xs
xsm
sm
md
lg

“ปราบโกง” แค่เสือกระดาษ? “รสนา” มีคำถาม หลังศาล รธน.ปัดรับคำร้อง กม.ปิโตรเลียม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

น.ส.รสนา โตสิตระกูล(ภาพจากแฟ้ม)
อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ สงสัย รัฐธรรมนูญปราบโกงยุค คสช. จะเป็นแค่เสือกระดาษ หรือไม่ หลังศาล รธน. ไม่รับคำร้อง “ปานเทพ” ที่ให้วินิจฉัย ร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียมฯ ขัด รธน. มาตรา 77 หรือไม่ กรณี สนช. ตัด “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” ออกจากร่างฯ ผิดข้อบังคับการประชุม เหลือความหวังสุดท้าย “ผู้ตรวจการแผ่นดิน”

เมื่อเวลา 22.15 น. วันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร และ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล หัวข้อเรื่อง “อย่าให้กลไกปราบโกงใน รธน. ยุค คสช. เป็นเพียงเสือกระดาษ” โดยมีรายละเอียดว่า ข่าวกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่รับคำร้องของ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. โดยระบุว่า คำร้องที่ขอให้ศาล รธน. วินิจฉัยร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียมไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 77 วรรค 2 นั้น ไม่เข้าข่ายที่จะร้องต่อศาล

รธน. ตามมาตรา 213 ที่บัญญัติไว้ใน รธน. ฉบับประชามติว่า

“บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้มีสิทธิยื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคําวินิจฉัยว่าการกระทํานั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ”

ในกรณีนี้มิได้หมายความว่า ศาล รธน. ได้วินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ...นั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว ในกรณีนี้ ศาลเพียงแต่ยกคำร้องของประชาชนว่าไม่สามารถยื่นผ่านช่องทางมาตรา 213 ได้ เท่านั้น

ประชาชนเคยคาดหวังว่า มาตรา 213 จะเป็นช่องทางใหม่ของประชาชนในการตรวจสอบอำนาจรัฐที่เข้าข่ายเป็นการทุจริตเชิงนโยบาย หรือการทุจริตในทางนิติบัญญัติ ซึ่งหากปล่อยผ่านไป จะเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในมิติกว้างที่ไม่จำกัดเพียงการละเมิดสิทธิในระดับปัจเจกบุคคล เพราะการทุจริตในปัจจุบันเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนทั้งสังคม และการทุจริตมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น เป็นการร่วมมือกันระหว่างทุนและอำนาจรัฐ ซึ่งกลไกการตรวจสอบทุจริตเชิงนโยบายใน รธน. เป็นสิ่งที่ต้องมีการทดลองใช้ว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ หรือจะเป็นเพียงเสือกระดาษ

กรณีร่างแก้ไข พ.ร.บ. ปิโตรเลียมฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่นำมาใช้เป็นกติกาบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมที่มีมูลค่าปีละประมาณ 4 - 5 แสนล้านบาท ความต้องการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียมฯ นี้ เนื่องจาก
พ.ร.บ. ปิโตรเลียม 2514 มีข้อห้ามต่ออายุสัมปทานในแปลงที่รัฐให้สัมปทานการผลิตครบ 2 ครั้งแล้ว ซึ่งแปลงเอราวัณ และบงกช เข้าเงื่อนไขห้ามต่อสัมปทานอีก หลังหมดสัมปทานในปี 2565, 2566 ตามลำดับ จึงทำให้รัฐบาลต้องแก้ไขกฎหมายเพิ่มระบบใหม่ คือ ระบบแบ่งปันผลผลิตมาแทนระบบสัมปทาน ซึ่งระบบแบ่งปันผลผลิตต้องมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติเป็นกลไกบริหารจัดการ

แต่ระบบใหม่นี้ไม่เป็นที่ต้องการของกลุ่มทุนพลังงานที่เคยได้ประโยชน์จากระบบสัมปทาน และยังต้องการคงระบบสัมปทานต่อไปอิทธิพลของกลุ่มทุนพลังงานสามารถครอบงำนโยบายของภาครัฐได้

การเรียกร้องของภาคประชาชนให้มีระบบแบ่งปันผลผลิต และต้องมีกลไกบรรษัทพลังงานแห่งชาติมารองรับการบริหารแปลงเอราวัณ และบงกช หลังหมดสัมปทาน แต่ร่างกฎหมายของกระทรวงพลังงานเพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิต แต่ไม่บัญญัติให้มีบรรษัทพลังงานมารองรับการบริหารในระบบใหม่ ซึ่งทำให้ระบบใหม่เป็นเพียงระบบสัมปทานจำแลง เพื่ออำพรางและหลีกเลี่ยงข้อห้ามการต่อสัมปทานใน 2 แปลงดังกล่าว ซึ่งมีมูลค่าปีละประมาณ 2 แสนล้านบาท หากต่อสัมปทานให้เอกชน 10 ปี ก็จะมีมูลค่าประมาณ 2 ล้านล้านบาท

การเสนอข้อมูลทางวิชาการ ทำให้รัฐบาลยอมมีมติ ครม. 2 ครั้ง ให้เพิ่มมาตรา 10/1 ที่บัญญัติว่า “ให้ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อพร้อม” ไว้ในร่างกฎหมายปิโตรเลียมดังกล่าว ซึ่งกว่าจะยอมเพิ่มมาตราดังกล่าว ภาคประชาชนต้องขับเคลื่อนกิจกรรมอย่างเต็มที่ให้รัฐบาลได้รับทราบข้อมูลทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องใช้เวลาพิจารณากันนานถึง 9 เดือน แต่ประชาชนก็ยังเห็นว่า การตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติควรต้องดำเนินการให้เสร็จก่อนเปิดประมูลแปลงเอราวัณ และบงกช ประเทศจึงจะได้ประโยชน์

แต่เมื่อเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2, 3 ใน สนช. ซึ่งเป็นสภาเสียงข้างเดียว ไม่มีกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลกันเหมือนในสภาปกติ เมื่อมีธงให้คว่ำมาตรา 10/1 จากมือที่มองไม่เห็น สนช. จึงใช้วิธีล้มมวยด้วยการไม่ให้มีการโหวตมาตรา 10/1 แต่ให้กรรมาธิการถอนมาตรา 10/1 ออกไปเอง ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อข้อบังคับการประชุมของ สนช. โดยที่ข้อบังคับการประชุม สนช. เป็นข้อบังคับที่ร่างขึ้นตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 การผ่านร่างกฎหมายที่ขัดต่อข้อบังคับการประชุมของ สนช. ย่อมขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ

โดยปกติการผ่านร่างกฎหมายใน สนช. ไม่เคยมีปรากฏการณ์ว่า สนช. เคยโหวตคว่ำมาตราใดที่ กมธ. แก้ไขเพิ่มเติม โดยเฉพาะเป็นมาตราเพิ่มเติมที่มาจากมติ ครม. อีกด้วย ดังนั้น หากปล่อยให้มีการลงคะแนนตามปกติของ สนช. มาตรา 10/1 ก็จะเป็นมาตราในร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียมฯ นี้ อย่างแน่นอน แต่ถ้ามีการล็อบบี้ให้โหวตคว่ำมาตรา 10/1 ก็จะกลายเป็นว่า สนช. ขัดแย้งกับมติ ครม. จึงต้องใช้วิธีล้มมวยโดยไม่ให้มีการโหวตมาตรา 10/1 ซึ่งไม่เคยมีปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อนในรัฐสภาอันทรงเกียรติ

ร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม ที่ผ่าน สนช. อย่างไม่ตรงไปตรงมาเช่นนี้ หากเป็นสภาในยุคสมัยปกติที่มีพรรคเสียงข้างมาก และเสียงข้างน้อย และวุฒิสภา ผู้แทนเหล่านั้นก็ยังสามารถเข้าชื่อเพื่อยื่นเรื่องนี้สู่ศาล รธน. ได้

แต่ในยุคนี้ที่มีสภาเสียงข้างเดียว อาจจะยิ่งร้ายแรงกว่าสภาเผด็จการเสียงข้างมาก เพราะในยุคสภาเผด็จการเสียงข้างมาก ก็ยังมีเสียงข้างน้อยคอยถ่วงดุล แต่ในยุคสภาเผด็จการเสียงข้างเดียว ย่อมไม่มีผู้แทนปวงชนที่จะมาถ่วงดุลด้วยการส่งร่างกฎหมายที่ขัดกระบวนวิธีในทางนิติบัญญัติให้ศาล รธน. วินิจฉัยเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน

เมื่อศาล รธน. ได้ปิดประตูไม่รับคำร้องของประชาชนเพื่อให้มีการตรวจสอบว่าร่างกฎหมายปิโตรเลียมที่ผ่าน สนช. โดยขัดต่อข้อบังคับการประชุมของ สนช. นั้น จะชอบด้วย รธน. หรือไม่นั้น ก็เท่ากับว่า ในยุครัฐบาลอำนาจพิเศษที่มีสภาเสียงข้างเดียวเป็นที่ผลิตกฎหมายตามออเดอร์ หากเป็นกฎหมายที่เอื้อประโยชน์เอกชนยิ่งกว่าประโยชน์ประเทศชาติโดยขัดหลักนิติธรรมเสียแล้ว ก็แทบจะไม่มีกลไกตรวจสอบถ่วงดุลกันได้เลย

“ดิฉันยังรอทดสอบองค์กรอิสระอีกองค์กรหนึ่ง คือ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่สามารถรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน และสามารถส่งเรื่องให้ศาล รธน. วินิจฉัยได้ หากองค์กรนี้ปิดประตูต่อประชาชนอีกองค์กร ก็จะเป็นข้อพิสูจน์ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงนี้ คงเป็นได้แค่เสือกระดาษเท่านั้นเอง” น.ส.รสนา ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น