สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร จ.ภูเก็ต เพื่อเป็นศูนย์รักษาสัตว์ทะเลหายากและแหล่งเรียนรู้ของประชาชน
วันนี้ (28 ธ.ค.) ณ ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร ตำบลวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดพิธีเปิดศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร จ.ภูเก็ต อย่างเป็นทางการ โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จพระดำเนินเป็นองค์ประธาน โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. นายโสภณ ทองดี อธิบดี ทช. และ นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนคณะผู้บริหาร ข้าราชการ ในสังกัดกระทรวงฯ รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจในพื้นที่ ร่วมเฝ้ารับเสด็จ
นายวราวุธ กล่าวว่า ประเทศไทยมีโรงพยาบาลหรือศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ไม่มากนัก อีกทั้งอุปกรณ์และเครื่องมือที่จำเป็นในการช่วยเหลือสัตว์แต่ละชนิดก็มีความเฉพาะ สัตว์หลายชนิดไม่สามารถรักษาได้ หรืออาจจะรักษาได้ไม่ทันท่วงที ยิ่งหากเป็นสัตว์ทะเลหายากที่เหลือจำนวนไม่มากนัก คงต้องทำทุกวิถีทางที่จะรักษาไว้ให้ได้ “ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร” จ.ภูเก็ต จึงถูกดำริขึ้นนับเป็นศูนย์รักษาและอนุบาลสัตว์ทะเลหายากที่เจ็บป่วย หรือได้รับอันตรายจากเหตุต่างๆ โดยมีเครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็นในการรักษา รวมถึงทีมสัตวแพทย์และสถานพักรักษาสัตว์ทะเลหายากต่างๆ
นายวราวุธ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ นับเป็นโชคดีที่ ทส. ยังได้รับพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้จากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงสนพระทัยและทรงห่วงใยสัตว์ทะเลหายากทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเต่าทะเล และพะยูน เป็นต้น ทรงรับ “น้องมาเรียม” ไว้ในโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และทรงพระราชทานชื่อ “ยามีล” พะยูนน้อยเพศผู้ ที่ถูกพบในพื้นที่ จ.กระบี่ และได้รับการอนุบาลไว้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จ.ภูเก็ต และในวันนี้ ทรงพระกรุณาเสด็จเป็นประธานเปิด “ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร” พร้อมเสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการ เยี่ยมชมภายในอาคารและการดำเนินงานของศูนย์ฯ และทรงปล่อยเต่าทะเล จำนวน 2 ตัว ลงสู่ทะเล
“อย่างไรก็ตาม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะพัฒนาต่อยอดการดำเนินงานของศูนย์ให้มีความสมบูรณ์และสามารถช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป ทั้งนี้ ได้สั่งการให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เร่งขยายผลการดำเนินงานภายในศูนย์แห่งนี้ และหากเป็นไปได้จะให้เปิดศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากในพื้นที่อื่นๆ เพื่อจะได้รักษาทรัพยากรทางทะเลและระบบนิเวศให้สมบูรณ์และยั่งยืน ต่อไป”
ด้าน นายจตุพร เผยว่า การก่อสร้าง ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร เริ่มก่อสร้างในปี 2561 สมัยตนยังดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยชีวิตสัตว์ทะเลทุกชนิด รวมถึงสัตว์ทะเลหายาก โดยเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2561 ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการเสด็จเป็นองค์ประธานทรงวางศิลาฤกษ์ และพระราชทานนามอาคาร ว่า “ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร” อย่างไรก็ตาม ตนได้สั่งการไปยังกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้เตรียมนำแนวนโยบายของ รมว.ทส. ไปต่อยอดในการเสริมสร้างศักยภาพของศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากแห่งนี้ ให้สามารถช่วยชีวิตสัตว์ทะเลได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ และให้สามารถรองรับการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากได้มากยิ่งขึ้น
ส่วนทาง นายโสภณ กล่าวว่า ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร ตั้งอยู่ที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ตำบลวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต มีพื้นที่ใช้สอยรวม 2,359 ตารางเมตร ประกอบด้วย อาคารหลัก 2 อาคาร ได้แก่ อาคารแรก เป็นส่วนรับและพักฟื้นสัตว์ทะเลที่ป่วย ประกอบด้วย บ่อสำหรับรักษาพยาบาลสัตว์ทะเลหายากที่เลี้ยงลูกด้วยนม บ่อสำหรับการรักษาพยาบาลสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นและสัตว์ป่วย บ่อสำหรับฟื้นฟูสุขภาพสัตว์ทะเลหายากที่ยังไม่สามารถปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้ และอาคารปฏิบัติการ ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยโรค ตรวจเลือด เนื้อเยื่อ และฉายรังสี การจัดทำระบบจัดการน้ำ และพื้นที่ผ่าชันสูตรซากสัตว์ทะเลหายากพร้อมระบบฆ่าเชื้อและจัดการปฏิกูล ห้องสำนักงาน และห้องอเนกประสงค์ ซึ่งดำเนินการโดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 119,618,000 บาท ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2562
“อย่างไรก็ตาม หลังจากพิธีเปิดศูนย์ฯ อย่างเป็นทางการแล้ว จะเริ่มย้ายสัตว์มารักษาและอนุบาลภายในศูนย์ และจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าเยี่ยมชมและศึกษาหาความรู้ รวมทั้งจะขยายเพิ่มส่วนแสดงนิทรรศการและส่วนช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก เพื่อให้ได้มาตรฐานและให้ประโยชน์แก่ประชาชนและผู้สนใจ คาดว่า จะสามารถรองรับผู้สนใจได้กว่า 150,000 คนต่อปี” นายโสภณ กล่าว