ลำปาง – ผู้ว่าฯหมูป่า เปิดใจท่ามกลางปัญหา PM2.5 เกินมาตรฐาน 19 วันติด-Hot Spot โผล่ไม่หยุด รับแก้ไฟป่าลำปางไม่ง่ายเหมือนเชียงราย-พะเยา ระบุถึงวันนี้งบผู้ว่าฯยังไม่ได้แม้แต่บาทเดียว แต่พร้อมเดินหน้าขันน็อตทุกภาคส่วน
ท่ามกลางจุดความร้อนหรือ Hot Spot ที่เกิดขึ้นกระจายหลายพื้นที่ของลำปาง และบางวันยังครองสถิติสูงสุดในภาคเหนือ 9 จังหวัด ส่วนใหญ่จุดเกิดไฟป่าจะเป็นในป่า บนภูเขาสูง ที่ยากต่อการเข้าไปดับของเจ้าหน้าที่ ส่วนพื้นราบที่เข้าถึงการปฎิบัติงานของเหยี่ยวไฟ ซึ่งทำงานตามศูนย์วอร์รูมไฟป่า ประสานและสั่งการ แต่การจุดไฟเผาพื้นที่การเกษตรก็ยังคงมีให้เห็นตลอดแม้จะมีการแจ้งจับ-ปรับไปแล้วบางส่วน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ลำปางถูกปกคลุมด้วยหมอกควันไฟหนาแน่นติดต่อกันจนถึงระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน
นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้เปิดอกกับสื่อมวลชนถึงการแก้ปัญหาหมอกควันไฟและการเผาป่าที่กำลังเป็นวิกฤติของลำปางในขณะนี้ ว่าตนได้ตั้งเป้าจากสถิติปีที่ผ่านมา ด้านสุขภาพมีผู้ป่วยที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ ต้องให้คนป่วยน้อยลง 70% จุดความร้อนหรือ Hot Spot ต้องลดลง 50% ส่วนวันที่ค่า PM 2.5 เกินกี่วันในปีที่ผ่านมา ต้องลดให้ได้ครึ่งหนึ่ง ซึ่งหากทำได้ก็ถือว่าบรรลุเป้าหมายของจังหวัดที่ตั้งไว้
แต่ตอนนี้ตนยอมรับเลยว่าการแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าของลำปางยากกว่าเชียงรายและพะเยา ด้วยบริบทหลายอย่างที่ไม่เหมือนกัน จึงทำให้การแก้ปัญหาไม่ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ ทั้งจุดความร้อน จำนวนการเผาป่า หรือแม้แต่ผู้ที่เจ็บป่วยที่ตั้งเป้าให้ลดลงทั้งหมด ก็ยังทำได้ไม่ดี
ผู้ว่าฯหมูป่า บอกอีกว่าด้านงบประมาณแม้ไม่ได้ถือว่าเป็นศูนย์ แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดฯยังไม่ได้รับงบประมาณมาดำเนินการแม้แต่บาทเดียว การที่เคยวางแผนว่าจะนำเงินจ้างคนที่อยู่รอบป่าให้มาเป็นผู้ดูแลและดับไฟเมื่อเกิดเหตุเหมือนที่เชียงรายก็ทำไม่ได้ เพราะไม่มีงบประมาณ การดำเนินการแต่ละอำเภอก็ยังอ่อน ซึ่งเรื่องนี้ตนเองจะต้องเร่งขันน็อตนายอำเภอทั้ง13 อำเภอ ให้ทำงานเชิงรุกให้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้
และอีกอย่างที่ลำปางไม่เหมือนจังหวัดอื่นคือ บริบทความร่วมมือของประชาชน ส่วนใหญ่รอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการเพราะเห็นว่าเสียภาษีให้รัฐแล้ว ดังนั้นจึงจะเห็นว่าเมื่อมีการขอความร่วมมือกับประชาชนโดยรอบจะยากกว่าที่ตนเคยทำงานมา ซึ่งปัญหาเหล่านี้ต้องนำมาวิเคราะห์เพื่อแก้ไขต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่าแล้วการดำเนินการด้านกฎหมายจำเป็นต้องเด็ดขาดกว่านี้หรือไม่ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางกล่าวว่าจริงๆแล้วเรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่นกฎหมายสาธารณะสุขซึ่งง่าย และกฎหมายอื่นๆตนได้มอบนโยบายไปแล้ว แต่ผู้ปฎิบัติก็ไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่มีปัญหาระหว่างหน่วยงานที่จะต้องพูดคุยและทำความเข้าใจให้ตรงกัน
ด้านการประชาสัมพันธ์การทำงานหรือนโยบายต่างๆ ตนเองได้ให้นโยบายและกำชับไปแล้วเพื่อให้ข้อมูลลงถึงประชานให้ได้มากที่สุด แต่หน่วยงานของรัฐก็ยังทำงานได้ไม่เต็มที่ตามที่ตั้งเป้าไว้
แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นในขณะนี้คือการทำงานดับไฟของเจ้าหน้าที่ถือว่าดับได้เร็วมาก เมื่อมีการแจ้งจุดที่เกิดไฟไหม้ หน่วยงานบางส่วนก็ให้ความร่วมมืออย่างดี ทั้งนำรถน้ำออกดับไฟบริเวณข้างทาง นำรถโปรยน้ำลดฝุ่น แต่ที่เราต้องการคือไม่อยากให้มีการเกิดไฟไหม้ขึ้น นั่นคือโจทย์ที่จะต้องเร่งดำเนินการ
ล่าสุดวานนี้ (24 ม.ค.) ได้มีการรับฟังการประชุมทางไกลผ่าน VCS และหลังจากนั้นผู้ว่าฯลำปางได้มีข้อสั่งการเรื่องการป้องกันและแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นปฎิบัติการเรื่องสาธารณสุข สุขภาพเป็นหลัก รวมถึงสถาการณ์ที่เกิดขึ้นจริง พร้อมกับแบ่งหน้าที่ให้ชัดเจน ดังนี้
1.มาตรการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง(แหล่งกำเนิด)
1.1 ให้สำนักงานขนส่งจังหวัดลำปาง ร่วมกับตำรวจภูธรจังหวัดลำปาง เข้มงวดตรวจจับรถควันดำ ตรวจสภาพ/บำรุงยานพาหนะขนส่งสาธารณะ และรณรงค์ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล
1.2 ให้ควบคุมการเผาในที่โล่งและพื้นที่การเกษตรอย่างเคร่งครัด โดยรณรงค์และสนับสนุนให้นำเศษวัสดุการเกษตรไปใช้ประโยชน์หรือย่อยสลายด้วยวิธีที่เหมาะสมแทนการเผา สำหรับพื้นที่ที่มีความจำเป็นต้องเผา จะต้องมีมาตรการจัดระเบียบการเผาตามลักษณะพื้นที่ แบ่งช่วงเวลาให้เหมาะสม และดำเนินการควบคุมให้เป็นไปตามที่กำหนด
โดยมีหน่วยงานทำหน้าที่ควบคุมพื้นที่คือ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่3ลำปาง ควบคุมการเผาในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ,สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่13ลำปาง ควบคุมการเผาในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ , สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดลำปาง ควบคุมการเผาในพื้นที่เขต สปก.และพื้นที่การเกษตร , อำเภอ อปท. ควบคุมการเผาในพื้นที่ชุมชนและอื่นๆ ,แขวงทางหลวงลำปางที่1 แขวงทางหลวงลำปางที่2 และแขวงทางหลวงชนบทลำปาง ควบคุมการเผาในพื้นที่ริมทางหลวง
1.3 ให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดลำปาง ร่วมกับ อปท. ที่มีโครงการก่อสร้างในพื้นที่ ดำเนินการป้องกันและควบคุมเพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองจากการก่อสร้างโดยติดตามตรวจสอบให้ผู้ประกอบการก่อสร้างดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย มาตรการญและหลักวิชาการ
1.4 ให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง ตรวจสอบและควบคุมการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยหากมีประเด็นปัยหาร้องเรียนผลกระทบจากมลพิษของดรงงานให้ดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วย
2. มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ
2.1 ให้ทุกหน่วยงาน ติดตาม ตรวจสอบคุณภาพอากาศ โดยใช้ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษและกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งขยายเครือข่ายแจ้งเตือน เพื่อเป็นการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยการประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้ ความเข้าใจให้ประชาชนรับทราบถึงสถานการณ์ที่ถูกต้อง วิธีการปฎิบัติจนในการดูแลรักษาสุขภาพอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง
2.2 ให้อำเภอ และ อปท. สร้างความตระหนักและปรับพฤติกรรมของประชาชน ในการลดการเผาในที่โล่ง พื้นที่การเกษตร และการเผาขยะในชุมชน/เมือง
3. ขอความร่วมมือหน่วยงานราชการ ในการตรวจสอบสภาพรถยนต์ของทางราชการไม่ให้ปล่อยควันดำเกินค่ามาตรฐาน การเปลี่ยนมาใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การดับเครื่องยนต์ขณะจอดในสถานที่ราชการ และกานลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในการเดินทางมาทำงาน เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับประชาชน และภาคส่วนอื่นๆ
4. ให้ตำรวจภูธรจังหวัดลำปาง สร้างการรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจในข้อกฎหมายที่ถูกต้องและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด หากพบการกระทำผิดให้ดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างจริงจัง
5.ให้หน่วยงานรายงานผลการดำเนินงานตามมาตรการข้างต้น ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง ทุกวันพฤหัสบดี
ส่วนสภาพอากาศในตัวเมืองจังหวัดลำปาง ตามรายงานกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่าจนถึงวันที่ 24 ม.ค. PM2.5 ในลำปางยังคงเกินมาตรฐาน เป็นพื้นที่สีส้ม ซึ่งเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน