xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ยกเลิก7 มติครม.เข้าใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น1 เอ-บี รองรับกฎกระทรวงรายงานสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ข้ามปีมาแป๊บเดียว คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานรวมถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เสนอให้รัฐบาล "ยกเลิกและทบทวน" มติครม.ในอดีต“เกี่ยวกับการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1”ถึง 7 ฉบับ เกี่ยวกับพื้นที่ของ “กองทัพอากาศ การทำเหมืองในป่าปิด ลุ่มน้ำยมน้ำน่าน ลุ่มน้ำมูลน้ำชี ลุ่มน้ำภาคใต้ ลุ่มน้ำภาคตะวันออก ภาคกลาง และลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมไปถึงลุ่มน้ำชายแดน”

เนื่องจากการดำเนินโครงการพัฒนา เช่น โรงเรียน สถานีอนามัย การซ่อมถนน ฯลฯ โดยส่วนมากอยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ชั้นที่ 1 ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามประกาศ 19 พ.ย.61

ก่อเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ ทำให้ไม่สามารถเร่งรัดดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลได้ และมีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน และแนวทางการพัฒนาประเทศตามนโยบายรัฐบาล

ข้อเสนอของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากเสนอให้ยกเลิกดังกล่าว ยังขอให้ปรับปรุงแก้ไข ประกาศกระทรวงฯ โดยได้ความเห็นชอบให้จัดทำร่างประกาศกระทรวงฯ เรื่องกำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่..) พ.ศ.ไว้แล้ว

มติครม.ที่ยกเลิกไปมีอะไรบ้าง

1. ให้ยกเลิกมติ ครม.เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.46 (เรื่อง ขอผ่อนผันยกเว้นมติครม.เพื่อให้กองทัพอากาศใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ) เฉพาะในส่วนของข้อ 2.2 ที่ขอแก้ไขมติครม.เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.32 "ที่มิให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ไม่ว่ากรณีใด เป็นว่ากรณีจำเป็นที่ต้องขอผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ต่อ ครม.ส่วนราชการจะต้องจัดทำรายงานการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาก่อน เพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของครม.ทุกครั้ง"

2. ให้ยกเลิกมติครม.เมื่อวันที่ 28 พ.ค.28 (เรื่อง ขอทบทวนมติครม.เกี่ยวกับการกำหนดชั้นของป่าต้นน้ำลำธารและการทำเหมืองในพื้นที่ป่าปิด) "เฉพาะในส่วนที่เห็นชอบตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เกี่ยวกับมาตรการการใช้ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี ในเขตลุ่มน้ำปิงและวัง

3. ให้ยกเลิกมติครม.เมื่อวันที่ 21 ต.ค.29 (เรื่อง มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำยมและน่าน และข้อเสนอแนะมาตรการการใช้ที่ดินในเขตลุ่มน้ำ) "เฉพาะในส่วนที่เห็นชอบตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเกี่ยวกับมาตรการการใช้ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี ในเขตลุ่มน้ำยมและน่าน

4.ให้ยกเลิกมติครม.เมื่อวันที่ 12 ก.ค.31 (เรื่อง มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำมูลและชี และข้อเสนอแนะมาตรการการใช้ที่ดินในเขตลุ่มน้ำ) "เฉพาะในส่วนที่เห็นชอบตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเกี่ยวกับมาตรการการใช้ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี ในเขตลุ่มน้ำมูลและชี

5. ให้ยกเลิกมติครม.เมื่อวันที่ 7 พ.ย.32 (เรื่อง มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำภาคใต้ และข้อเสนอแนะมาตรการการใช้ที่ดินในเขตลุ่มน้ำ) เฉพาะในส่วนที่เห็นชอบตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเกี่ยวกับมาตรการการใช้ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี ในเขตลุ่มน้ำภาคใต้

6. ให้ยกเลิกมติครม.เมื่อวันที่ 19 พ.ย.34 (เรื่อง มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดชั้นคุณภาพน้ำภาคตะวันออก และข้อเสนอแนะมาตรการการใช้ที่ดินในเขตลุ่มน้ำ) เฉพาะในส่วนที่เห็นชอบตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเกี่ยวกับมาตรการการใช้ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี ในเขตลุ่มน้ำภาคตะวันออก

7. ให้ยกเลิกมติครม.เมื่อวันที่ 21 ก..38 [เรื่อง มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำภาคตะวันออก ภาคกลาง และลุ่มน้ำป่าสัก และการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนอื่น ๆ (ลุ่มน้ำชายแดน)] เฉพาะในส่วนที่เห็นชอบตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเกี่ยวกับมาตรการการใช้ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี ในเขตลุ่มน้ำภาคตะวันตก ภาคกลาง และลุ่มน้ำป่าสัก ในเขตลุ่มน้ำภาคเหนือส่วนอื่น ๆ และในเขตลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนอื่น ๆ (ลุ่มน้ำชายแดน)

ทั้ง 7 ฉบับนี้ มีการกำหนดให้ในกรณีส่วนราชการใดมีความจำเป็นต้องใช้ที่ดินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในโครงการที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติแล้ว ให้ส่วนราชการเจ้าของโครงการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณา

นอกจากยกเลิก ทั้ง 7 ฉบับ รัฐบาลยังเห็นชอบตามบอร์ดสิ่งแวดล้อม ในการขอเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2561 และประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการ

ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 รวมถึงมติครม.เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.32 (เรื่อง ขอผ่อนผันใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เพื่อก่อสร้างทางเพื่อความมั่นคง) อย่างเคร่งครัดในกรณีโครงการ กิจการ หรือการดำเนินงานของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ได้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ก่อนวันที่ประกาศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงือนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้

เมื่อครบกำหนดการขออนุญาตให้ใช้พื้นที่ลุ่มน้ำแล้วยังประสงค์จะใช้พื้นที่ลุ่มน้ำดังกล่าวต่อไป โดยเป็นการดำเนินโครงการ กิจการหรือการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์เดิมและอยู่ภายในขอบเขตพื้นที่เดิม รวมถึงกรณีโครงการ กิจการ หรือการดำเนินงานอื่น ๆ ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : รายงาน EIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดังกล่าว

แต่ต้องจัดทำรายงานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Accounting Report : รายงาน

EAR) ให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการ กิจการ หรือการดำเนินงานนั้น ๆ ถือปฏิบัติให้เป็นไปตามรายงาน EAR อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่อนุมัติหรืออนุญาต เช่น กรมป่าไม้หรือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ติดตาม กำกับดูแลการดำเนินการให้เป็นไปตามรายงาน EAR ดังกล่าวอย่างเคร่งครัดด้วย

ในการดำเนินการทั้งหมดนี้ หากปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการกระทำการ ไม่กระทำการ หรือการดำเนินการใด ๆ ทั้งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐหรือเอกชนที่ไม่ถูกต้องตามข้อกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ มติคณะรัฐมนตรี ประกาศ ตลอดจนข้อกำหนดและเงื่อนไขในรายงานที่เกี่ยวข้อง "ให้ถือเป็นความผิดอันก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ และให้ผู้มีอำนาจหน้าที่เร่งดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายอย่างเข้มงวด"

ขณะที่ สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ให้ความเห็นต่อการยกเลิกและทบทวน “เกี่ยวกับการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1”แม้จะเห็นด้วยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำ "รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ" เพื่อเสนอความเห็น ประกอบการพิจารณาของครม.

เนื่องจากได้มีการแก้ไขประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ซึ่งครอบคลุมเกี่ยวกับการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำไว้แล้ว และข้อกำหนดของประกาศกระทรวงดังกล่าวมีความสอดคล้องกับมติครม.เดิมโดยกำหนดให้มีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับการขอใช้พื้นที่ลุ่มน้ำขั้นที่ 1 สำหรับ โครงการทุกประเภท ทุกขนาด และเสนอรายงานต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อเสนอความเห็น ประกอบการพิจารณาของครม.

แต่ "สภาพัฒน์" เห็นว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรทำการศึกษาเพื่อประเมินสถานการณ์ปัจจุบันของพื้นที่ป่าต้นน้ำของประเทศไทยทั้งในภาพรวม และในเชิงพื้นที่ของแต่ละลุ่มน้ำ

"ให้มีความชัดเจนว่าอยู่ในสภาวะอย่างไร ประเทศไทยจำเป็นต้องมีพื้นที่ป่าต้นน้ำเท่าไร พื้นที่ที่คงเหลืออยู่นั้นเพียงพอหรือไม่ พื้นที่ใดที่อยู่ในภาวะวิกฤติ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายที่ถูกต้องตามสภาพความเป็นจริงของประเทศในภาพรวม และตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ทั้งในการให้อนุญาตทำประโยชน์ การกำกับดูแล และการฟื้นฟูต่อไป".




กำลังโหลดความคิดเห็น