อุบลราชธานี - สำนักงานชลประทานที่ 7 จ.อุบลราชธานี คาดภัยแล้งอีสานตอนล่างไม่รุนแรง เหตุปริมาณน้ำเก็บกักพอใช้ตลอดฤดูแล้ง แนะเกษตรกรปลูกข้าวนาปรังไว้แต่พอกิน เน้นปลูกพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อย มุ่งลดความเสี่ยงอากาศแปรปรวน ยันสงกรานต์ปีนี้แก่งสะพือมีน้ำให้นักท่องเที่ยวเล่นกันคึกคัก
นายไพฑูรย์ ไชยภูมิสกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 7 จ.อุบลราชธานี เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำช่วงหน้าแล้งปีนี้ว่า ในฐานะหน่วยงานที่บริหารจัดการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และน้ำใช้ทำเกษตรกรรมพื้นที่ 5 จังหวัดอีสานตอนล่าง ประกอบด้วย อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ มุกดาหาร และนครพนม ระดับน้ำตามอ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ในภาพรวมของภาคอีสานทั้ง 12 แห่ง
มีระดับน้ำเก็บกักไว้คิดเป็นร้อยละ 65.75 ของความจุ หรือกว่า 5,502 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดีคือเฉลี่ยร้อยละ 50-80 มากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีน้ำเพียงร้อยละ 30-50 เท่านั้น ทำให้ฤดูแล้งปีนี้ภาคอีสานทั้งภาคมีน้ำใช้การได้ถึงร้อยละ 46 หรือมากกว่าปีที่แล้วกว่า 930 ล้านลูกบาศก์เมตร
ด้านอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในความดูแลของสำนักงานชลประทานที่ 7 จำนวน 60 อ่าง ปัจจุบันมีน้ำเก็บกักไว้รวมกัน 260.84 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 69 ของความจุ มากกว่าช่วงเดียวกันของปี 2560 ซึ่งมีปริมาณน้ำเพียง 189.12 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้คาดการณ์ปีนี้พื้นที่ 5 จังหวัดอีสานตอนล่างจะไม่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และใช้ทำเกษตรกรรม
นายไพฑูรย์กล่าวต่อว่า ในปีนี้จึงไม่ออกประกาศห้ามทำนาปรังในพื้นที่นอกเขตชลประทาน และถูกน้ำท่วมปีที่ผ่านมา เพราะเกษตรกรมีความจำเป็นต้องปลูกข้าวไว้กินเอง แต่ได้ให้คำแนะนำเกษตรกรเพื่อลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของสภาพอากาศ ควรปลูกข้าวไว้แต่พอกิน ให้หันไปปลูกพืชอายุสั้นและใช้น้ำน้อย แต่ให้ผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจใกล้เคียงหรือมากกว่าการปลูกข้าว ซึ่งสำนักงานชลประทานที่ 7 จะเฝ้าติดตามสถานการณ์ไปจนกว่าจะถึงฤดูฝน แต่ยืนยันว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ 5 จังหวัดอีสานตอนล่างปีนี้ไม่ประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงเหมือนปี 2558 และปี 2559
นอกจากนี้ สำนักงานชลประทานที่ 7 ยังร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้เตรียมจัดสรรน้ำกว่า 15 ล้านลูกบาศก์เมตรใช้สนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ปีนี้ โดยจะเปิดประตูเขื่อนปากมูลลดระดับน้ำในแม่น้ำมูลให้แก่งสะพือโผล่พ้นน้ำ และจ่ายน้ำให้ประชาชนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอด้วย