ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เชียงใหม่หมอกควันคลุมทึบตัวเมือง ขณะที่ “แม่แจ่ม” มาแล้ว! ค่าฝุ่นขนาดเล็ก PM10 พุ่งทะลุค่ามาตรฐาน วัดได้ 128 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ก่อนพรุ่งนี้ (1 มี.ค. 61) จังหวัดเชียงใหม่เริ่มวันแรก “51 วันไม่เผา เพื่อเชียงใหม่ไร้หมอกควัน” ขณะที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือจับตาเตรียมพร้อมบินบรรเทาปัญหา
รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า วันนี้ (28 ก.พ. 61) สภาพตัวเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่ช่วงเช้าถูกปกคลุมหนาทึบด้วยหมอกควันจนทำให้ไม่สามารถมองเห็นดอยสุเทพจากระยะไกลได้ตามปกติ
ขณะที่ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศจะพบว่าที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในตำบลช้างเผือก และตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 เฉลี่ยในรอบ 24 ชั่วโมง ณ เวลา 09.00 น. ยังไม่เกินค่ามาตรฐาน 120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร โดยวัดได้ 95 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และ 66 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม พบว่าที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม วัดค่าได้ 128ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงเกินค่ามาตรฐานแล้ว ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเน้นย้ำเกี่ยวกับการควบคุมการเผาอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันปัญหาที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
ทั้งนี้ วันพรุ่งนี้ (1 มี.ค. 61) จะเป็นวันแรกของการบังคับใช้มาตรการเข้มข้นตามประกาศจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง กำหนดช่วงเวลาห้ามเผาในที่โล่งทุกชนิดอย่างเด็ดขาดในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยสาระสำคัญหนึ่งของประกาศดังกล่าวอยู่ที่การกำหนดช่วงเวลาห้ามเผาเด็ดขาดระหว่างวันที่ 1 มี.ค.-20 เม.ย. 61 ภายใต้ชื่อ “51 วันไม่เผา เพื่อเชียงใหม่ไร้หมอกควัน” ด้วยการจัดชุดลาดตระเวน, จัดชุดปฏิบัติการเข้าดับไฟทันทีในเวลาอันรวดเร็วหากมีการเผาในพื้นที่ และดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
สำหรับผู้ชี้เบาะแสเพื่อนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำผิดจะมีรางวัลนำจับรายละ 5,000 บาท โดยแจ้งได้ที่ศูนย์อำนวยการสั่งการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่ โทร. 0-5311-2236 หรือ 191 ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนผู้ใดที่จะทำการเผาหลังวันที่ 20 เม.ย. 61 ต้องขออนุญาตจากนายอำเภอก่อนดำเนินการทุกครั้งเพื่อควบคุมการเผาโดยพนักงานเจ้าหน้าที่
ด้าน น.ส.หนึ่งหทัย ตันติพลับทอง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้เตรียมความพร้อมในการบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่าในเขตภาคเหนือ โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคทั้ง 5 ศูนย์ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคใต้ เตรียมความพร้อมโดยติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงสร้างความชุ่มชื้นให้แก่พื้นที่ป่าไม้ ในการบรรเทาปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และเติมน้ำให้กับเขื่อนกักเก็บน้ำในเขตภาคเหนือ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความต้องการน้ำในแต่ละพื้นที่
สำหรับจังหวัดเชียงใหม่นั้น ทางศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือจะได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากมีสภาพอากาศที่จะสามารถทำฝนหลวงได้ก็จะเร่งทำ ซึ่งช่วงนี้มีสภาพอากาศที่แปรปรวนและมีพายุพัดเข้ามา ทำให้ค่า PM10 ไม่เกินค่ามาตรฐาน โดยแผนปฏิบัติการประจำปีของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงกำหนดเริ่มในวันที่ 1 มี.ค.-31 ต.ค. 61 ซึ่งในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนจะเน้นเรื่องการแก้ปัญหาหมอกควัน ไฟป่าเป็นหลัก ร่วมกับปัญหาภัยแล้งระยะที่ 1 และช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมเป็นเรื่องของปัญหาภัยแล้งระยะที่ 2 ที่จะช่วยเหลือและบรรเทาความต้องการน้ำทางการเกษตร จากนั้นช่วงเดือนสิงหาคมจนถึงตุลาคมจะเป็นเรื่องของปัญหาภัยแล้งระยะที่ 3 นอกจากนี้ ยังมีแผนเติมน้ำต้นทุนของเขื่อนกักเก็บน้ำอีกด้วย ซึ่งแผนปฏิบัติการในทุกๆ แผนจะมีการปรับแผนให้เข้ากับสถานการณ์ตลอดเวลา
ทั้งนี้ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่จะดูแลครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา ตาก โดยมีเครื่องบินรวม 4 เครื่อง ได้แก่ เครื่องบินกาซ่า จำนวน 2 เครื่อง เครื่องบินชนิดซีเอ็น จำนวน 1 เครื่อง และเฮลิคอปเตอร์ 1 เครื่อง เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงสร้างความชุ่มชื้นให้พื้นที่ป่าไม้ ในการบรรเทาปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และเพื่อการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงในเขตภาคเหนือ และเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้แก่พื้นที่ลุ่มน้ำเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแม่มอก และอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือยังคงติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงในการช่วยเหลือพื้นที่ร้องขอทันทีที่สภาพอากาศเหมาะสม ซึ่งได้ประสานประชาชนเพื่อหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เช่น พื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นต้น โดยสามารถแจ้งข้อมูลสถานการณ์ความต้องการฝนในพื้นที่โดยตรงทางโทรศัพท์หมายเลข 0-5327-5051 ต่อ 12 และติดต่อข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ทาง Facebook ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ หรือทางเว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร www.royalrain.go.th รวมทั้งมีบริการข้อมูลผลตรวจเรดาร์ฝนหลวงทั่วประเทศบนหน้าเว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร http://122.154.75.14/RRMThaiGov/RadarApp/RadarMainRoyalRain.php