อุบลราชธานี - ชาวบ้านที่ถูกอพยพสมัยสร้างเขื่อนปากมูลเมื่อกว่า 20 ปีก่อน มาอยู่ในที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ยื่นหนังสือร้อง ผวจ.อุบลราชธานี ขอที่ดินทำกินคนละ 2 ไร่ เพราะมีมติ ครม.สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร รองรับให้ตั้งเป็นชุมชนอยู่อาศัยได้ แต่เมื่อวานมีการทำประชาคมขับไล่ให้ออกจากที่อยู่อาศัย จึงมาร้องให้ราชการช่วยเหลือ
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี มีกลุ่มตัวแทนชาวบ้านประมาณ 30 คน นำโดยนายสิทธิภพ คุณาธรวัฒน์ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อขอความชัดเจนกรณีที่กลุ่มของพวกตนจำนวน 39 ครอบครัว ซึ่งเดิมได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนปากมูลเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ต้องอพยพออกจากที่ทำกินเดิมและมาพักอาศัยในพื้นที่สาธารณะบ้านโนนสูง หมู่ 6 ต.โขงเจียม อ.โขงเจียม และต่อมามีมติ ครม.ให้จัดหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินให้กับพวกตนที่ได้รับความเดือดร้อนครอบครัวละ 2 ไร่
ต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม 2560 อบต.นำประกาศมาติดให้ชาวบ้านทั้งหมด อพยพออกจากที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ของที่ดินสาธารณประโยชน์ตุงลุง ตามหนังสือสำคัญที่หลวง ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2551 แต่ชาวบ้านกลุ่มนี้ได้โต้แย้งสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร และเมื่อปี 2544 ได้มีมติ ครม.ให้ชาวบ้านทั้ง 39 ครอบครัวพักอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวได้ แต่ห้ามไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่เพิ่มเติม โดยให้ตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่และจัดสรรที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านครอบครัวละ 2 ไร่ ซึ่งตลอดมาชาวบ้านได้เรียกร้องให้มีการรังวัดแนวเขตที่ดิน เพื่อออกเอกสารสิทธิครอบครองที่ดินตามคำสั่งของ ครม.แต่ไม่มีการดำเนินการ กระทั่งมีการประกาศขับไล่ให้ออกจากที่อาศัย
ต่อมาในเดือนเดียวกัน นายศิริชัย อิทธิวงศ์ศุภกิจ นายอำเภอโขงเจียม จัดประชุมชาวบ้านร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคง มีการตกลงให้ผู้อยู่อาศัยเดิมที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลทั้ง 39 ราย อาศัยอยู่ในที่เดิมที่มีพื้นที่รวมกัน 105 ไร่ได้ แต่ห้ามขยายพื้นที่เพิ่มเติม
นอกจากนี้จะเสนอรายชื่อชาวบ้านไปยังสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัด (ส.ป.ก.) ให้จัดหาที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านในกลุ่มนี้รายละ 25 ไร่ เพื่อเอาไว้ทำกินหรือแบ่งให้ลูกหลานในอนาคต โดยมีข้อแม้ว่า หากผู้อยู่อาศัยเดิมที่เป็นพ่อหรือแม่ได้เสียชีวิตทั้งสองคนจะต้องคืนที่ดินกลับไปเป็นที่สาธารณประโยชน์ตามเดิม โดยไม่สามารถตกทอดเป็นมรดกให้แก่ลูกหลานได้ ส่วนผู้ที่เข้ามาบุกรุกเพิ่มเติมในภายหลังจำนวน 38 ราย จะต้องออกจากที่ดินที่ครอบครองไว้ หากขัดขืนจะถูกจับกุมดำเนินคดีฐานบุกรุกที่สาธารณะภายในกำหนดทันที
กระทั่งเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ชาวบ้าน 4 หมู่บ้านได้มีการทำประชาคมที่วัดสว่างวารี ต.โขงเจียม เพื่อลงมติการอยู่อาศัยของกลุ่มชาวบ้านที่เข้าไปบุกรุกที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ทั้งกลุ่มเก่าและกลุ่มใหม่ รวมกันแล้วกว่า 70 ครอบครัว โดยที่ประชุมมีมติให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลทั้ง 39 ราย ให้ออกจากพื้นที่สาธารณะประโยชน์ จำนวน 251 เสียง และให้สามารถอยู่ต่อได้จำนวน 55 เสียง และผู้ประสงค์ลงมติประชาคม จำนวน 12 เสียง จึงทำให้ชาวบ้านเหล่านี้กลัวไม่มีที่อยู่อาศัยจึงมายื่นหนังสือร้องต่อนายสมศักดิ์ช่วยเหลือในวันนี้
ต่อมา นายพิจิตร บุญทัน ปลัดจังหวัดได้มารับหนังสือร้องเรียนจากกลุ่มชาวบ้าน พร้อมระบุว่าจะเสนอความเดือดร้อนไปยังนายสมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ เพื่อหารือไปทางกระทรวงมหาดไทยหาทางช่วยเหลือ แต่ถ้าชาวบ้านบุกรุกที่สาธารณะจริง เบื้องต้นต้องทำตามกฎหมายก่อน ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจและนัดแนะจะเคลื่อนไหวอีกครั้งถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือจากทางราชการ
ด้านนางไหน ทองเทพ อายุ 68 ปี ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนกล่าวว่า พวกตนเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล และถูกอพยพออกมาอยู่ในจุดนี้มากว่า 20 ปี ที่ผ่านมาก็ถูกไล่ให้ออกจากที่อยู่อาศัยตลอด ทั้งที่ก่อนหน้ามีมติ ครม.ออกมารองรับให้สามารถอยู่อาศัยได้ พวกตนก็จะไม่ยอมย้ายออกไปจนกว่าราชการจะหาทางช่วยเหลือให้ตนมีที่ทำกินก่อน