xs
xsm
sm
md
lg

ศาล รธน.ไม่รับวินิจฉัยคำร้อง คปพ. ปมร่าง พ.ร.บ.ปิโตรฯ ขัด รธน. เหตุไม่เข้าเงื่อนไข

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (แฟ้มภาพ)
มติที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับวินิจฉัยคำร้อง คปพ.ปมร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ขัดรัฐธรรมนูญ ม.77 หรือไม่ เหตุยังไม่เข้าเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ ม.213

วันนี้ (8 มิ.ย.) นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องที่เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) นำโดยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ใช้สิทธิในฐานะประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ยื่นขอให้วินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ที่ สนช.ลงมติผ่านวาระ 3 เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 วรรคสองหรือไม่ ไว้วินิจฉัย โดยศาลเห็นว่าคำร้องดังกล่าวยังไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 213

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 213 ระบุว่า บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ โดยคำร้องดังกล่าวนายปานเทพ ได้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 9 พ.ค. เนื่องจากเห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 77 ได้กำหนด ให้ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ต่อประชาชน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม สิ้นสุดการพิจารณาในชั้นของสภานิติบัญญัติ (สนช.) เมื่อวันที่ 30 มี.ค. และมีการยื่นไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในวันที่ 18 เม.ย. เพื่อให้ดำเนินการในเรื่องนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้า โดยเป็นระยะเวลาหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อวันที่ 6 เม.ย. จึงเห็นว่าระยะเวลา 12 วันนับจากวันที่ 6-18 เม.ย. เป็นช่วงที่ สนช.สามารถดำเนินการตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ได้แต่กลับไม่มีการดำเนินการ ร่างกฎหมายดังกล่าวจึงเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ จึงได้มาใช้สิทธิในฐานะประชาชนที่ถูกละเมิดยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
กำลังโหลดความคิดเห็น