ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ความพยายามของรัฐในการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง โดยเฉพาะการเร่งรัดก่อสร้าง “กำแพงกันคลื่น” ประชิดชายหาดในหลายพื้นที่ของเมืองไทย สถานการณ์ไม่ต่างจาก “ลิงแก้แห ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง”
สถานการณ์ล่าสุด กำแพงกันคลื่นกำลังกัดกินภูมิทัศน์ “หาดมหาราช” อ.สทิงพระ จ.สงขลา โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปักหมุดสร้างกำแพงกันคลื่น เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ท่ามกลางคำถามว่า หาดทรายสมบูรณ์ที่แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพ ไร้ร่องรอยการกัดเซาะ จำเป็นต้องมีโครงสร้างทางวิศวกรรมป้องกันชายหาดหรือไม่? ไม่มีทางเลือกอื่นเชียวหรือ?
กล่าวสำหรับ กำแพงกันคลื่น (Sea Wall) เป็นโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง ทำหน้าที่รับแรงปะทะของคลื่นที่วิ่งเข้ามาสู่ชายหาด ลักษณะมีหลายรูปแบบ เช่น แบบหินทิ้ง, แบบกระสอบทราย, แบบเข็มพืด, แบบเกเบี้ยน ฯลฯ แต่เดิมนั้นเป็นโครงการที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งเเวดล้อม (EIA) เพราะหากไม่มีการพิจารณาอย่างรอบด้าน กำแพงกันคลื่นจะเป็นตอของปัญหาทำให้ชายหาดเกิดการกัดเซาะชายฝั่งเสียเอง
กระทั่งปี 2556 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มี “นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี” เป็นรัฐมนตรีว่าการฯ ได้ออกประกาศกระทรวงฯ เรื่อง กําหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการ ซึ่งต้องจัดทํารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทํารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2556 ) ลงวันที่ 11 พ.ย.2556
สรุปความได้ว่า ยกเลิก EIA โครงการก่อสร้างกำแพงริมชายฝั่ง ติดแนวชายฝั่งทุกขนาดที่มีความยาวตั้งแต่ 200 เมตร ส่งผลให้โครงการดังกล่าว ไม่ต้องมีกระบวนการศึกษา และประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยให้เหตุผลว่า EIA ทำให้เกิดการก่อสร้างล่าช้าไม่ทันการ รัฐต้องรีบเร่งดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเพื่อป้องกันเยียวยาความเสียหายผลที่เกิดขึ้นกับชุมชนริมชายฝั่ง
ขณะที่ข้อมูลวิชาการระบุชัดถึงผลกระทบของกำเเพงกันคลื่น จะก่อให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงตามมา โดยเฉพาะบริเวณด้านท้ายน้ำช่วงสิ้นสุดโครงสร้างกำแพงกันคลื่น เกิดการสะท้อนกลับของคลื่นที่วิ่งเข้ามาปะทะหน้ากำแพงกันคลื่น ทำให้คลื่นที่สะท้อนกลับหอบนำทรายหน้ากำแพงกันคลื่นออกไปในทะเล นอกจากนี้ ยังกระทบต่อการเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ชายหาดอีกด้วย
กำแพงกันคลื่นไม่สามารถยับยั้งสถานการณ์กัดเซาะชายฝั่ง มิหนำซ้ำ ยังเป็นการซ้ำเติมให้เกิดการกัดเซาะที่รุนแรงต่อเนื่องไม่รู้จบ ที่สำคัญ “ช่องว่างทางกฎหมาย” เปิดไฟเขียวไม่ต้องทำ EIA ดูจะกลายเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ของนายทุน สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินทั้งการลงทุนก่อสร้าง และการบำรุงรักษาในระยะยาว
จะเห็นว่าในหลายพื้นที่ทั้งชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน มีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหลายจุด เช่นเดียวกัน มีการซ่อมแซมระยะยาวอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากมีอายุการใช้งานเพียงไม่กี่ปี พื้นที่ด้านล่างเกิดการกดทับ คลื่นกระทบกำแพงกั้น ทำให้คลื่นสูง โอกาสกำแพงพังมีมาก
นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งของรัฐที่มุ่งเน้นการรักษาเส้นแนวชายฝั่ง โดยการสร้างแข็งอย่างกำแพงกันคลื่น ส่งผลให้การกัดเซาะชายฝั่งลุกลามในวงกว้างไปยังพื้นที่ ผลกระทบของกำเเพงกันคลื่น จะทำให้ชายหาดฝั่งท้ายน้ำบริเวณช่วงสิ้นสุดโครงสร้างกำแพงกันคลื่น เกิดการกัดเซาะอย่างรุนเเรง เนื่องจากเกิดการสะท้อนกลับของคลื่นที่วิ่งเข้ามาปะทะหน้ากำแพงกันคลื่น ทำให้คลื่นที่สะท้อนกลับหอบนำทรายหน้ากำแพงกันคลื่นออกไปในทะเล เกิดการเปลี่ยนแปลงดินตะกอนใต้น้ำทำให้โครงสร้างชำรุดทรุดตัวและพังไปในที่สุด ยังรวมไปถึงการสูญเสียภูมิทัศน์หาดทรายสวยงาม และกระทบต่อการเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ชายหาด
อย่างไรก็ตาม ภายหลังเพิกถอน EIA ผลจากการ “ยกเลิก EIA กำแพงกันคลื่น” ทำให้มีการเร่งเครื่องก่อสร้างได้โดยไม่สนใจผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะยาว เกิดการกำเเพงกันคลื่นกัดกินชายหาดทั่วประเทศไทยเป็นจำนวนมาก มีการเสนอโครงการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นบนชายหาดหลายพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน รวมเเล้วไม่ต่ำกว่า 50 โครงการ ภายใต้การดำเนินการโดยหน่วยงานหลักๆ อย่าง “กรมโยธาธิการเเละผังเมือง” เเละ “กรมเจ้าท่า”
ทั้งนี้ ในปี 2563 มีการตั้งงบประมาณไว้ราวๆ 1.4 พันล้านบาท เร่งดำเนินการในพื้นที่เป้าหมายใน 15 จังหวัดชายฝั่งทะเล จาก 23 จังหวัดชายฝั่งทะเล ซึ่งบางโครงการยังไม่ได้ระบุรายละเอียดว่าจะเป็นโครงสร้างรูปแบบใด ความยาวเท่าไหร่ สามารถก่อสร้างได้ทันทีโดยไม่ต้องมีกระบวนการศึกษา และประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
ขณะที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวระหว่างการอภิปรายจากฝ่ายค้านของประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ถึงสถานการณ์ปัญหากัดเซาะชายฝั่งเมืองไทย เปิดเผยว่าชายฝั่งประมาณ 3,000 กม.ในพื้นที่ 23 จังหวัด พบมีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งร้อยละ 25 หรือ 700 กิโลเมตร
เบื้องต้นแก้ปัญหาแล้ว 640 กม. เหลือเพียง 80 กม.ที่กำลังเร่งดำเนินการ โดยแบ่งแนวทางแก้ไขเป็น 3 ระดับ พบมีกัดเซาะรุนแรงประมาณ 20 กม.กัดเซาะปานกลาง 29 กม.และกัดเซาะน้อย 37 กม.ดำเนินการแก้ปัญหาด้านโครงสร้างวิศวกรรมที่แข็งแรง 2 ส่วน คือ การทำกำแพงกันคลื่น 240 กม. และการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล 225 กม.
ย้อนกลับไปเมื่อ ปี 2561 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง 3 ระดับ คือ “มาตรการสีขาว” ลดผลกระทบของการกัดเซาะต่อสิ่งมีชีวิต และประชาชนในพื้นที่ด้วยการกำหนดแนวถอยร่นเข้ามา “มาตรการสีเขียว” รักษาเสถียรภาพและป้องกันการกัดเซาะโดยใช้วิธีการปลูกป่า การฟื้นฟูป่าชายหาด และป่าชายเลน และ “มาตรการสีเทา” การป้องกันด้วยการใช้เขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล และกำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาด
“การกัดเซาะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก คลื่นลมและกระแสน้ำในทะเลในแต่ละฤดูกาลของแต่ละช่วงของปี ส่งผลให้อัตราพื้นที่การกัดเซาะเปลี่ยนแปลงไป ยืนยันรัฐบาลให้ความสำคัญมากเป็นอันดับต้นๆ ของนโยบาย” นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าว
ที่สำคัญภาครัฐเลือกดำเนินตามมาตรการที่สร้างผลกระทบมากที่สุดคือ กำแพงกันคลื่น ซึ่งเป็นสิ่งเลวร้ายที่สุดในบรรดาเครื่องมือป้องกันชายฝั่ง
ในประเด็นนี้ นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง จากศูนย์เรียนรู้วิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อนุกรรมการบูรณาการด้านการจัดการการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ร่อนจดหมายเปิดผนึกถึง “นายวราวุธ ศิลปอาชา” รมว.กระทรวงทรัพย์ฯ ผ่านทางเฟซบุ๊ก Sakanan Plathong ตอนหนึ่งความว่า
“...ผมเห็นว่า พื้นที่ที่มีการดำเนินแก้ไขแล้วหลายบริเวณ หลายโครงการเป็นการแก้ไขปัญหาที่ผิดพลาด ส่งผลให้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงขึ้นทั้งจากการสะท้อนกำแพงพัดพาหาดทรายด้านหน้ากำแพงให้หายไป และยังลุกลามไปยังพื้นที่ข้างเคียง พื้นที่ที่กำลังมีปัญหากัดเซาะชายฝั่งระยะทาง 90 กิโลเมตร เป็นผลมาจากกำแพงและกองหินกันคลื่น เป็นระยะทางถึง 33 กิโลเมตร หรือ 1 ใน 3 ของสาเหตุการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศ และกำลังส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นโดมิโน อย่างไม่รู้จบ สิ้นเปลืองงบจำนวนมาก”
“ในการนี้ ผมได้ส่งหนังสือ ขอให้กระทรวงมหาดไทย ที่กำกับดูแลกรมโยธาธิการและผังเมือง และหน่วยงานระดับภูมิภาค (จังหวัด) และระดับท้องถิ่น ซึ่งกำลังมีโครงการก่อสร้างกำแพงริมฝั่ง ติดชายฝั่ง ทั้งกำแพงคอนกรีต กองหิน และกระสอบทรายยักษ์อยู่ทั่วทุกจังหวัดชายฝั่งทะเล โดยไม่มีการไตร่ตรองทางวิชาการถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมใดๆ ผมจึงได้เสนอให้มีกระบวนการตรวจสอบทางวิชาการ เพื่อยับยั้งการใช้งบประมาณไปในทางที่ส่งผลเสียในระยะยาว
“ผมเสนอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเร่งรัดให้มีกลไกการดำเนินการที่จะต้องให้มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของโครงการก่อสร้างริมทะเลทุกประเภท ทั้งนี้โดยใช้แนวทางตาม Environmental Checklist ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดทำร่างขึ้นมา ซึ่งจะต้องมีการออกระเบียบ ประกาศ พร้อมกลไกการตรวจสอบที่เกี่ยวข้องโดยเร่งด่วน เพื่อหยุดยั้งโครงการที่จะส่งผลต่อชายหาดทั่วประเทศ…”
และก่อนหน้านี้ นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง ได้ทำหนังสือเปิดผนึกถึง “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กรณีการทำโครงการกำแพงกันคลื่นแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง โดยระบุความว่าสาเหตุที่ทำให้มีโครงการเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการปลดล็อกการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA โดยเรียกร้องให้ทบทวนการจัดทำ EIA และงบแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ให้พิจารณาข้อมูลทางวิชาการที่รอบด้าน มิใช่อ้างความต้องการของชาวบ้านเร่งรัดโครงการฯ
นายศักดิ์อนันต์ ได้เปิดใจถึงการทำ “หนังสือเปิดผนึก” ทั้ง 2 ฉบับ เอาไว้ว่าไม่ได้ต้องการเบรกโครงการฯ ในภาพรวม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีปัญหากัดเซาะที่มีบ้านเรือนชาวบ้านตั้งอยู่ และมีผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่ง แต่พื้นที่บางแห่งมีโครงการฯ ผุดขึ้นเกินความจำเป็น ในส่วนนี้จะยิ่งเพิ่มปัญหากัดเซาะเป็นโดมิโน่ๆ ยิ่งกำแพงกั้นคลื่นยิ่งทำยิ่งพัง
อีกทั้ง ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่มีการนำเสนอข้อมูลชี้ให้เห็นถึงปัญหาการทำกำแพงกันคลื่น เขื่อนหินทิ้ง แต่ไม่เห็นผลในเชิงประจักษ์ว่าภาครัฐมีการทบทวน หรือมีมาตรการอื่นๆ ในประเด็นนี้ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ตั้งกระทู้ถาม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในสภาฯ ชี้ให้เห็นว่าท่านตอบคำถามจากข้อมูลที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ทำมาให้ว่ามาจากความต้องการของประชาชนท้องถิ่นดำเนินการแก้ไขให้ สะท้อนว่าท่านได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน
“การทำโครงการโดยผู้ที่ไม่มีไม่รู้จักทะเล ไม่รู้จักคลื่นขาดข้อมูลทางวิชาการ ทำให้หลายแห่งยิ่งทำยิ่งพังเพราะไม่ทำรูปแบบโครงการที่เหมาะสม ทั้งที่ มีมติ ครม.16 ม.ค. 2561 ในเรื่องนี้แล้วแบ่งเป็น 3 ระดับสีขาว สีเขียว และเทา แต่แทบทุกโครงการใส่งบ และเลือกที่จะทำโครงสร้างแข็งทันที” นายศักดิ์อนันต์ กล่าวไว้
กล่าวสำหรับ ในการดำเนินการแก้ปัญหาชายฝั่งทะเล การก่อสร้างต่างๆ นั้น อยู่ภายใต้หน้าที่ของฝ่ายโยธาธิการทั้งส่วนกลางส่วนภูมิภาค และหน่วยงานในท้องถิ่นทุกระดับที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งอยู่สังกัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งไม่มีความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมเรื่องทะเล แต่การดำเนินการในส่วนนี้จำเป็นมีหน่วยงานที่มีความรู้เรื่องร่วมดำเนินการแก้ปัญหา เพราะการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นที่มีไม่ศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้านในแต่ละพื้น จะเกิดปัญหากัดเซาะชายฝั่งรุนแรงตามมา
นอกจากนี้ ในงานเสวนา “กำแพงและกองหินกันคลื่น ยิ่งสร้าง ยิ่งพัง (เมื่อไม่ต้องทำ EIA) จริงหรือ?” อ้างอิงถึงงานวิจัยต่างๆ ทั่วโลก ระบุตรงกันว่า กำแพงกันคลื่นเป็น Dead of the Beach คือตัวการทำให้ชายหาด ชายฝั่ง หายไปตลอดกาล ทางวิชาการบอกชัดเจนว่ากำแพงกันคลื่นสร้างผลกระทบแรงที่สุดในบรรดาวิธีแก้ปัญหาที่ผ่านมา
“เมื่อใดก็ตามที่ทำกำแพงจะไม่ได้ชายหาดกลับคืนมา แต่ปรากฏว่าบ้านเราทำได้อย่างอิสระ ตั้งแต่ส่วนกลางลงไปถึงท้องถิ่น ใครมีปัญหาตรงไหนสร้างกำแพงได้ทันที แม้แต่เขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่งที่สร้างผลกระทบน้อยกว่าก็ยังเป็นโครงการที่ต้องทำ EIA แต่กลับกลายเป็นว่ากำแพงกันคลื่นเป็นโครงสร้างที่ไม่ต้องศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมใดๆ มีบางโครงการเจ้าของบอกกว่าศึกษาส่งผลกระทบ มีการรับฟังความคิดเห็นว่าประชาชนอยากได้รึเปล่า จ้างบริษัทที่ปรึกษามาทำรายงานว่าจำเป็นต้องสร้าง แต่เป็นการศึกษากันเองที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากนักวิชาการ ไม่ถูกกระบวนการตามหลักวิชาการ มีแต่เอกสารภายในหน่วยงานเพื่อประกอบการพิจารณาว่าทำได้” นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง จากศูนย์เรียนรู้วิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อนุกรรมการบูรณาการด้านการจัดการการกัดเซาะชายฝั่งทะเล กล่าวถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
บทสรุปของแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง กำแพงกันคลื่น (Sea Wall) เป็นโครงสร้างป้องกันชายฝั่งก็จริง แต่หากไม่ศึกษาผลกระทบรอบด้านย่อมเกิดความเสียหายรุนแรง ตั้งแต่ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม
อย่างไรก็ตาม มีการพูด แนวทางการฟื้นฟูปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยตัวเอง Green to Gray หรือ นโยบายสีเขียว ซึ่งเป็นการให้หาดทรายคืนฟื้นตัวด้วยตัวเอง หรือการเข้าไปช่วยปลูกป่าชายเลน ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ แต่อาจไม่ใช่ทุกที่ที่สามารถจัดการด้วยวิธีการเดียวกันได้ ต้องเลือกพิจารณาการแก้ปัญหาตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงนโยบาย Green to Gray โดยแนวทางการจัดทำแผนงานโครงการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง แนวทางการแก้ไขที่ภาครัฐโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยึดหลัก Green to Gray 4 แนวทาง ประกอบด้วย
1. การปรับสมดุลชายฝั่งทะเลโดยธรรมชาติ คือการคงไว้ซึ่งสภาวะสมดุลของชายฝั่งตามธรรมชาติเพื่อปล่อยให้ชายฝั่งที่เกิดการกัดเซาะได้มีการปรับสมดุลและฟื้นคืนสภาพด้วยตัวเอง 2. การป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง คือ การดำเนินกิจกรรมใดๆ เพื่อป้องกันพื้นที่ชายฝั่งที่มีการกัดเซาะให้มีอัตราการกัดเซาะลดลง 3. การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง การดำเนินกิจกรรมเพื่อแก้ปัญหาการกัดเซาะบริเวณชายฝั่งทั้งรูปแบบที่สอดคล้องธรรมชาติ เลียนแบบธรรมชาติหรือโครงสร้างทางวิศวกรรม เพื่อแก้ไขต้นเหตุของการกัดเซาะชายฝั่ง และ 4. การฟื้นฟูเสถียรภาพชายฝั่ง คือ การดำเนินกิจกรรมเพื่อให้ชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะฟื้นคืนสภาพเดิมตามธรรมชาติ
ข้อมูลเปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2495 - 2560 แม้สถานการณ์ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของไทยจะลดลง โดยปี 2495 - 2551 พบว่า มีชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะสูงถึง 830 กม. ปี 2554 พื้นที่กัดเซาะลดลงเหลือ 696 กม. และลดลงเหลือ 145 กม. ในปี 2560
ทว่า การแก้ปัญหากัดเซาชายฝั่งโดยก่อสร้างโครงสร้างแข็งอย่างกำแพงกันคลื่น เป็นเพียงการประทังหรือชะลอเท่านั้นแต่ปัญหาไม่ได้หมดไป วิธีการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของไทยที่ผ่านมา มุ่งเน้นที่การรักษาแนวชายฝั่ง ไม่ใช่การรักษาระบบนิเวศชายฝั่ง ทำให้การแก้ปัญหาออกมาในรูปแบบของการทำโครงสร้าง เพื่อรักษาแนวชายฝั่งไม่ให้ถูกกัดเซาะมากขึ้น
ในความเป็นจริงการที่ชายฝั่งถูกกัดเซาะจะทำให้ระบบนิเวศชายฝั่งหายไป ซึ่งการแก้ปัญหาที่ผ่านมาไม่ได้ระบบนิเวศหาดทรายกลับคืนมา ซึ่งตัวชี้วัดที่สำคัญของความสำเร็จในการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่สำคัญ คือ การรักษาสถานภาพของระบบนิเวศชายหาดให้คงอยู่ ควบคู่กันไปพร้อมกับการรักษาชายหาด ตรงกันข้าม ความพยายามแก้ไขการกัดเซาะของรัฐที่ผ่านมา กลายเป็นการก่อปัญหาขยายพื้นที่กัดเซาะชายฝั่ง
สำหรับแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย ภายใต้โครงการจัดทำ “ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อในประเด็นเร่งด่วนเกี่ยวกับผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลของประเทศไทย” ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เสนอแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย แบ่งออกเป็น 4 ประเด็นหลัก
1. ป้องกันที่สาเหตุการกัดเซาะชายฝั่ง กิจกรรมชายฝั่ง ประกอบด้วย การประกาศเขตถอยร่น (set back zone) ระงับกิจกรรมที่มีความเสี่ยงที่ทำให้สมดุลตะกอนในบริเวณชายหาดเกิดการเปลี่ยนแปลง ปกป้อง ดูแล และรักษาระบบนิเวศที่เป็นแนวกันคลื่น เช่น ปะการัง ป่าชายเลน เป็นต้น
2. แก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยการปฏิบัติตามแนวทาง Green to Gray การตรวจสอบและซ่อมแซมโครงสร้างแข็งที่ชำรุดหรือทรุดโทรม และสำหรับโครงการแก้ไขปัญหาที่ไม่ต้องผ่าน IEE หรือ EIA หรือ EHIA รวมถึง Environmental check list นั้น จะต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบด้วยจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
3. จัดการปัญหาที่เกิดจากผลกระทบของการกัดเซาะชายฝั่ง ในกรณีพื้นที่ตกน้ำ กำหนดให้ผู้ที่สูญเสียพื้นที่ที่มีเอกสิทธิ์ในที่ดินจำเป็นต้องแสดงสิทธิ์เพื่อครอบครองพื้นที่ สร้างมาตรการเยียวยาสำหรับผู้ที่เดือดร้อน เช่น การจัดการที่อยู่อาศัยใหม่ในมาตรฐานเดียวกับพื้นที่เก่า และในกรณีพื้นที่ที่งอกใหม่ ต้องมีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ใหม่ให้ชัดเจน มีการจัดทำกระบวนการที่มีส่วนร่วมเพื่อจัดการการใช้ประโยชน์ของพื้นที่
4. เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ประกอบด้วย การบูรณาการ ปรับปรุงและจัดทำระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ระบุดัชนีชี้วัดและตัวชี้วัดร่วมของความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งให้ชัดเจนเพื่อสะท้อนยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูป และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มีการกำหนดเขตกิจกรรมการใช้ประโยชน์และการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเล เป็นต้น
คงต้องติดตามกันว่าการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งของไทย จะดำเนินไปในทิศทางใด “สร้างสรรค์” หรือ “ทำลาย” อย่าปล่อยให้ “กำแพงกันคลื่น” กลายเป็น “อนุสรณ์แห่งหายนะ”
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ Facebook : Beach for life