xs
xsm
sm
md
lg

สลค.เวียน “ตัวอย่างคำปรารภร่าง กม.ฉบับใหม่” ต้องระบุเหตุผล “การจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพขอบุคคล” ให้เป็นไปตาม รธน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สลค. เวียนหนังสือ ตัวอย่างคำปรารภ “วรรคสาม” ให้หน่วยงานรัฐที่จะเสนอ ร่าง กม. ฉบับใหม่ ให้เป็นไปตาม มาตรา 77 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดแนวทางตามความเห็นกฤษฎีกาคณะพิเศษ ให้ระบุ “เหตุผลและความจำเป็น” ในการตรากฎหมาย หากมีเนื้อหาเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพขอบุคคล ให้ระบุ “เหตุผลและความจำเป็น” ที่ต้องจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลในเรื่องดังกล่าว และระบุเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องใช้ระบบคณะกรรมการ หรือระบบอนุญาต รวมทั้งระบุเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องใช้โทษอาญาสำหรับความผิดร้ายแรง

วันนี้ (13 มิ.ย.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ทำหนังสือเวียนแจ้งหน่วยงานราชการ เพื่อแจ้งแนวทางการจัดทำร่างกฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (เพิ่มเติม) ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน โดยกำหนดแนวทาง 2 ส่วน ประกอบด้วย 1. แนวทางการเขียนความใน “วรรคสาม” ของคำปรารภในร่างกฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิ หรือเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ 2. แนวทางการเขียนบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบการเสนอร่างกฎหมายเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมาย

ทั้งนี้ เพื่อแจ้งตาม มติ ครม. 6 มิ.ย. 2560 เพื่อจัดทำเพิ่มเติมจากมติ ครม. 11 เม.ย. 2560 (เรื่องแนวทางทางการจัดทำร่างกฎหมาย ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (มาตรา 26 และมาตรา 81 ประกอบมาตรา 263) ที่ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐผู้เสนอร่างกฎหมายยังมีความเห็นและถือปฏิบัติต่างต่างกันอยู่

มีรายงานว่า ร่างกฎหมาย 2 ส่วน ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) เห็นชอบ ส่วนที่หนึ่ง ให้คงหลักการเกี่ยวกับการอ้างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ ทำนองเดียวกับพระราชบัญญัติที่ตราขึ้นในช่วงที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ใช้บังคับ โดยกำหนดไว้เป็น “วรรคสอง” ของคำปรารภ

ส่วนที่สอง ให้เพิ่มความขึ้นเป็น “วรรคสาม” ของคำปรารภ เพื่อระบุเหตุผลความจำเป็นในการตรากฎหมายที่มีผลเป็นการกำจัดสิทธิและเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็นการตรากฎหมายที่เป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือเป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติไว้ก็ตาม

ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) มีความเห็นโดยสรุปว่า การเขียนความใน “วรรคสาม” ของคำปรารภในร่างกฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพเพื่อการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญต้องประกอบไปด้วยสาระสำคัญ 2 ประการ คือ 1. เหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพเพื่อการปฏิบัติตามกฎหมายนั้นๆ และ 2. การระบุว่า กฎหมายนี้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 26 แล้ว

ยังเห็นว่า หลักการสำคัญในการตรากฎหมายควรพิจารณาถึงเหตุผลและความจำเป็นในการตรากฎหมายนั้น ๆไม่ว่ากฎหมายนั้นจะมีบทบัญญัติที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพหรือไม่ก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหตุผลและความจำเป็นในการใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในการตรากฎหมายตลอดจนการกำหนดโทษอาญาสำหรับความผิดร้ายแรง อันเป็นไปตามนโยบายแห่งรัฐในการตรากฎหมายตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ

“คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ยังเห็นควรให้มีการระบุไว้ให้ชัดเจนในการบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบการเสนอร่างกฎหมาย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมาย และเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ความในเหตุผลดังกล่าว จะได้ปรากฏเป็นหมายเหตุท้ายกฎหมายที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อเป็นข้อมูลแก่ประชาชนทั่วไป โดยหลักเกณฑ์ที่ต้องคำนึงถึงในการเขียนเหตุผลประกอบร่างกฎหมายดังกล่าว ได้แก่ 1. เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายในเรื่องนั้น 2. หากกฎหมายนั้นมีเนื้อหาเป็นการจำกัดสิทธิ หรือเสรีภาพขอบุคคล ควรระบุตุผลและความจำเป็นที่ต้องมีการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลในเรื่องดังกล่าว และ 3. เหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องใช้ระบบคณะกรรมการหรือระบบอนุญาต รวมทั้งเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องใช้โทษอาญาสำหรับความผิดร้ายแรง”




กำลังโหลดความคิดเห็น