปิดเสรี ให้มีการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมอย่างเต็มที่ ไม่ให้เกิดการผูกขาด แต่ผู้ประกอบการไทยก็ต้องอยู่รอดด้วย” รองเลขาฯกสทช.กล่าวเอาไว้ชัดเจน
สำหรับประเทศไทยจากผลการศึกษาของ GISDA พบว่าเศรษฐกิจอวกาศของไทยสัดส่วนหลักราว 90% อยู่ที่ดาวเทียม โดย 2 ระบบที่น่าสนใจ คือ ดาวเทียมสื่อสาร และดาวเทียมนำทาง เป็นสัญญาณชี้ว่าประเทศไทยควรเริ่มต้นจากจุดนี้
ขณะที่แนวโน้มการแข่งขันในกิจการดาวเทียมและอวกาศในศตวรรษที่ 21 GISDA ชี้ว่า มีความเกี่ยวข้องทั้งเศรษฐกิจและความมั่นคง โดยจะเห็นการเกิดขึ้นของกิจการใหม่ๆ 4 ด้านเด่นๆ คือ หนึ่ง การทำเหมืองแร่ในอวกาศ (Space Mining) ถ้าต่อไปจะส่งหุ่นยนต์ไปกับยานอวกาศไปเกาะที่อุกกาบาต แล้วขุดแร่ธาตุที่สำคัญกลับมายังพื้นโลกถือว่าเป็นรายได้ของบริษัท
สอง การจัดส่งดาวเทียม จากเดิมที่ใช้ดาวเทียมใหญ่เทอะทะราคาสูง มาวันนี้มีดาวเทียมเล็กเรียกกันว่า คิวบ์แซท (Cube Sat), ดาวเทียมเล็ก (Small Satellite) ต้นทุนไม่ถึงล้านบาท น้ำหนักไม่มาก ยิงแค่ระดับวงโคจรต่ำได้ ต้นทุนส่งถูกลง จะมีกิจการใหม่ที่รับจ้างยิงดาวเทียมซึ่งจัดส่งได้พร้อมกันหลายร้อยจนถึงหมื่นดวง
สาม การท่องเที่ยวอวกาศ เช่น สเปซเอ็กซ์ ของอีลอน มัสก์ แนวคิดของการท่องเที่ยวรูปแบบนี้อาจเริ่มต้นด้วยการทัวร์อวกาศส่วนที่ติดขอบโลกก่อนแล้วต่อไปที่ดวงจันทร์หรือดาวอังคาร เป็นต้น และ สี่ ธุรกิจดาวเทียม ทั้งดาวเทียมสื่อสาร และดาวเทียมบรอดแบรนด์ ที่ส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมผู้ใช้งานปลายทางได้ รวมทั้งดาวเทียมนำทาง ที่สร้างธุรกิจใหม่เกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย
ขณะนี้ จะเห็นแนวโน้มบริษัทใหญ่ด้านดิจิทัลที่ระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ หันมาลงทุนในกิจการอวกาศยุคใหม่ ได้แก่ อีลอน มัสก์ ของสเปซเอ็กซ์, เจฟฟ์ เบซอส แห่งอเมซอน และเจ้าของกลุ่มบริษัท เวอร์จิ้น ที่มีเครือข่ายกิจการหลากหลายตั้งแต่เครื่องบินไปถึงสื่อบันเทิงและฟิตเนส
ตามข่าวของเอ็นบีซีนิวส์ และ สตาร์ลิงค์.คอม รายงานว่า เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา สเปซเอ็กซ์ ของอีลอน มัสก์ ส่งดาวเทียมสำหรับโครงการสตาร์ลิงค์ ครั้งที่ 4 ขึ้นไปบนวงโคจรต่ำของอีก 60 ดวง รวมแล้วเป็น 240 ดวง โดยสเปซเอ็กซ์ ได้รับอนุมัติให้ส่งดาวเทียมขึ้นบนวงโคจรต่ำของโลกสำหรับโครงการนี้แล้วรวม 12,000 ดวง เป้าหมายของสตาร์ลิงค์ คือเพื่อให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลกสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ลดข้อจำกัดสำหรับผู้ที่อยู่ในเขตชนบทห่างไกลที่มีปัญหาสัญญาณอินเตอร์เน็ต
สตาร์ลิงค์ วางเป้าหมายจะให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ความหน่วงต่ำ ในอเมริกาเหนือและแคนาดาในปี 2020 และจะขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมพื้นที่เกือบทั่วโลกภายในปี 2021 โดยสตาร์ลิงค์ สามารถให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในระดับ 5G ครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลกในราคาถูก ทั้งนี้รวมถึงยานพาหนะที่มีการเคลื่อนที่อย่างเรือเดินสมุทรและเครื่องบิน
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าสเปซเอ็กซ์ จะประสบความสำเร็จในโครงการสตาร์ลิงค์ และบริษัทมีโอกาสที่จะมีมูลค่ามากถึง 120,000 ล้านดอลลาร์
ความคิดในการใช้ดาวเทียมส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตจากนอกโลก ไม่ได้มีแต่ อีลอน มัสก์ เท่านั้น เจฟฟ์ เบโซส เศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกในปัจจุบันก็คิดตรงกัน โดยบริษัทอื่นๆ ที่กำลังทำโครงการอินเตอร์เน็ตในลักษณะเดียวกับสตาร์ลิงค์ เช่น Amazon, Boing, Leosat, Samsung, Facebook, Telesat, OneWeb, Iridium, Hongyan Constellation เป็นต้น
คลื่นเศรษฐกิจบนอวกาศยุคใหม่ที่ “ลุงป้อม” กำลังพาเกาะเทรนด์ล้ำๆ คนไทยพร้อมไปกับลุงกันหรือยัง?