ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ นำทุกภาคส่วนร่วมกิจกรรม Big Cleaning day ทำความสะอาดและฉีดพ่นละอองน้ำรอบศูนย์ราชการ รณรงค์ป้องกันแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า แจงเว็บไซต์ต่าง อาจเข้าใจคลาดเคลื่อน เหตุจังหวัดอื่นคุณภาพอากาศแย่กว่า ยันเฝ้าระวังใกล้ชิดหลังพบจุดความร้อนเพิ่มขึ้น และค่าฝุ่นเกินมาตรฐานแล้ว 2 วัน
วันนี้ (7 มี.ค.) นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานนำหัวหน้าส่วนราชการ ทหาร และจิตอาสา ร่วมกิจกรรม Big Cleaning day บริเวณศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีการปล่อยขบวนรถทำความสะอาด ประกอบด้วย รถบรรทุกน้ำจาก มณฑลทหารบกที่ 33, องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่, เทศบาลนครเชียงใหม่, เทศบาลสันผีเสื้อ, เทศบาลตำบลสุเทพ, เทศบาลตำบลช้างเผือก, องค์การบริหารส่วนตำบลช้างเผือก, องค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว, ศูนย์ ปภ.เขต 10 ลำปาง, สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ รวมจำนวนทั้งหมด 20 คัน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า และลดมลพิษในอากาศไม่ให้ส่งผลกระทบและเป็นอันตรายต่อประชาชนในตัวเมืองเชียงใหม่
ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศบรรเทาปัญหาหมอกควัน และรณรงค์ให้ผู้คนเกิดความตระหนักเห็นความสำคัญของปัญหาช่วยกันป้องกันแก้ไขปัญหา สาเหตุหลักมาจากการจุดไฟเผาทั้งเผาป่า และเผาพื้นที่การเกษตร รวมทั้งการเผาที่โล่งทุกชนิด ทั้งนี้ สถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 61 ถึง 4 มี.ค. 61 จังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีจุดความร้อน (Hot spot) ทั้งสิ้น 314 จุด เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่พบว่ามีทั้งสิ้น 208 จุด
ขณะที่ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 เกินค่ามาตรฐาน 120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร จำนวน 2 วัน เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 61 ที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม วัดค่าได้ 128 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และวันนี้ (7 มี.ค. 61) ที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ วัดค่าได้ 123 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร
ส่วนภาพรวมสถานการณ์คุณภาพอากาศวานนี้ (6 มี.ค. 61) ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ยอมรับว่าหากเป็นรายชั่วโมงอาจเกินมาตรฐานบ้างซึ่งได้กำชับทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ปัญหาอย่างใกล้ชิดและเพิ่มความเข้มข้นในการทำงานเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ พบว่าพื้นที่ที่ตรวจพบจุดความร้อนส่วนใหญ่อยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ ได้เน้นย้ำการป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้ในพื้นที่ป่า เพราะหากเกิดแล้วส่งผลกระทบมาก ด้วยการเพิ่มความเข้มงวดและความถี่ในการลาดตระเวน โดยมีการเสริมกำลังจากพื้นที่ตอนเหนือที่สถานการณ์ยังไม่รุนแรงเข้าไปช่วยด้วย ขณะเดียวกัน ขอความร่วมมือประชาชนช่วยสอดส่องและแจ้งเบาะแสการเผาด้วย จนถึงเวลานี้สามารถจับกุมผู้ฝ่าฝืนได้แล้ว 3 ราย ดำเนินคดีตามกฎหมาย และมีรางวัลนำจับให้แก่ผู้แจ้งเบาะแสด้วย
สำหรับกรณีที่มีสื่อท้องถิ่นรายหนึ่งนำเสนอข่าวโดยอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันตรวจวัดคุณภาพอากาศของต่างประเทศ ระบุว่าผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่วานนี้ (6 มี.ค) มีดัชนีคุณภาพอากาศ หรือ AQI แย่ติดอันดับ 1 ของโลกนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศวานนี้ (6 มี.ค.) ของกรมควบคุมมลพิษ พบว่ามีหลายจังหวัดที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 และ AQI สูงกว่าจังหวัดเชียงใหม่มาก แต่ไม่ได้ถูกจัดอันดับดังกล่าว ทั้งนี้จะมีการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งว่าเว็บไซต์ดังกล่าวมีวิธีการตรวจวัดอย่างไร โดยเบื้องต้นในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่อ้างอิงผลการตรวจวัดคุณภาพของกรมควบคุมมลพิษเป็นหลัก และพร้อมจะใช้ข้อมูลผลการตรวจวัดจากสถาบันการศึกษาหรือแหล่งอื่นหากได้รับการรับรองจากกรมควบคุมมลพิษ
รายงานข่าวแจ้งว่า จากการตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันตรวจวัดคุณภาพอากาศ AirVisual ตามที่มีการอ้างอิงข้อมูลว่า ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่วานนี้ (6 มี.ค.) มีดัชนีคุณภาพอากาศ หรือ AQI แย่ติดอันดับ 1 ของโลกนั้น พบว่า การนำเสนอข่าวดังกล่าวอาจจะมีการนำเสนอข้อมูลที่ได้จากแหล่งดังกล่าวไม่ครบถ้วน ยกตัวอย่างเช่น เวลา 12.00 น.วันนี้ (7 มี.ค.) ในตารางจัดอันดับผลการตรวจวัด AQI ในแอปพลิเคชันดังกล่าว จังหวัดเชียงใหม่อยู่ที่อันดับ 5 วัดค่าได้ 174 โดยที่ผลการตรวจวัด AQI ของจังหวัดลำปาง ณ เวลาเดียวกัน วัดค่าได้ 194 ซึ่งสูงกว่า ไม่ได้ถูกจัดอันดับอยู่ในตารางด้วย เป็นต้น
ด้านนายระพีศักดิ์ มาลัยรุ่งสกุล ผู้อำนวยการสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กของจังหวัดเชียงใหม่ขึ้นอันดับ 1 โดยข้อมูลดังกล่าวเป็นการอ้างอิงจาก application : Air visual ที่บอกว่า เชียงใหม่ค่า AQI สูงที่สุดในโลก โดยใช้ค่ามาตรฐาน AQI เป็นค่ามาตรฐานของ US EPA ในการคำนวณค่าดัชนีมลพิษทางอากาศ ประกอบด้วย 5 ตัว ได้แก่ O3 NO2 SO2 CO และ PM 2.5 ซึ่งคิดค่ามาตรฐาน PM 2.5 ที่ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่มาตรฐานประเทศไทยโดยกรมควบคุมมลพิษ คิดค่ามาตรฐานที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทำให้ค่า AQI ที่ปรากฏมีตัวเลขที่สูง ซึ่งเป็นการนำเสนอผลที่ไม่ครบถ้วนทุกสถานีตรวจวัด และรวมกับเครื่องตรวจวัดอื่นที่ไม่ระบุหน่วยงาน
ในวันนี้ (7 มี.ค. 61) เวลา 11.38 น. พบว่าการรายงานจังหวัดเชียงใหม่อยู่ในลำดับที่ 5 แต่จากแผนที่ใน app Air visual ค่า PM 2.5 พบว่าที่จังหวัดตากมีค่าอยู่ที่ 228 ขึ้นเป็นสีม่วง ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพมาก ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้กำชับมาตรการเข้มงวดเรื่องการเผาในพื้นที่และมีการติดตามผลตลอดเวลา เพื่อให้คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
สำหรับ จังหวัดเชียงใหม่ ได้ใช้การวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) โดยเป็นการวัดจากกรมควบคุมมลพิษที่รับรองว่าเป็นค่าที่ถูกต้อง และเป็นดัชนีคุณภาพอากาศในแบบสากลที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศ ซึ่งจะมีการรายงานสภาพอากาศ แบบ Real Time ในแบบรายชั่วโมง และเฉลี่ย 24 ชั่วโมง โดยในบางช่วงเวลาก็อาจจะมีเกินบ้าง แต่จะคิดในแบบค่าเฉลี่ยรวมตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง
พร้อมเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลที่ไม่มีแหล่งอ้างอิงหรือเป็นแหล่งที่มาไม่ชัดเจน ซึ่งผู้ที่นำไปเผยแพร่ต่ออาจเข้าข่ายการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ทำให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิดได้ โดยสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสภาพอากาศย้อนหลังได้ที่ แฟนเพจเฟซบุ๊ก “อากาศบ้านเฮา”