ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “ความวัว” คดี “เอ๋” ปารีณา ไกรคุปต์ รุกป่า ยังไม่ทันหาย “ความควาย” ก็เข้ามาแทรก กรณี “มาดามโอ๊ะ” นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ถูกกล่าวหาบุกรุกป่าในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตามมาติดๆ ทำเอารัฐบาล “ลุงตู่” ถึงกับรวนเรอยู่ไม่น้อยแม้จะเป็นเรื่องส่วนบุคคลก็ตาม
กรณี “สาวเอ๋” กลับมาร้อนเมื่อเกิดแชตไลน์กลุ่ม ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หลุดออกมา โดยเป็นการตัดพ้อต่อว่ากันระหว่าง “พี่ผู้กอง” - ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ “น้องเอ๋” นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ที่น้องเอ๋หาว่าพี่ผู้กองทิ้งขว้างไม่ช่วยเหลือไม่ดูแลแถมมีขู่กันด้วย
ส่วน “มาดามโอ๊ะ” เป็นเรื่องใหญ่โตเมื่อชุดปฏิบัติการ ศปป.4 กอ.รมน. โดย นายศักดิ์ชัย จงกิจวิวัฒน์ หัวหน้าชุดพญาเสือ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.จังหวัดปราจีนบุรี สนธิกำลังบุกเข้าตรวจสอบการบุกรุกปรับพื้นที่ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในที่ดินผืนงามบนเนินเขา และปรากฏว่า เป็นที่ดินของพ่อ-ลูกตระกูลวิลาวัลย์ คือนายสุนทรและนางกนกวัลย์
กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวของนักการเมืองหญิงในสภาที่แต่เดิมมี “สาวเอ๋” ยืนหนึ่งมาตลอด ก็เพิ่ม “มาดามโอ๊ะ” เข้ามาในลิสต์ข้อกล่าวหาไม่แตกต่างกันคือ บุกรุกป่า ซึ่งสังคมกำลังจับตาและกังขาว่าจะมีรายการช่วยอุ้มให้พ้นผิดหรือไม่
กล่าวสำหรับคดีรุกป่าที่ลามมาถึง “มาดามโอ๊ะ” นั้น เป็นเรื่องขึ้นมาเมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา โดยชุดเจ้าหน้าที่สนธิกำลังบุกตรวจจับและดำเนินคดีบุคคลที่ขุดปรับพื้นที่บริเวณที่ พิกัด 47 P 0760483 1572525 อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พื้นที่หมู่ 14 ต.เนินหอม อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี ใกล้อ่างเก็บน้ำคลองไม้ปล้อง
ขณะที่เจ้าหน้าที่บุกตรวจนั้น นายไพโรจน์ กุหลาบวงษ์ อายุ 64 ปี ซึ่งอ้างว่าเป็นตัวแทนของนายสุนทร วิลาวัลย์ บอกว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวมีเอกสารสิทธิโฉนดที่ดิน เลขที่ 28676, 28674, 28667 อย่างถูกต้อง แต่จากการลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกันอีกครั้งของ กอ.รมน. พร้อมกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมที่ดิน พบว่ามีการบุกรุกแผ้วถางนอกพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์
ต่อมา เมื่อวันที่ 21 มกราคม นายภัทรพล ซุ้นฮั้ว เจ้าพนักงานป่าไม้ พร้อมทีมจับกุมโดย พ.อ.พงษ์เพชร เกษสุภธ หัวหน้าชุดปฏิบัติการ ศปป.4 กอ.รมน. นำสำนวนเข้าแจ้งความดำเนินคดีนางกนกวรรณ ในฐานความผิดตามมาตรา 19 ครอบครอง บุกรุกแผ้วถางป่า เปลี่ยนสภาพป่า ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พ.ศ. 2562 กับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองปราจีนบุรี
พ.อ.พงษ์เพชร ระบุว่า จากการรังวัดของกรมที่ดินในที่ดินต้องสงสัย พบแนวเขตของโฉนดที่อยู่บริเวณติดกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จำนวน 2 แปลง รวมเนื้อที่ 15-2-44 ไร่ มีการแผ้วถางป่าขึ้นไปบนเนินเขานอกเอกสารสิทธิ์ กินพื้นที่เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 12-1-92 ไร่ โดยมีร่องรอยของการนำรถแบ็กโฮ เปิดพื้นที่ป่าบนเนินเขาทำเป็นถนนขึ้นไปชมวิวด้านบน คาดว่าเป็นการเตรียมที่ดินเพื่อสร้างรีสอร์ทซึ่งการเตรียมพื้นที่นี้คร่อมไปกับลำรางสาธารณะด้วย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 มกราคม ที่ผ่านมา ทีมเจ้าหน้าที่ชุดจับกุม ได้ตรวจสอบพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกันก่อนหน้านี้ พบมีการออกเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดินจำนวน 3 แปลง รวมเนื้อที่ 70 ไร่ แต่มีการบุกรุกแผ้วถางเปิดป่าใหม่จำนวน 11-3-93 ไร่ 3 เมื่อนำจำนวนที่ดินที่บุกรุกเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในการตรวจสอบเมื่อครั้งก่อน มารวมกับการตรวจสอบพื้นที่บุกรุกครั้งล่าสุด พบว่า นายสุนทร และ นางกนกวรรณ สองพ่อลูกบุกรุกป่าเขาใหญ่บนเนื้อที่รวมกว่า 24 ไร่เศษ
หลังจากมอบสำนวนให้พนักงานสืบสวนสอบสวน ไปแล้ว จะเป็นหน้าที่ของสภ.เมืองปราจีนบุรี ในการสืบสวนสอบสวนและทำสำนวนส่งอัยการฟ้องศาลต่อไป ขณะเดียวกัน หัวหน้าชุดปฏิบัติการ ศปป.4 กอ.รมน. จะนำข้อมูลดังกล่าวไปรายงานในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.) ด้วย ตามนโยบาย One Map คือการใช้แผนที่ฉบับเดียวในทุกหน่วยงาน
ไม่เพียงแต่การบุกตรวจสอบที่ดินของตระกูลดังแห่งเมืองปราจีนบุรีนี้เท่านั้น พ.อ.พงษ์เพชร ยังบอกอีกว่า มีการออกโฉนดที่ดินในลักษณะเดียวกันนี้ และบุกรุกเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อีกหลายแปลง ซึ่งจะทยอยพิสูจน์ สะสางไล่เรียงจากอำเภอเมืองปราจีนบุรี ไปยังอำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี และไปจนถึงอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
ขณะที่ “มาดามโอ๊ะ” ยืนกราน พื้นที่ทั้งหมดมีโฉนดถูกต้อง พร้อมให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบ ยืนยันว่าไม่ได้ทำผิดอะไร และเคารพกฎหมาย ส่วนที่ว่าจะส่งหลักฐานให้กรมอุทยานฯ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบหรือไม่ “มาดาม” ออกตัวว่า “เป็นเรื่องที่หน่วยงานต้องคุยกันเอง”
“พี่ในฐานะที่เป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่ง เวลาเราจะขอทำอะไร เราก็ต้องยื่นในสิ่งที่ถูกต้องกับทางราชการ ทางราชการก็จะเป็นผู้พิจารณาให้เรา ซึ่งเรื่องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปพูดคุยและดำเนินการให้ความเป็นธรรมกับประชาชนทุกคน .... ค่อยว่าไปตามขั้นตอน ยืนยันว่าที่ดินนี้ได้มาตามกฎหมาย กรมที่ดินเป็นผู้ออกเอกสารสิทธิ ไม่เคยทำอะไรที่ผิดกฎหมาย ขอยืนยัน"
กรณีนักการเมืองเจอข้อกล่าวหาบุกรุกป่าที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ย้ำชัดเจนว่าการบุกรุกป่าต้องอยู่ในกระบวนการกฎหมายทั้งหมด โดยให้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษ สอบสวน และดำเนินคดีไป ทุกอย่างต้องทำให้โปร่งใส เท่าเทียม
อย่างไรก็ดี เมื่อฟังการแจกแจงจาก นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จะเห็นภาพชัดเจนว่า มีปัญหาน่าสงสัยแน่ๆ โดยแยกแยะกรณีกล่าวหานางกนกวรรณ รุกที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ว่า แบ่งเป็น 2 ส่วน โดยส่วนที่ 1 คือ มีการเข้าไปบุกรุกนอกโฉนด ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ไปแจ้งความดำเนินคดีแล้ว
ส่วนที่ 2 คือบริเวณที่มีข้อกังขาว่ามีการออกโฉนด หรือเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ซึ่งต้องไปตรวจสอบว่า โฉนดแปลงนั้นมาได้อย่างไร มาจาก ใบ สค. หรือไม่ หรือมีมาตั้งแต่ก่อนประกาศว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็นเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในปี 2505 แล้วตกทอดจนกลายมาเป็นโฉนด หรือมีการทับซ้อนกันจริง กรมอุทยานฯ กำลังตรวจสอบ หากพบเอกสารแสดงสิทธิ์ครอบครองออกมาก่อนประกาศเขตอุทยานฯ ก็เป็นสิทธิ์ที่เขาสามารถอยู่ได้ แต่ถ้าประกาศเป็นเขตพื้นที่อุทยานฯไปแล้ว แล้วมาครอบครองภายหลังถือว่าเป็นการบุกรุกพื้นที่อุทยานฯ
“ขอยืนยันว่ากระทรวงทรัพยากรฯ ให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามกฎหมาย โดยใช้กฎหมายเดียวกัน และมีมาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นใคร หากพบว่ามีการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ ก็ต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย ไม่มีอะไรต้องหนักใจ”นายวราวุธ กล่าวย้ำหนักแน่น
มาตรฐานเดียวกันถ้วนหน้าหรือไม่ ต้องวกกลับมาดูคดีของ “เอ๋-ปารีณา” ที่เจอข้อหาทั้งบุกรุกป่าสงวน และครอบครองที่ดิน ส.ป.ก. โดยมิชอบ ที่ยื้อมาจนกระแสสร่างซาลงไป กระทั่งมีดรามาแชทลับไลน์หลุดระหว่าง “พี่ผู้กอง” กับ “น้องเอ๋” จุดพลุกลับมาเป็นข่าวครึกโครมอีกครั้ง
โหมตามด้วยการอุ้มให้พ้นผิดจากหน่วยงาน ส.ป.ก. ที่ว่า นางสาวปารีณา คืนที่ ส.ป.ก.ให้แล้วก็ถือว่าจบ ไม่ได้มีความผิดอะไรทั้งนั้น ทำเอานายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชั่น และ “นักร้องคนดัง” อย่างนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินหน้าจี้ให้เอาผิดเพราะถือว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้ว จะมาคืนที่ให้ ส.ป.ก. แล้วจบกันไปนั้น มันไม่ใช่
ตามชอตที่นายนภดล ตันติเมฆิน ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย ส.ป.ก. ฟอกผิดให้กับ “เอ๋-ปารีณา” เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 มกราคม ที่ผ่านมา ในการชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นประธานพิจารณาคำร้องของ วีระ สมความคิด ขอให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าว
ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย ส.ป.ก. แจงว่า การถือครองที่ดิน ส.ป.ก. ที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย หากส่งคืนกลับให้ ส.ป.ก. ก็ถือว่าตรงตามเจตนารมณ์แล้ว เพื่อให้ ส.ป.ก. จัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกรต่อไป ไม่มีบทลงโทษตามกฎหมาย ส.ป.ก. เว้นแต่จะมีความผิดในที่ดินตามกฎหมายอื่นๆ พร้อมยืนยันว่าการดำเนินการเรียกคืนที่ดิน ส.ป.ก. มาตรฐานเดียวกันกับทุกกรณี
ส่วน พ.จ.อ. ประเสริฐ มาลัย รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ชี้แจงว่าเบื้องต้น ส.ส. ปารีณา ได้ส่งคืนที่ดินที่เป็น ส.ป.ก. ครบหมดแล้ว และจะมีการสำรวจว่าทรัพย์สินในที่ดินใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ หากใช้ประโยชน์ได้ ส.ป.ก. ก็จะรับไว้ หากใช้ประโยชน์ไม่ได้ก็จะส่งคืนให้ ส.ส. ปารีณา ทำลายต่อไป
นายวีระ สวนกลับไปว่า “อย่าไปหลงประเด็น อย่าเข้าใจผิดว่า ปารีณา รอดคุกอย่าเข้าใจว่าเอาผิด ปารีณา ไม่ได้” โดยชี้ประเด็นว่า กรณี ปารีณา ไม่ผิดตามที่ ส.ป.ก. บอก ก็ถูกต้องบางส่วนคือ พื้นที่ตรงนั้น ส.ป.ก. ราชบุรี ยังไม่ได้เข้าไปทำการรังวัดเข้าระบบ เพื่อจัดสรรให้แก่เกษตรกรผู้ที่มีคุณสมบัติเข้าทำประโยชน์ตามเจตนารมณ์ของ ส.ป.ก.
“เมื่อ ส.ป.ก. ราชบุรี ยังไม่ได้ดำเนินให้ถูกต้องตามระบบและขั้นตอนที่ถูกต้อง เนื่องจาก ปารีณา เข้าไปบุกรุก ยึดถือ และครอบครองที่ดินดังกล่าวมาตั้งแต่ยังเป็นพื้นที่ป่าไม้และบางส่วนเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี แต่เมื่อกรมป่าไม้ ส่งมอบที่ดินดังกล่าวให้แก่ ส.ป.ก. แล้ว ส.ป.ก. ก็ต้องดูแลที่ดินดังกล่าว
“เมื่อ ปารีณา เข้าไปบุกรุก ยึดถือ ครอบครองทำประโยชน์ก่อสร้างฟาร์มเลี้ยงไก่ขนาดใหญ่ มีการขุดที่ดินภายในเขต ส.ป.ก. เพื่อทำบ่อเก็บกักน้ำ มีการตัดต้นไม้หวงห้าม มีการไถที่ดินเพื่อปรับสภาพก่อนทำการก่อสร้างโรงเลี้ยงไก่ ความเสียหายต่างๆเหล่านี้ที่เกิดขึ้น ส.ป.ก.ต้องฟ้องเรียกค่าเสียหายจากปารีณา ไม่ใช่ปล่อยให้ลอยนวล มิฉะนั้น ส.ป.ก. ก็จะมีความผิดตามป.อาญา มาตรา 157 ฐานละเว้น
“ที่สำคัญ ปารีณา ยังมีความผิดอาญาแผ่นดิน ฐานบุกรุก ครอบครอง ที่ป่าไม้และที่ป่าสงวนแห่งชาติฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี ตามที่ได้แจ้งความดำเนินคดีเอาไว้ ขณะนี้คดีดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของ บก.ปทส. ดังนั้น อย่าเข้าใจว่าปารีณา บริสุทธิ์ ขอยืนยันว่าเธอไม่บริสุทธิ์อย่างแน่นอน ขอให้อดใจรออีกไม่นาน ก็จะรู้ว่าปารีณาต้องติดคุกกี่ปี” นายวีระ ขอให้สังคมติดตามตอนต่อไป
สำหรับคดีบุกรุกครอบครองที่ป่าสงวนนั้น นายวีระ ได้เข้าพบ พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) เพื่อสอบถามความคืบหน้าการดำเนินคดีกับนางสาวปารีณา และ นายทวี ไกรคุปต์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม บิดาของนางสาวปารีณา เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา หลังจากแจ้งความดำเนินคดีนี้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 แต่คดีไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร
“.... คดีนี้ มีความล่าช้าหากเทียบกับคดีที่ชาวบ้านทั่วไปรุกป่าสงวน ซึ่งข้อกฎหมาย ก็ระบุความผิดไว้ชัดเจน และ น.ส.ปารีณา ก็เคยยืนยันมาตลอดว่า ที่ดินดังกล่าวนั้นเป็นของตัวเอง และถือครองก่อนจะเป็นที่ดิน ส.ป.ก. ..... หากคดียืดยาวนานกว่านี้จะเสียรูปคดี เพราะยังมีความผิดฐานอื่นนอกจากคดีอาญาด้วย” นายวีระ ระบุ
ขณะที่ ผบก.ปทส. ให้ความมั่นใจว่า คณะทำงานพิจารณาคดีที่ตั้งขึ้นมามีกรอบเวลาทำงานกันอยู่แล้ว คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาสำนวนไม่นาน เพราะที่ผ่านมา ทาง ปทส. ดำเนินการสอบสวน ไว้ก่อนอยู่แล้ว
การออกมาอุ้ม “เอ๋ ปารีณา” ของ ส.ป.ก. ก็เจองานเข้าเต็มเปา เพราะไม่เพียงแต่นายวีระ เท่านั้นที่เดินหน้าเอาเรื่อง ฝั่ง “นักร้องคนดัง” อย่าง “พี่ศรี” นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ก็ตามมาติดๆ ชี้เปรี้ยงไปว่า คำชี้แจงของผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย ส.ป.ก.ที่ว่า คืนที่ให้รัฐแล้วจบนั้น ไม่ใช่ เพราะย้อนแย้งต่อมาตรา 24 ของพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ส.ป.ก.ทั้งหมดเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
ดังนั้น เมื่อ ส.ป.ก.พิสูจน์แล้วว่าผู้ที่ถือครองที่ดิน ส.ป.ก. ไม่เป็นไปตามกฎหมายตาม ม.26(4) เนื่องจากมีที่ดินบางส่วนเป็นป่าสงวนแห่งชาติที่ ส.ป.ก.ได้รับมอบมาจากกรมป่าไม้ เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.จึงเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติด้วย โดยเฉพาะที่ดินของ น.ส.ปารีณา ซึ่งยอมรับเองว่า “ได้ที่ดินดังกล่าวมานานแล้ว เป็นที่ดินที่รัฐ โดยกรมป่าไม้อนุญาตให้เข้าไปทำกินได้ ทำกินมานานแล้ว และได้เสียภาษีดอกหญ้ามานานกว่า 10 ปี และเสียทุกครั้งที่เขาเรียกเก็บ”
การครอบครองที่ดินมือเปล่า ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดๆ รองรับ จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 มาตรา 54 (30) ห้ามมิให้ผู้ใดก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำการด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น มาตรา 55 ผู้ใดครอบครองป่าที่ได้ถูกแผ้วถางโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งมาตราก่อน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลนั้นเป็นผู้แผ้วถางป่านั้น สอดคล้องกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15189/2558
นอกจากนั้น น.ส.ปารีณา ยังขาดคุณสมบัติในการถือครองที่ดิน ส.ป.ก. มาตั้งแต่ต้นเนื่องจากมิได้เป็นเกษตรกร ไม่ได้จบการศึกษาด้านเกษตรกรรม และไม่เป็นผู้ยากจนที่มีรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อปี ตามกฎหมายของ ส.ป.ก. ดังนั้นแม้ น.ส.ปารีณา จะยินยอมคืนที่ดินทั้งหมดให้ ส.ป.ก. เพื่อจัดสรรให้เกษตรกรที่แท้จริงตามกฎหมายแล้ว ก็ยังอาจถือได้ว่าได้เคยกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ 2507 และกฎหมายป่าไม้ 2484 ประกอบกฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 2518 ซึ่งถือว่า “เป็นความผิดที่สำเร็จแล้ว”
“พนักงานเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องดำเนินการเอาผิด น.ส.ปารีณาตามกฎหมายข้างต้น แต่หากยังพยายามที่จะช่วยเหลือกันและกัน ก็อาจเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ได้ ซึ่งเรื่องนี้สมาคมฯจะนำความขึ้นฟ้องต่อศาลเพื่อพิสูจน์ความจริงกันต่อไป” นายศรีสุวรรณ ยืนยันถึงการตามเอาเรื่องให้ถึงที่สุด
นับจากปลายปีที่ผ่านมา ที่ดินเขาสนฟาร์มของ “เอ๋ ปารีณา” และ “พ่อทวี” ถูกตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ สรุปผลการตรวจสอบพบว่ามีการรุกล้ำที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี 30 ไร่และอยู่ในแนวเขตตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 อีก 16 ไร่ รวมบุกรุกป่า 46 ไร่ จึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ บก.ปทส. เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2562 ในความผิดเข้ายึดและครอบครอง ทำประโยชน์ แผ้วถาง ฯลฯ มีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54, พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 และ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 97
นอกจากข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติแล้ว ยังตรวจสอบพบว่า น.ส.ปารีณา อาจครอบครองที่ดิน ส.ป.ก. โดยมิชอบ ประมาณ 682 ไร่ แต่กรมป่าไม้ ยังไม่ได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษเนื่องจากอยู่ระหว่างรอความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าหน่วยงานใดมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินคดีระหว่างกรมป่าไม้กับสำนักงาน ส.ป.ก. หากคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่ากรมป่าไม้ มีอำนาจในการดำเนินการ อธิบดีกรมป่าไม้ ยืนยันว่า จะร้องทุกข์กล่าวโทษกับ บก.ปทส.เพิ่มเติมทันที
เพราะฉะนั้น สุดท้ายแล้วคงต้องติดตามกันต่อไปว่า ทั้ง 2 กรณีจะลงเอยอย่างไร.