xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงเป็นประธานการประชุมโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริฯ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นองค์ประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

วันนี้ (5 ม.ค.) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นองค์ประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในวันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม 2563 ระหว่างเวลา 11.00 – 13.00 น. ณ หอประชุมภูติอนันต์ โรงเรียนนายเรือ อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ

การประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มีวัตถุประสงค์เพื่อถวายรายงานผลการดำเนินงานโครงการฯ ประจำปี 2562 และแผนงานการดำเนินโครงการฯ ประจำปี 2563 โดย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นองค์ประธานการประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยคณะกรรมการอำนวยการโครงการฯ และคณะกรรมการดำเนินงานโครงการฯด้านต่างๆ กว่า 260 คนรวมทั้งมีการปฏิบัติที่สำคัญประกอบด้วย ทรงทอดพระเนตรวีดิทัศน์สารคดีโครงการฯ ทรงพระราชทานพระราโชบายเกี่ยวกับการดำเนินโครงการฯ ทรงปล่อยปลาฉลามและเต่าทะเล ทรงทอดพระเนตรนิทรรศการของหน่วยงานสนองพระดำริฯ ทรงทอดพระเนตรการปล่อยเต่าทะเล จำนวน 34 ตัว ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี จังหวัดสงขลา จังหวัดภูเก็ต ผ่านระบบการประชุมทางไกลวีดิทัศน์พร้อมกันทั่วประเทศ และทรงฉายพระรูปร่วมกับคณะกรรมการโครงการฯ

กองทัพเรือ ได้สนองพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการดำเนินงานสนับสนุน “โครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยในพระดำริพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” โดยทรงมีความห่วงใยปัญหาเรื่องความเสื่อมโทรม ของทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเล การทำร้ายสัตว์ทะเลด้วยน้ำมือมนุษย์โดยตั้งใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนั้น การอนุรักษ์และการสร้างจิตสำนึกในการ หวงแหนและรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนระบบนิเวศ ที่มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลไทย โดยบูรณาการความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ กรมประมง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ เพื่อจัดทำและดำเนินโครงการ แผนงาน และกิจกรรมต่าง ๆ ที่สามารถตอบสนองพระดำริของพระองค์ท่านได้อย่างเป็นรูปธรรม ในการรักษาสิ่งแวดล้อมใต้ท้องทะเลไทย

" โครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา " ได้ดำเนินโครงการฯจำนวน 3 ด้าน ประกอบด้วย

1.ด้านการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ ประกอบด้วยแผนงานศูนย์รักษาพยาบาลสัตว์ทะเลและเครือข่ายประสานงาน และแผนงานสนับสนุนการอนุรักษ์พะยูน โดยมีอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นประธานกรรมการ

2.ด้านการอนุรักษ์ท้องทะเลไทยและแนวปะการัง ประกอบด้วยแผนงานจัดทำปะการังเทียม และแผนงานอนุรักษ์ท้องทะเล โดยมีอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นประธานกรรมการ

3.ด้านการรณรงค์ปลูกจิตสำนึกและประชาสัมพันธ์ ประกอบด้วยแผนงานเสริมสร้างจิตสำนึก และแผนงานประชาสัมพันธ์โครงการ โดยมีเจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารเรือ เป็นประธานกรรมการ

ผลการดำเนินโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในปี 2562 ที่ผ่านมา มีการดำเนินการที่สำคัญสามารถสรุปได้ดังนี้

1. ด้านการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธ์ มีการจัดตั้ง หน่วยย่อยปฐมพยาบาลสัตว์ทะเลหายาก และชุดเคลื่อนที่เร็วและประสานงานเพื่อช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก ในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเล สามารถช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากได้ 180 ตัว มีการจัดโครงการศึกษาวิจัยเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ เช่น โครงการศึกษาการเคลื่อนที่ของปลากระเบนเจ้าพระยา โครงการประยุกต์ใช้ วัตถุสิ่งจูงใจต่อการลดพฤติกรรมการกัดของเต่าทะเล โครงการคู่มือปลากระดูกอ่อนที่พบในน่านน้ำไทยและน่านน้ำใกล้เคียง โครงการประเมินสัดส่วนเพศเต่าตนุ และโครงการพัฒนา Application Sea Turtle Book บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ ด้านการให้ความรู้ มีการฝึกอบรมช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากในพื้นที่อ่าวไทย และทะเลอันดามัน จำนวน 10 ครั้ง มีผู้เข้ารับการอบรม จำนวนทั้งสิ้น 370 คน มีการจัดโครงการอนุรักษ์พะยูน เช่น โครงการขยายพื้นที่ปลูกหญ้าทะเลและผูกทุ่นแนวเขต โครงการเสริมสร้างรูปแบบวิถีชุมชนแบบผสมผสานและโครงการอนุบาลลูกพะยูน “มาเรียม” และ “ยามิล” ซึ่งพลัดหลงจากแม่ที่จังหวัดกระบี่ ในห้วงเดือนเมษายนและกรกฎาคม ๒๕๖๒ ถึงแม้จะไม่สามารถรักษาชีวิตของลูกพะยูนทั้งสองไว้ได้ แต่อย่างน้อย เราก็ได้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของทุก ๆ ฝ่าย และสามารถนำประสบการณ์ไปพัฒนาโครงการอนุรักษ์พะยูนต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการลงนามปฏิญญาอนุรักษ์เต่าทะเลแห่งประเทศไทย และการติดตามการขึ้นวางไข่ของเต่าทะเล ซึ่งพบเต่าทะเลขึ้นวางไข่ ณ บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า หมู่เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง บริเวณอุทยานแห่งชาติ หมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา และบริเวณเกาะกระ จังหวัดนครศรีธรรมราช ตรวจพบไข่เต่าทะเล จำนวนทั้งสิ้น 845 ฟอง

2. ด้านอนุรักษ์ท้องทะเลและแนวปะการัง มีการวาง ปะการังเทียม เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน จำนวน 1,850 แท่ง จากการติดตามประเมินผลปรากฏว่าสัตว์ทะเลในพื้นที่ดังกล่าวมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น มีการจัดทำโครงการอนุรักษ์ท้องทะเลไทย เช่น โครงการบริหารจัดการและซ่อมแซมทุ่นเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ในพื้นที่ 9 จังหวัด รวม 360 จุด โครงการฟื้นฟูปะการังแบบบูรณาการทุกภาคส่วน โดยการจัดนักดำน้ำอาสาสมัคร จำนวน 500 คน เก็บเศษกิ่งปะการัง ที่แตกหัก และนำไปซ่อมแซมแนวปะการังที่เสียหายทั้งในฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน รวม 150 ไร่ ปะการังที่ปลูกมีจำนวน ทั้งสิ้น 240,000 กิ่ง หลังการปลูกประมาณ 1 เดือน พบว่าปะการัง มีอัตราการรอดตาย เฉลี่ยร้อยละ 83.55 นอกจากนั้นยังมีการจัด โครงการฟื้นฟูระบบนิเวศในแนวปะการัง และโครงการจัดซื้อเรือกำจัดขยะ โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นต้น

3. ด้านปลูกจิตสำนึกและประชาสัมพันธ์ มีการจัดกิจกรรมเก็บขยะแนวชายฝั่งทะเล และปล่อยพันธุ์เต่าทะเลหายากคืนสู่ธรรมชาติ ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี การจัดกิจกรรมอบรมเยาวชนอนุรักษ์ปะการัง กัลปังหา และสัตว์ทะเลหายาก ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และการจัดกิจกรรมค่ายเยาวชนอนุรักษ์ปะการังและสัตว์ทะเลหายากในพื้นที่ จังหวัดสงขลา สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช มีผู้ร่วมกิจกรรม จำนวน722 คน นอกจากนั้นยังมีการปลูกจิตสำนึกให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชน และชาวประมงในพื้นที่จังหวัดชายทะเล ให้มีความรักและหวงแหนในทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล การเชิญชวนสมาคมประมงจังหวัดต่าง ๆ ร่วมรณรงค์ ในการรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ทำลายสัตว์ทะเลหายาก และไม่ทิ้งขยะลงทะเล การจัดกิจกรรม “รักษ์ปะการังและสิ่งมีชีวิต ใต้ทะเล”ณ สถานีเรือสมุย อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2562 โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทรงเป็นประธาน มีกิจกรรมที่สำคัญประกอบด้วย การพระราชทานรางวัลการประกวดวาดภาพโครงการ การปล่อยเต่าทะเล การปลูกหญ้าทะเล และการเก็บขยะบริเวณชายหาด มีผู้ร่วมกิจกรรม ประมาณ 2,000 คน จากการติดตามผลการปฏิบัติหลังการ จัดกิจกรรม ประมาณ 2 เดือน พบว่าหญ้าทะเลมีการเจริญเติบโตมากขึ้น ประชาชนในพื้นที่มีการรณรงค์ไม่ใช้ถุงพลาสติก และไม่ทิ้งขยะลงทะเล นอกจากนั้น ยังมี การประชาสัมพันธ์โครงการฯ ทางสื่อต่าง ๆ ทั้งในและนอกกองทัพเรือ รวมทั้ง จัดทำของที่ระลึก ปฏิทิน และบัตรอวยพรปีใหม่ที่มีตราสัญลักษณ์โครงการฯ แจกให้กับนักเรียน นักศึกษา และพี่น้องประชาชน เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกและประชาสัมพันธ์โครงการฯ อีกด้วย

วันนี้ ประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ต่างมีจิตสำนึกในการหวงแหน และรักษาสิ่งแวดล้อม นักเรียน นักศึกษา พ่อค้า ประชาชน ร่วมกันรณรงค์อนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนบูรณาการความร่วมมือในการดำเนินโครงการฯ การใช้ถุงพลาสติกมีปริมาณลดลง ชาวประมงไม่ทิ้งขยะลงทะเล ไม่ทำร้ายสัตว์ทะเลหายาก และไม่จับสัตว์ทะเลในฤดูวางไข่ น้ำทะเลปราศจากสารพิษปนเปื้อน แนวปะการังได้รับการฟื้นฟู หญ้าทะเลกำลังเจริญเติบโต เต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ สิ่งมีชีวิตในทะเลมีปริมาณเพิ่มขึ้น ความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติใต้ท้องทะเลไทยกลับคืนมา

“ทะเลใส หาดทรายสวย ปะการัง กัลปังหา และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยได้รับการปกป้องให้คงอยู่ตลอดไป” จากความร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วนภายใต้โครงการ “อนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา”
























กำลังโหลดความคิดเห็น