xs
xsm
sm
md
lg

คู่มือตอบ 10 คำถาม เล่ห์กลปิโตรเลียมไทย ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


"ณ บ้านพระอาทิตย์"
"โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์"

มาถึงช่วงเวลาสำคัญนี้ภาคประชาชนควรจะจับตาเรื่องสำคัญที่สุดในยุคของเราที่ได้เกิดมาในประเด็นที่ว่า สัญญาสัมปทานปิโตรเลียม 2 แหล่งซึ่งมีศักยภาพมากที่สุดในการสร้างรายได้ประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อปี คือ แหล่งเอราวัณซึ่งจะหมดอายุสัญญาสัมปทานในปี 2565 และแหล่งบงกชซึ่งกำลังจะหมดอายุสัญญาสัมปทานในปี 2566 จะมีการใช้วิธีการเปิดประมูลอย่างโปร่งใสและเสรีโดยใช้ผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดเป็นเกณฑ์ในการตัดสินจริงหรือไม่?

ท่ามกลางความสับสนในเวลานี้ จึงเกิดการเบี่ยงเบนประเด็นโจมตีเนื้อหาการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลงเพราะคนที่โจมตีเหล่านั้นหลายคนล้วนแล้วแต่มีผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งทางตรงทางอ้อม ในขณะที่ภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวเหล่านี้ไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับกลุ่มทุนพลังงานแต่ประการใด

สาระสำคัญในเรื่องนี้จึงควรติดตามใน 3 ประเด็น

ประเด็นที่หนึ่ง ประเทศไทยได้มีกฎหมายและโครงสร้างรองรับระบบสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุลงเพื่อให้ตกเป็นอำนาจในการถือครองกรรมสิทธิ์ อำนาจการบริหาร และขายปิโตรเลียมของรัฐที่กำลังจะได้กลับคืนมาจริงหรือไม่? หรือจะยกให้เป็นของเอกชนในรูปแบบสัมปทานเดิมคือใช้ดุลพินิจในการให้คะแนนเป็นเกณฑ์ตัดสิน โดยไม่ได้ใช้การประมูลแข่งขันผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดเป็นเกณฑ์ในการตัดสินในระบบแบ่งปันผลผลิต จริงหรือไม่?

ประเด็นที่สอง ระบบท่อประธานก๊าซธรรมชาติ จากแหล่งเอราวัณและบงกช ในอ่าวไทย หากยังคงตกเป็นกรรมสิทธิ์สิทธิขาดของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การเปิดประมูลแข่งขันในระบบแบ่งปันผลผลิตจะเกิดความเป็นธรรมกับเอกชนรายอื่น ได้หรือไม่?

ประเด็นที่สาม จะมีการล็อกสเปกในการประมูลด้วยเงื่อนไขต่างๆ เพื่อทำให้ไม่เกิดการแข่งขันได้จริงในทางปฏิบัติหรือไม่?

ดังนั้นสำหรับคนที่สนใจในเรื่องนี้ก็จะเห็นความเชื่อมโยงแล้วว่า การเคลื่อนไหวในหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียมนั้น ขอย้ำว่าเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีเป้าหมาหลักคือ แหล่งเอราวัณและบงกชนั้นจะใช้วิธีการเปิดประมูลอย่างโปร่งใสและเสรีโดยใช้ผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดเป็นเกณฑ์ในการตัดสินในระบบแบ่งปันผลผลิตจริงหรือไม่?

ส่วนประเด็นที่อาจทำให้ประชาชนมีความสับสนจากให้ข้อมูลของกลุ่มทุนพลังงานและผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนในกิจการพลังงานนั้น จะขอให้ความเห็นแย้ง ให้ความจริงอีกด้านหนึ่งดังนี้

คำถามที่ 1. ประเทศไทยควรใช้ระบบสัมปทานดีแล้ว ดูตัวอย่างการตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติของโบลิเวีย เวเนซูเอล่า และเม็กซิโก ล้วนแล้วแต่เกิดภาวะล่มสลายทางเศรษฐกิจ จริงหรือไม่?

ตอบคำถามที่ 1. โบลิเวีย เวเนซูเอล่า และเม็กซิโก ไม่ได้เกิดปัญหาเพราะการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ในทางตรงกันข้ามรายได้กลับเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลจากกิจการของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ

แต่ทั้ง 3 ประเทศ ประสบกับปัญหาเพราะรัฐบาลนำเงินอย่างมหาศาลของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไปทำโครงการประชานิยม โดยไม่ได้พัฒนาเศรษฐกิจด้านอื่นรองรับ เมื่อราคาน้ำมันลดลงทั่วโลกรายได้จากบรรษัทน้ำมันแห่งชาติจึงลดลง และทำให้เกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจตามมา

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าบรรษัทน้ำมันแห่งชาติประสบความสำเร็จในฝั่งรายได้ และถ้าจะแก้ปัญหาไม่ให้ซ้ำรอยเรื่องปัญหาด้านรายจ่ายเหล่านี้ ก็เขียนกฎหมายว่าด้วยการใช้จ่ายในส่วนของบรรษัทน้ำมันให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศจึงจะถูกต้อง ไม่ใช่ขัดขวางการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ

ก็ดูตัวอย่างบรรษัทน้ำมันแห่งชาติของมาเลเซียอย่าง ปิโตรนาส ก็มีกำไรอย่างมหาศาล และเศรษฐกิจของมาเลเซียก็ไม่เห็นมีปัญหาเหมือน เวเนซูเอล่า โบลิเวีย หรือ เม็กซิโก แต่ประการใด

คำถามที่ 2. การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไม่มีความจำเป็นเพราะสิ้นเปลืองงบประมาณ เราสามารถใช้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้อยู่แล้ว จริงหรือไม่?

ตอบคำถามที่ 2. ในเมื่อแหล่งปิโตรเลียมทั้งเอราวัณและบงกช ผลิตก๊าซธรรมชาติได้จริงอยู่ และยังมีศักยภาพสูงมากถึงปีละ 2 แสนล้านบาท (10 ปี ก็จะมีรายได้ 2 ล้านล้านบาท) เมื่อหมดสัญญาสัมปทาน ทรัพย์สินทั้งหมดก็จะตกอยู่แก่รัฐโดยไม่ต้องลงทุนในทรัพย์สินเหล่านั้น อีกทั้งปิโตรเลียมก็มีปริมาณมาก ลูกค้าที่จะรับซื้อก๊าซก็ชัดเจน ประกอบกับการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับผลิตผลปิโตรเลียมเพื่อนำมาขายในราคาที่รัฐกำหนด โดยใช้การประมูลผลตอบแทนเป็นสัดส่วนปริมาณปิโตรเลียมของรัฐสูงสุดเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน จึงไม่ต้องลงทุนเพื่อผลิตปิโตรเลียมโดยตรงเอง ดังนั้นจึงไม่ต้องมีการลงทุนมาก แต่กลับสร้างรายได้ให้รัฐอย่างมหาศาล

ส่วนกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็นหน่วยงานราชการ ที่ไม่สามารถค้าขายปิโตรเลียมรายวันแบบธุรกิจได้ เพราะติดระเบียบข้อบังคับ จึงไม่สามารถทำหน้าที่เป็นบรรษัทน้ำมันแห่งชาติได้จริงในทางปฏิบัติ ตัวอย่างเช่น กระทรวงมหาดไทยไม่เคยมอบหมายให้กรมใดไปทำหน้าที่จัดเก็บรายได้และบริหารกิจการทางด่วนของกรุงเทพมหานคร แต่ต้องตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทยขึ้นมาเพื่อมาทำหน้าที่บริหารและรับรายได้จากเอกชนโดยเฉพาะ

นอกจากนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นผู้ประมูลและจัดเก็บรายได้ แต่กลายเป็นผู้ประกอบการเสียเอง จึงเกิดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ในฐานะผู้กำกับดูแลกับผู้ประกอบการ สูญเสียสถานภาพการถ่วงดุลและตรวจสอบไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี

คำถามที่ 3. เราสามารถใช้เอกชนคู่สัญญาขายปิโตรเลียมแทนบรรษัทน้ำมันแห่งชาติได้อยู่แล้ว จริงหรือไม่?

ตอบคำถามที่ 3. การให้เอกชนคู่สัญญาขายปิโตรเลียมแทนรัฐ ทำให้รัฐไม่ต้องมีสภาพบังคับให้ตรวจปริมาณปิโตรเลียมทุกหยด เพราะรัฐไม่ต้องนำมาขายเอง และการขายราคาเท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่กับเอกชนคู่สัญญา อีกทั้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินไม่มีอำนาจในการตรวจเอกชนได้ เปิดช่องโหว่ทำให้เกิดการทุจริตได้ง่าย

คำถามที่ 4. เราสามารถใช้ ปตท.สผ. หรือ ปตท. เป็นบรรษัทน้ำมันแห่งชาติได้ จริงหรือไม่?

ตอบคำถามที่ 4. ปตท.สผ. หรือ ปตท. เป็นหน่วยงานที่มีเอกชนถือหุ้นเกือบครึ่งหนึ่ง จึงขาดความชอบธรรมที่จะได้มาแบ่งประโยชน์ในผลประโยชน์แหล่งปิโตรเลียมที่กลับมาป็นของประเทศชาติและประชาชนคนไทย

คำถามที่ 5. ตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติจะกลายเป็นแหล่งทำมาหากิน และทุจริตได้ง่าย จริงหรือไม่?

ตอบคำถามที่ 5. ทุกวันนี้ไม่มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ก็มีการทุจริตเช่นกันจริงหรือไม่ เช่น กรณีข่าวสินบนโรลส์รอยส์ จึงไม่ได้เกี่ยวกับว่าถ้าไม่ตั้งบรรษัทจะทำให้ไม่มีการทุจริต ดังนั้นการป้องกันการทุจริตก็ต้องวางโครงสร้างการบริหารให้มีความหลากหลายในการถ่วงดุล ตรวจสอบ ตั้งมาตรฐานทางจริยธรรมให้สูง และให้ประชาชนและทุกภาคส่วนตรวจสอบได้ทุกการตัดสินใจอย่างโปร่งใส

คำถามที่ 6. รัฐได้ช่วยเพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิตและจ้างบริการให้แล้ว ภาคประชาชนจะเอาอะไรอีก?

ตอบคำถามที่ 6. การสัมปทานคือการที่เอกชนได้กรรมสิทธิ์ถือครองปิโตรเลียมที่ผลิตได้ บริหารปิโตรเลียมที่ผลิตได้ และขายปิโตรเลียมที่ผลิตได้ เมื่อรายได้หลังค่าใช้จ่ายได้เท่าไหร่จึงค่อยแบ่งค่าภาคหลวงให้รัฐ การอ้างว่าได้เขียนระบบแบ่งปันผลผลิตเอาไว้แล้วในกฎหมาย แต่เมื่อไม่มีบรรษัทพลังงานแห่งชาติเพื่อมาบริหารและขายปิโตรเลียมในส่วนที่เป็นของรัฐเอง ก็เท่ากับว่าระบบแบ่งปันผลผลิตที่อ้างมานี้เป็นการอำพรางระบบสัมปทานจำแลง เพราะต้องฝากเอกชนคู่สัญญาบริหารและขายปิโตรเลียมแทนรัฐ รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจึงค่อยแบ่งเงินให้รัฐในภายหลัง ก็แทบไม่ต่างจากระบบสัมปทานเดิม

คำถามที่ 7. ก็ใช้ระบบสัมปทานแบบเดิมไม่ได้หรือ ?

ตอบคำถามที่ 7. กฎหมายปิโตรเลียมให้มีการต่ออายุสัญญาสัมปทานได้เพียงครั้งเดียว ย่อมแสดงให้เห็นถึงเจตนาของผู้ร่างกฎหมายว่าต้องการให้กรรมสิทธิ์ อำนาจการบริหาร และการขายปิโตรเลียมที่มีศักยภาพนั้นต้องตกเป็นของรัฐภายหลังจากต่ออายุไปแล้ว 1 ครั้ง (ซึ่งทั้งเอราวัณและบงกช ได้ต่ออายุสัญญาสัมปทานไปแล้วก่อนหน้านี้ 1 ครั้ง) ดังนั้นภายใต้กฎหมายปิโตรเลียมเดิมจึงไม่สามารถใช้ระบบสัมปทานได้อีกแล้ว หากจะเดินหน้าให้สัมปทานให้ผู้ประกอบการรายเดิมโดยอ้างว่าเป็นสัมปทานแบบใหม่ เท่ากับมีเจตนาหลีกเลี่ยงกฎหมายเพื่อต่ออายุสัมปทานให้ผู้ประกอบการรายเดิม โดยไม่ได้มีการประมูลแข่งขันผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุด จริงหรือไม่?

นอกจากนี้การใช้ระบบสัมปทานทำให้รัฐไม่มีสภาพบังคับให้นับปริมาณปิโตรเลียมทุกหยดเพื่อนำไปขายด้วยตัวเอง ทำให้เกิดช่องโหว่ที่อาจทำให้เกิดการทุจริตได้ง่าย

คำถามที่ 8. เปิดประมูลระบบสัมปทานแบบใหม่ ได้หรือไม่ ?

ตอบคำถามที่ 8. ระบบสัมปทานไม่ได้มีการประมูลผลตอบแทนแก่รัฐเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน โดยรัฐเป็นผู้กำหนดค่าภาคหลวงให้กับเอกชน และให้เอกชนยื่นเข้าแข่งขันในเนื้องานปริมาณงาน จากนั้นจึงเป็นการใช้ดุลพินิจในการให้คะแนนของคนเพียงไม่กี่คน ไม่มีหลักประกันว่าก่อให้เกิดประโยชน์ในรูปของผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุด ลักษณะนี้จึงไม่สมควรมาใช้กับแหล่งปิโตรเลียมที่มีศักยภาพสูงอย่างแหล่งเอราวัณและบงกช

คำถามที่ 9. ระบบท่อก๊าซธรรมชาติเกี่ยวข้องอะไรด้วยกับการประมูลแหล่งเอราวัณและบงกช?

ตอบคำถามที่ 9.
9.1 ระบบท่อก๊าซคือเส้นทางการนำพาก๊าซจากแหล่งปิโตรเลียมไปขายให้โรงแยกก๊าซที่ต้นทุนต่ำที่สุด หากตกอยู่ในมือเอกชนรายใดรายหนึ่ง ที่มีบริษัทลูกเข้าร่วมประมูล ย่อมได้เปรียบกว่าคู่แข่งเอกชนรายอื่น ในกรณีนี้ท่อก๊าซธรรมชาติยังตกอยู่ในการครอบครองของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในขณะที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติซึ่งเป็นผู้เปิดประมูล ไม่ได้มีอำนาจบังคับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่จะให้เอกชนผู้เข้าร่วมประมูลมีสิทธิ์ใช่ท่ออย่างไรหรือไม่ ในกรณีเช่นนี้เอกชนผู้เข้าร่วมประมูลย่อมขาดความเชื่อมั่นในหลักประกันการขายก๊าซธรรมชาติที่จะผลิต จริงหรือไม่? และจะเกิดการแข่งขันได้อย่างไร?

9.2 หาก ปตท.สผ. เข้าร่วมประมูลก็สามารถประมูลผลตอบแทนแก่รัฐเพิ่มเติมได้มากกว่าเอกชนผู้เข้าแข่งขันรายอื่น เพราะบริษัทแม่คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สามารถนำกำไรจากการคิดค่าเช่าผ่านท่ออย่างมหาศาลแต่เพียงรายเดียวมาถัวเฉลี่ยกับการลดผลตอบแทนในบริษัทลูกได้ ถ้าเป็นเช่นนั้นเอกชนรายอื่นก็ต้องเสียเปรียบ โดยที่ประเทศชาติก็ยังไม่ได้ประโยชน์สูงสุดอยู่เหมือนเดิม และ เครือ ปตท.ยังสามารถทำกำไรชดเชยจากกิจการให้เช่าท่อก๊าซแต่เพียงรายเดียว และจะเกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันกับเอกชนรายอื่นได้อย่างไร?

คำถามที่ 10. เรื่องท่อก๊าซศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินหลายครั้งว่าคืนครบแล้ว และมติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินก็ไม่ได้ผูกพันศาลปกครองสูงสุด ภาคประชาชนจะดื้อแพ่งเอาอะไรอีก

ตอบคำถามที่ 10. ศาลปกครองสูงสุดแม้จะได้ตัดสินว่าท่อก๊าซธรรมชาติคืนครบแล้วจริง แต่ก็ได้ระบุเอาไว้ว่ากรณีไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีนั้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องไปว่ากล่าวกันเอาเอง ซึ่งในเวลาต่อมาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจพบว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี และรายงานอันเป็นเท็จต่อศาลปกครองสูงสุด และให้ส่งมอบคืนท่อก๊าซธรรมชาติให้ครบ

ดังนั้นที่ศาลปกครองสูงสุดได้กล่าวว่ามติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินไม่ผูกพันศาลปกครองสูงสุดนั้นถูกต้องแล้ว แต่มติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินผูกพันรัฐบาลตามกฎหมาย ให้รัฐบาลต้องปฏิบัติในการใช้ "อำนาจฝ่ายบริหาร" ดำเนินการส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติให้ครบถ้วน และเมื่อครบถ้วนแล้วจึงค่อยไปรายงานต่อศาลปกครองสูงสุดในการบังคับคดีที่ถูกต้องครบถ้วนต่อไป หากไม่ดำเนินการก็ย่อมต้องถูกดำเนินคดีความฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีนี้เมื่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ตรวจพบว่ามีการไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี และ มีการรายงานเท็จต่อศาลปกครองสูงสุด ในกรณีนี้รัฐบาลจึงย่อมต้องเป็นผู้เสียหาย ที่มีหน้าที่ในการติดตามทรัพย์สินและรายงานต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อบังคับคดีให้ครบถ้วน ตลอดจนดำเนินคดีความกับผู้ที่กระทำความผิด

เมื่อถึงเวลาการเปิดให้สิทธิ์แหล่งเอราวัณและบงกช ตลอดจนการตัดสินใจเรื่องท่อก๊าซธรรมชาติ เราจะได้รู้กันว่ารัฏฐาธิปัตย์ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มทุนพลังงานหรือไม่? และรัฐประหารมาทั้งหมดเพื่อใคร?


กำลังโหลดความคิดเห็น