xs
xsm
sm
md
lg

“ศาลปกครองกลาง” ยกฟ้องคดีขอระงับเปิดสัมปทานปิโตรเลียม 21 ชี้พลังงานสั่งเลิกยื่นคำขอสิทธิสำรวจแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้อง คดีขอเพิกถอนคำสั่งมาตราการป้องกันขาดแคลนน้ำมัน, ส่งเงินเข้ากองทุนรักษาระดับราคาน้ำมัน, จัดตั้งกองทุน และระงับเปิดแปลงสัมปทานรอบที่ 21 ชี้ดำเนินการถูกต้อง ชอบด้วยกฎหมาย ชี้ รมว.พลังงานออกประกาศกระทรวงเลิกยื่นคำขอสิทธิสำรวจ และประกาศแก้ไขเพิ่มเติมทั้งหมด ทำให้การยื่นขอสิทธิสิ้นผลไป

วันนี้ (13 มิ.ย.) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่นายสมคิด หอมเนตร และพวกรวม 27 ราย ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี และพวกรวม 6 ราย กรณีขอให้เพิกถอนคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2547 ลงวันที่ 23 ธ.ค. 2547 เรื่องกำหนดมาตราการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 178/2520 ลงวันที่ 19 ก.ย. 2520 เรื่องการกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันส่งเงินเข้ากองทุนรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและการจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ค้าน้ำมัน รวมถึงคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง การจัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และระงับยับยั้งการปฎิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเปิดแปลงสัมปทานรอบที่ 21 เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 ตามคำแนะนำของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ข้อบังคับ ประกาศกระทรวง ประกาศกรมที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514

โดยศาลเห็นว่า การออกคำสั่งเรื่องกำหนดมาตรการแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมัน คำสั่งการกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันส่งเงินเข้ากองทุนรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงฯ เป็นการออกคำสั่งโดยที่กฎหมายให้อำนาจไว้ และได้ดำเนินการออกคำสั่งถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญ ที่กำหนดไว้สำหรับการออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.ก.ดังกล่าว อันเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย และจากคำให้การของคณะกรรมการบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ที่ว่าวัตถุประสงค์ของการออกประกาศ และคำสั่งนายกฯ แต่ละฉบับเพื่อป้องกันบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชน สังคมโดยรวม คำสั่งให้มีการจัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีวัตถุประสงค์ใช้เป็นกลไกของรัฐในการป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศ จากเหตุราคาในตลาดโลกเกิดความผันผวน คำให้การดังกล่าวจึงมีเหตุอันควรรับฟังได้ จึงไม่มีกรณีที่ต้องให้ระงับหรือเพิกถอนคำสั่งนายกรัฐมนตรีทั้งสองฉบับดังกล่าว

ส่วนที่ขอให้ระงับยับยั้งการปฎิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเปิดแปลงสัมปทานรอบที่ 21 เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 เห็นว่า ในการดำเนินการประกาศเขตพื้นที่แปลงสำรวจปิโตรเลียมบนบกและในทะเลอ่าวไทยดังกล่าว เป็นเพียงการคาดว่าแนวเขตพื้นที่ที่ประกาศน่าจะมีศักยภาพปิโตรเลียม เพื่อประกาศกำหนดเขตพื้นที่แปลงสำรวจให้เอกชนผู้สนใจลงทุนยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้ทราบว่ารัฐจะเปิดให้มีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแนวเขตพื้นที่ใดเท่านั้น ขั้นตอนนี้จึงยังมิได้มีการดำเนินการตามมาตรฐานในการค้นหาปิโตรเลียม กรณีจึงยังไม่อาจถือว่าประกาศดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อการที่รัฐจะเสียผลประโยชน์ตามที่มีการอ้าง

และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ผู้ที่ได้สัมปทานย่อมต้องปฎิบัติตามระเบียบ กฎเกณฑ์ อันได้แก่ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 และประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดประเภท และขนาดของโครงการหรือกิจการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมลงวันที่ 24 เม.ย. 2555 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ผู้ได้รับสัมปทานต้องเริ่มปฏิบัติตั้งแต่การสำรวจปิโตรเลียมที่ต้องจัดำทรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม การเก็บรักษา การขนส่งจนถึงขึ้นตอนการจำหน่ายปิโตรเลียม

ดังนั้น ที่อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติออกประกาศกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เรื่องเขตพื้นที่แปลงสำรวจปิโตรเลียมบนบกและในทะเลอ่าวไทย ที่เปิดให้ยื่นของสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมลงวันที่ 30 ก.ย. 2557 จึงเป็นการกระทำที่เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการพิจารณาคดี รมว.พลังงานได้ออกประกาศกระทรวงพลังงานลงวันที่ 26 ก.พ. 2558 ยกเลิกประกาศการยื่นคำขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจบนบกและในทะเลอ่าวไทยครั้งที่ 21 และประกาศแก้ไขเพิ่มเติมทั้งหมด ทำให้ประกาศการยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจบนบกและในทะเลอ่าวไทยครั้งที่ 21 นั้นสิ้นผลไป จึงไม่มีกรณีที่ศาลจะต้องอกคำบังคับให้อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติระงับ หรือยับยั้งการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเปิดแปลงสัมปทานตามที่นายสมคิดขอแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น