xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

16 หน่วยงานรัฐ เห็นพ้อง ทบทวนจัดเก็บค่าธรรมเนียม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลายวันก่อน คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้การบ้านจาก คณะรัฐมนตรีไปศึกษา แนวทางการทบทวนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการอนุมัติ อนุญาต ของทางราชการ "ฉบับล่าสุด"

โดยให้ส่วนราชการพิจารณาทบทวนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคลองกับปัจจุบัน และเสนอผลการดำเนินการต่อ สำนักงาน ก.พ.ร. ภายใน 3 เดือน (31 มี.ค.63)

ย้อนหลังไปดู คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ (อ.ก.พ.ร.) เสนอแนวทางนี้ เพื่อส่งเสริมและยกระดับการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการและการประกอบธุรกิจ

แนวทางดังกล่าว "หน่วยงานที่ทบทวนจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ" จะให้มีการจัดเก็บเท่าที่จำเป็น เนื่องจากอาจเป็นการสร้างภาระให้กับภาครัฐและประชาชน ให้ดำเนินการภายใต้กฎหมายที่มีการกำหนดให้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่กำหนดไวัในกฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งก่อน และให้พิจารณาถึงความคุมค่าและการสูญเสียรายได้ของรัฐให้ชัดเจน เพื่อให้เห็นว่า การจัดเก็บค่าธรรมเนียมเหล่านี้เป็นภาระทั้งต่อภาครัฐและประชาชน

จากการศึกษา ข้อมูลการจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯจากต่างประเทศ "สำนักงาน ก.พ.ร." ยกตัวอย่าง กลุ่มประเทศ OECD หรือ ประเทศที่กำหนดค่าธรรมเนียมขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ว่า มีการคำนวณต้นทุน มีคู่มือจากผู้เสนอกฎหมายทางธุรกิจ ประกอบด้วย ภาระทางการใช้จ่ายที่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระยะเวลาที่ใช้ปฏิบัติฯ และจำนวนเอกชนที่รับภาระ

สรุปได้ว่า การกำหนดใบอนุญาตใดๆ จะต้องพิจารณาถึงต้นทุนของการดำเนินการทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ เช่น ค่าใช้จ่ายเอกสารในการขอใบอนุญาต ค่าใช้จ่ายบุคลกร จัดทำเอกสาร ค่าใช้จ่ายด้านเวลา ค่าขนส่ง ฯลฯ

ก.พ.ร. ยังยกตัวอย่างประเทศ "นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และเดนมาร์ก" ว่า มีอัตราการจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่ำที่สุด โดยมีปัจจัยความสำเร็จในการให้บริการของภาครัฐใน 3 ปัจจัยหลัก คือ การให้บริการที่ใช้เวลาน้อย จำนวนขั้นตอนในการให้บริการมีขั้นตอนไม่มากและไม่ยุ่งยาก และค่าธรรมเนียมในการดำเนินการต่ำ

สำหรับ ตัวอย่างการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในต่างประเทศ พบว่า บางประเทศไม่มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในเอกสารที่เกี่ยวต้องกับชีวิตประจำวัน "บัตรประจำตัวประชาชน ใบสูติบัตร ใบมรณบัตร" เช่น ฝรั่งเศสจะไม่มีการจัดเก็บค่าทำบัตรประชาชนครั้งแรก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา จะยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับผู้สูงอายุ 62 ปีขึ้นไป

สำหรับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราต่ำนั้น เป็นผลมาจากการปรับปรุงกระบวนการเดิมมาเป็นการทำงานบนระบบออนไลน์ ซึ่งช่วยลดภาระแก่เจ้าหน้าที่ ลดการใช้เอกสาร รวมถึงลดพื้นที่ในการจัดเก็บเอกสาร ทำให้สามารถลดอัตราการจัดเก็บค่าธรรมเนียมลงได้ ทำให้การขอใบอนุญาตผ่านระบบอเล็กทรอนิกส์ในบางประเทศจะมีอัตราค่าธรรมเนียมต่ำกว่าการมาดำเนินการเองที่หน่วยงาน เช่น การจดลิขสิทธิ์ของรัฐแคลิฟอร์เนีย หรือการยกเลิกการจัดเก็บค่าธรรมเนียม แต่ให้นำไปรวมกับการจัดเก็บภาษี เพื่อลดความซ้ำซ้อน เช่น การขอใบอนุญาตนำยาสูบและผลิตภัณฑ์จากยาสูบเข้ามาในประเทศออสเตรเลีย

ส่วนในประเทศไทย พบว่า มีรายงาน ณ 31 พ.ค.61 มีรายได้เข้าแผ่นดินจาก "ค่าใบอนุญาต" เฉพาะ หน่วยงาน กสทช. "ใบอนุญาตวิทยุคมนาคม" ถึง 32,736,600,607 บาท คิดเป็นร้อยละ 85 ของรายได้ทั้งหมด รองจาก ใบอนุญาติ ด้านต่างด้าว และด้านอื่นของสรรสามิต มหาดไทย และสาธารณสุข

ด้านศูนย์รวมข้อมูลเพื่อติดต่อราชการ (www.info.go.th)พบว่า มีการจัดค่าธรรมเนียม ไม่เกิน 100 บาท จาก 41หน่วยงาน 466 ใบอนุญาต จัดเก็บน้อยที่สุด ที่ 0.25 บาท (จำนวน 5 ใบอนุญาต) รองลงนา คือ อัตรา 0.40 บาท (จำนวน 4 ใบอนุญาต)

อัตรา 1- 5 บาท (จำนวน 96 ใบอนุญาต) อัตรา 10 - 50 บาท (จำนวน 104 ใบอนุญาต) และอัตรา 60 - 100 บาท (จำนวน 123 ใบอนุญาต)

สำนักงาน ก.พ.ร. ยังพบว่า กฎหมายระดับกฎกระทรวง จำนวน 363 ใบอนุญาต รองลงมาได้แก่ ประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งของหน่วยงาน 58 ใบอนุญาต พระราชบัญญัติ 37 ใบอนุญาต และอื่นๆ 8 ใบอนุญาต

ทั้งนี้จากการศึกษากฎหมาย ดังกล่าว พบว่ากฎหมายบางฉบับถูกบัญญัติใช้มาอย่างยาวนาน เช่น กรณี การขอใช้พื้นที่ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อัตราไร่ละ 10 บาท กฎหมายฉบับปี 2507 กรณี การขอใบเบิกทางนำไม้และของป่าเคลื่อนที่ (ประเภท 2) ฉบับละ 5 บาท กฎหมายฉบับปี 2484 กรณีการขอเปลี่ยนผู้ควบคุมเรือ กฎหมายปี 2481

กรณี ใบอนุญาตให้เคลื่อนย้ายเรือบรรทุก พ.ศ.2456 ฉบับละ 100 บาท กรณี ใบแทนทำไม้หรือเก็บหาของป่า (เขตป่าสงวนแห่งชาติ) พ.ศ.2484 ใบอนุญาตทำไม้เพื่อการค้า มีอัตราค่าธรรมเนียมฉบับละ 20 บาท และใบอนุญาตเก็บหาของป่าหวงห้าม ฉบับละ 10 บาท เป็นต้น

ดังนั้น อัตราการจัดเก็บค่าธรรมเนียม ที่กาหนดไว้แต่เดิมนั้น อาจไม่คุ้มค่าต่อการดำเนินภารกิจของภาครัฐ ณ ปัจจุบัน

ล่าสุด พบว่ามี 16 หน่วยงาน มีความเห็นต่อการพิจารณายกเลิกใบอนุญาตและค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุมัติ อนุญาตของทางราชการ จากส่วนราชการ

"กรมการค้าภายใน" เห็นว่า กรณีการออกใบแทนหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจนำเข้า ขายเครื่องชั่งตวงวัด และให้บริการชั่ง ขออนุญาตชั่งตวงวัด นั้น โดยปกติแล้วใบอนุญาตมีอัตราค่าธรรมเนียมมากกว่า 100 บาท แต่สำหรับกรณีขอแทนมีอัตราค่าธรรมเนียมต่ำกว่า 100 บาท และมีจำนวนสถิติการขอรับไม่มาก

แต่ใบแทนดังกล่าวเป็นเอการที่ถือว่ามีความสำคัญแสดงถึงมาตรฐานสากล ซึ่งหน่วยงานเห็นว่า การยกเลิกใบอนุญาตหรือใบแทนนั้นไม่สามารทำได้ แต่การพิจารณายกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับใบแทนนั้น อาจดำเนินการได้

"กรมเจ้าท่า" เห็นว่า หลักเกณฑ์แนวทางการพิจารณาฯ ทางทรมเจ้าท่าเห็นด้วย แด่ขอให้พิจารณาอัตราการจัดเก็บค่าธรรรมเนียมที่เหมาะสม และเห็นด้วยต่อการดำเนินการขออนุมัติ อนุญาตผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพต้องการให้คงไว้ เนื่องจากแสดงถึงคุณสมบัติ ดวามน่าเชื่อถือในการดำเนินการ

"กรมทรัพย์สินทางปัญญา" สำหรับหลักเกณฑ์แนวทางการพิจารณาฯ เห็นด้วย และขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การขอใบอนุญาต ส่วนใหญ่ทางกรมฯ จะมีอัตราค่าธรรมเนียมเกินกว่า 100 บาท แต่สำหรับการแก้ไขหลังรับจดทะเบียน หรือการโอนสิทธิ มีอัตราต่ำกว่า 100 บาท ปัจจุบันมีระบบ E-Filling และการขอใบแทน ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ขณะที่ส่วนราชการได้รับการยกเว้น ซึ่งค่าใช้จ่ายในการดำเนินการมาจากการเปลี่ยนแปลงข้อมูลทางทะเบียน ทำให้อาจต้องคงค่าธรรมเนียม เนื่องจากเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่น

"กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง" เห็นด้วย โดยการจัดเก็บค่าธรรมเนียมถูกกำหนดไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ 2 หน่วยงาน คือกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กับกรมป่าไม้ ซึ่งต้องให้ทั้ง 2 หน่วยงาน มีการหารือในการพิจารณาเกี่ยวกับอัตราค่าธรรมเนียมก่อน

"กรมทรัพยากรน้ำบาดาล" เห็นด้วยแต่ปัจจุบันการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวถูกระบุอยู่ในกฎหมายดังนั้น หน่วยงานจึงยังต้องจัดเก็บค่าธรรมเนียม ถึงแม้จะเป็นเพียงค่าคำขอ และมีรายได้มากกว่า 500,000 บาท โดยรายได้ดังกล่าว ถูกส่งต่อไปยัง อบต.จึงเห็นว่าควรหาแนวทางในการดำเนินการที่เหมาะสมหาดต้องการพิจารณายกเลิก

"กรมประมง"โดยที่การจัดเก็บค่าธรรมเนียมถูกระบุไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานมากกว่า 1 หน่วยงาน ดังนั้นหน่วยงาน จึงเห็นว่า หากมีการพิจารณาเกี่ยวกับอัตราค่าธรรมเนียม ควรต้องดำเนินการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานยังไม่เห็นควรให้ยกเลิกค่าธรรมเนียมการขายอาหารสัตว์ เพราะเป็นการควบคุมเฉพาะ ทั่งนี้ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ จะประกาศใช้ในเดือน พ.ย.62 และเป็นการควบคุมในสัตว์เฉพาะ ทำให้อยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลง ส่วนประเด็นใบอนุญาตประเภทวิชาชีพควรพิจารณาถึงความเหมาะสม

"กรมป่าไม้" เห็นด้วยที่จะให้หน่วยงานทบทวนความคุ้มทุนในการจัดเก็บฯ ซึ่งจะทำให้ทราบต้นทุนที่แท้จริง แต่ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกใบอนุญาตประเภทการแปรรูปป่าไม้ เนื่องจากการแปรรูปจะต้องมีการแสดงหลักฐาน ซึ่งสะท้อนถึงที่มาของแหล่งที่มา และเป็นการป้องกันการลักลอบกระทำผิดกฎหมาย

"กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก" หน่วยงานอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนอัตราการจัดเก็บค่าธรรมเนียม ซึ่งเห็นว่าการยกเลิกสามารถใช้ได้ในกรณีค่าคำขอ แต่สำหรับใบอนุญาตควรให้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่อไป

"กรมวิชาการเกษตร" ใบอนุญาตของหน่วยงานส่วนใหญ่ มีอัตราการจัดเก็บค่าธรรมเนียม มากกว่า 1,000 บาท แต่รายทารที่มีอัตราการจัดเก็บต่ำกว่า 100 บาท จะเป็นค่าบริการ ซึ่งไม่ได้ระบุให้มีการจัดเก็บตามกฎหมาย

"กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์" ส่วนใหญ่ใบอนุญาตจะเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย จึงมีความเห็นว่าไม่ควรยกเลิก โดยมีอัตราค่าธรรมเนียมเกินกว่า 100 บาท

"กรมศิลปากร" ใบอนุญาตเป็นการแสดงหลักฐาน เพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการป้องกันการกระทำผิดทางกฎหมายเกี่ยวกับการส่งออกโบราณวัตถุ

"กรมหม่อมไหม" การจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ เกี่ยวกับการผลิตผ้าไหม มีอัตราที่ต่ำ อย่างไรก็ดี แม้ว่ารายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมไม่คุ้มค่า แต่เป็นกรณของการส่งเสริมและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร จึงเห็นว่า ควรดำเนินการจัดเก็บในอัตรานี้ต่อไป ซึ่งส่วนหนึ่งของรายได้จะถูกนำไปใช้สมทบในกองทุนเกษตร

"สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม" ตอนนี้หน่วยงามอยู่ระหว่างการเสนอปรับอัตราค่าธรรมเนียม ในการขอรับใบอนุญาตเป็นผู้มีสิทธิทำรายงานเกี่ยวกับการศึกษาและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบกระเทือนต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยเพิ่มอัตราการจัดเก็บจาก 4,000 บาท เป็น 5,000 บาท

"สำนักปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมาชาติและสิ่งแวดล้อม" โดยส่วนใหญ่ของใบอนุญาตจะเป็นการมอบอำนาจไปยังหน่วยงานในส่วนภูมิภาค ซึ่งเกี่ยวข้องกับกรมป่าไม้ กับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ซึ่งเป็นการจัดเก็บอัตราลค่าธรรมเนียมที่ถูกระบุอยู่ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 23 (พ.ศ.2518) ออกตามความในพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2584 ว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมซึ่งเป็นอัตราที่ไม่เหมาะสมในปัจจุบัน ทำให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบถือว่าเป็นภาระ และไม่คุ้มค่าต่อการดำเนินการ ซึ่งเห็นด้วยในการยกเลิกใบอนุญาต/ใบแทน และค่าคำขอบางฉบับ แต่บางใบอนุญาตยังคงต้องคงไว้

ทั้งนี้ ควรพิจารณาความคุ้มค่าและต้นทุนในการดำเนินการอย่างแท้จริง เพื่อสะท้อนควานเหมาะสมของอัตราการจัดเก็บค่าธรรมเนียม และการมีใบอนุญาตนั้น ๆ

"สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ" เห็นด้วยตามพ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551 และแก้ไขเพิ่มเติมสำหรับบุคคลธรรมดา สามารถดำเนินการยกเลิกได้ และสำหรับการขอต่ออายุใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตร ตามกฎหมาย ควรศึกษาผลการยกเลิกแบบรายบุคคล และนิติบุคคล เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเบื้องต้นเห็นว่า ยังไม่ควรดำเนินการยกเลิกประเภทใดประเภทหนึ่ง เพราะหากดำเนินการต้องกระทำการยำเลิกทั้ง 2 ประเภท

"สมาคมหอการค้าไทย" เห็นว่า การดำเนินการพิจารณาอัตราค่าธรรมเนียมที่เหมาะสมเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องคำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ นอกจากนี้ภารัฐควรปรับการทำงานให้สามารถขอใบอนุญาติผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ เพื่อลดค่าใช้จ่าย ทั้งด้านเอกสาร ด้านเวลา และด้านการเดินทาง ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจ

เป็นข้อเสนอ 16 หน่วยงาน ต่อแนวทางการทบทวนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการอนุมัติ อนุญาต ของทางราชการ "ฉบับล่าสุด"และ ภายใน 3 เดือน นี้ ทุกหน่วยงานต้องรายงานว่า มีสัมฤทธิ์ผลหรือไม่.




กำลังโหลดความคิดเห็น