“รสนา” จี้ “ประยุทธ์” ทำเรื่องพลังงาน เป็นตัวอย่างเรื่องธรรมาภิบาล ก่อนไปถามหาจากคนอื่น ท้าเริ่มต้นด้วยการเปิดรายชื่อผู้ซื้อหุ้นผู้มีอุปการคุณ ปตท. แล้วคนจะแซ่ซ้องสรรเสริญ
เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพมหานคร และ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน ได้ร่วมพูดคุยในรายการ “คนเคาะข่าว” ภายใต้หัวข้อ “4 คำถาม กับธรรมาภิบาลด้านพลังงาน” ออกอากาศทางช่อง “นิวส์วัน”
โดย น.ส.รสนา กล่าวว่า เมื่อเชื่อมโยงเรื่องพลังงานกับ 4 คำถามของนายกฯ สิ่งที่ได้เห็นจากการฟ้องให้เพิกถอน ปตท. กรณีแปรรูปไม่ถูกกฎหมาย เวลากฎหมายกำหนดว่าประชาชนไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ เข้าใจระบบของเราเป็นระบบตัวแทน ประชาชนกลายเป็นผู้ที่ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง อย่างตอนที่ตนทำเรื่องทุจริตยา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่ำรวยผิดปกติฟ้องได้ แต่พอโยงถึงการรับสินบน ประชาชนไม่มีอำนาจฟ้องต้องให้กระทรวงสาธารณสุขมาฟ้องเหมือนกรณีพลังงาน ครม., นายกฯ, รมว.พลังงาน ที่ดูแลทรัพย์สินประชาชน ไม่อยากได้ทรัพย์คืน ประชาชนก็พยายามหาเครื่องมือ อย่างรัฐธรรมนูญปราบโกงตอนนี้ ที่อ้างว่าประชาชนมีสิทธิหมดทุกอย่างที่กฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ แต่เวลาปฏิบัติจริงมันไม่ได้ เพราะแต่ละหน่วยงานที่มีขึ้นมามันมีกระบวนการทุกอย่าง ต้องมีช่องทางของมัน เหมือนการที่ นายปานเทพ ทดลองร้องศาลรัฐธรรมนูญ กรณีเรื่อง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม ว่า ขัดมาตรา 77 วรรค 2 หรือไม่ ซึ่งศาลยกคำร้อง นี่ไม่ได้แปลว่า ศาลตัดสินว่า พ.ร.บ. ถูกต้องแล้ว แต่คือทางโซเชียลจะเอากรณียกฟ้องไปสู้กัน หยิบเอาประเด็นฟ้องท่อก๊าซอ้างว่าศาลยกคำร้อง คือ คืนครบแล้ว ถูกต้องแล้ว แต่เราบอกว่าที่ศาลสั่งไปพักไว้ มาไล่เบี้ยการบริหารราชการแผ่นดิน เราเป็นเจ้าหนี้ ลูกหนี้คืนแค่นี้พอใจได้ไง คนตรวจสอบบอกยังไม่ครบทำไมไม่ฟัง แล้วที่ศาลยกฟ้องเพราะ ปตท. ส่งเอกสารไม่ครบ เราเป็นเจ้าหนี้ก็ทักท้วงได้ แต่ปัญหาคือเจ้าหนี้ไม่ทักท้วง
“ฉะนั้น ต้องถามว่าธรรมาภิบาลของรัฐบาลชุดนี้อยู่ตรงไหน ถ้าเราจะมองไปถึงข้างหน้าว่ารัฐบาลสมัยหน้าจะมีธรรมาภิบาลไหม แล้วถ้าไม่มีธรรมภิบาลจะทำยังไง เราต้องทำเป็นแบบอย่างก่อน ถ้าเรามีแบบอย่างขึ้นมา เรื่อง 10 ปีมาแล้ว ผ่านทั้งรัฐบาลรัฐประหาร รัฐบาลเลือกตั้ง แล้วกลับมารัฐบประหารอีก ผ่านมาสองแบบแล้ว ถ้าเวลานี้คุณไม่ทำแล้วหวังว่ารัฐบาลสมัยหน้าจะทำอีกไหม” น.ส.รสนา กล่าว
น.ส.รสนา กล่าวอีกว่า วันพรุ่งนี้ (13 มิ.ย.) ที่ นายปายเทพ จะไปยื่นคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ เพื่อขอรายชื่อผู้ซื้อหุ้นผู้มีอุปการคุณ ปตท. ช่วงการแปรรูปปี 44 วันที่ 13 มิ.ย. คณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร จะให้คำตอบว่าเปิดเผยได้หรือไม่ กรณีนี้ทดสอบนายกฯสั่งได้เลย ลองใช้มาตรา 44 สั่งเปิดอันนี้สิ คนจะแซ่ซ้องสรรเสริญ เป็นตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เกิดธรรมาภิบาล ธรรมาภิบาลที่ดีที่สุดคืออยู่ในพื้นที่สว่าง ถ้าไม่มีอะไรจะหวงทำไม แสดงว่ามีอะไร หรือยังไง
มีเรื่องอะไรบ้างที่บอกว่านายกฯมีธรรมาภิบาลเรื่องพลังงาน ภาคประชาชนติดตามต่อเนื่องมายาวนาน แต่คุณปิดกั้นตลอด มันเกิดอะไรขึ้น แล้วอ้างกลัวรัฐบาลหน้าไม่มีธรรมาภิบาล ตอนนี้ สนช. ของคุณเสียงข้างเดียว สมัยก่อนรัฐบาลเลือกตั้งจะเลวจะดียังไง ยังมีเสียงข้างน้อย สามารถใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญ เช่น ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ว่ากฎหมายชอบด้วยรัฐธรรมนูญไหม แต่คุณสภาเสียงข้างเดียว ผลิตกฎหมายตามออเดอร์ กรณี พ.ร.บ. ปิโตรเลียมของคุณ ทำตามหลักการธรรมาภิบาลหรือเปล่า สนช. ศึกษามาแล้ว ในกฎหมายบอกเลยว่าแปลงสัมปทานที่ให้เอกชนไปครบสองครั้งห้ามต่อสัมปทานเอง จึงต้องมาแก้กฎหามายเพื่อเพิ่มการแบ่งปันผลผลิตเข้ามา แล้วมันแบ่งปันผลผลิตเป็นของ ต้องมีหน่วยงานเข้ามาบริหารธุรกิจตรงนี้ แต่ไม่ยอมมี แล้วตัดมาตรา 10/1 ซึ่งเป็นมติ ครม. ออก สนช. ศึกษามาแล้วแต่ไม่ทำตามเลย สนช. ก็ทำไรไม่ได้ ได้แต่ยกมือตาม
น.ส.รสนา กล่าวด้วยว่า เราจะทดลองให้หมดเลย กลไกไหนที่รัฐบาลบอกว่าประชาชนมีสิทธิมากมาย ก่อนถามประชาชนเรื่องธรรมาภิบาล ต้องทำให้ประชาชนเห็นก่อนว่าธรรมาภิบาลคืออะไร