xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนจากการ์ตูน 3 ภาพ รัฐประหารมาเพื่ออะไร? ให้ดูจุดจบแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกช

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

"ณ บ้านพระอาทิตย์"
"โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์"

ภายหลังจากที่มีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 นั้น ปรากฏว่ามีการต่ออายุสัญญาสัมปทานไปอีก 10 ปี ให้กับแหล่งปิโตรเลียมของกลุ่มบริษัทเชฟรอน และ แหล่งปิโตรเลียมบงกช ปตท.สผ. อีกทั้งยังมีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 19 และ 20 ด้วยผลประโยชน์อย่างมหาศาล

โดยเฉพาะการต่ออายุสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมทั้งแหล่งเอราวัณและบงกชเมื่อปี 2550 นั้น ได้เคยมีหนังสือทักท้วงจากอัยการสูงสุดถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งหนึ่ง คือหนังสือด่วนที่สุด ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ฉบับเลขที่ อส 0026/12291ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2550 และหนังสือถึงอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ฉบับเลขที่ อส 0026/14119 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2550 ซึ่งเรื่องนี้จะกล่าวถึงอย่างละเอียดในรายละเอียดทุกแง่ทุกมุมอีกครั้งหนึ่งในโอกาสต่อไป เพราะถ้าสมมุติว่ากรณีนี้มีผู้กระทำความผิดก็คงใกล้จะหมดอายุความในปีนี้แล้ว จริงหรือไม่?

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว หลังจากนั้นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งพยายามที่จะเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 โดยใช้รูปแบบสัมปทานเดิม ที่ไม่เคยมีการประมูลแข่งขันเสนอผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุด แต่ใช้วิธีการใช้ดุลพินิจให้คะแนน ผลปรากฏว่าประชาชนหลายภาคส่วนได้พยายามคัดค้าน จนไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดไหนสามารถดำเนินการได้สำเร็จแม้แต่รัฐบาลเดียว

ในเวลาต่อมา ใครจะคิดว่าเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการปฏิรูปด้านพลังงานนั้น กลายเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันพอสมควรในการชุมนุมของ กปปส. ว่าเหตุใดเรื่องการปฏิรูปด้านพลังงานนั้นกลายเป็นเรื่องที่มีข้อจำกัดและแตกต่างจากเรื่องอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด จริงหรือไม่?

และในเวลาต่อมาใครจะคิดว่าเมื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศแล้วจะสั่งให้ชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพื่อให้ทำการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมให้ครอบคลุมระบบแบ่งปันผลผลิตและจ้างผลิตเสียก่อน ทำให้ประชาชนเกิดความคาดหวังว่าจะมีการปฏิรูปด้านปิโตรเลียมครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยใครคาดคิดมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย

เพราะในความเป็นจริงนั้น แหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกชนั้นได้ต่อสัญญามาแล้ว 1 ครั้งครบโควตาตามกฎหมาย จึงไม่สามารถต่อสัญญาได้อีกแล้ว จึงสมควรที่ทั้งสองแหล่งนี้จะกลับมาเป็นของรัฐเพื่อประโยชน์สูงสุดของชาติและประชาชนเสียที ไม่ใช่ส่งมอบให้เอกชนโดยปราศจากการแข่งขันการเสนอสัดส่วนปริมาณปิโตรเลียมให้ผลตอบแทนรัฐสูงสุดเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน

แหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกชเป็นแหล่งปิโตรเลียมที่มีศักยภาพสูงมาก สามารถสร้างรายได้สูงถึงปีละ 2 แสนล้านบาท หากได้รับสัญญาผลิตปิโตรเลียมอีก 10 ปี ก็จะสร้างรายได้สูงถึง 2 ล้านล้านบาท จึงถือเป็นดีลผลประโยชน์ที่ใหญ่ที่สุดในรัฐบาลชุดนี้ก็ว่าได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะยกอำนาจการบริหารและการขายให้แก่เอกชนเหมือนกับการสัมปทานในรูปแบบเดิม หรือจะเห็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญด้วยการตั้งองค์กรของรัฐที่เรียกว่าบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ให้สามารถบริหารและขายปิโตรเลียมรายวันได้จริงในทางปฏิบัติ

แต่พอเอาเข้าจริงสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็กลับตัดบรรษัทน้ำมันแห่งชาติออกไป จึงทำให้ต้องให้เอกชนคู่สัญญากลายเป็นผู้บริหารและขายปิโตรเลียมแทนรัฐในทางปฏิบัติ

ดังนั้นสาระสำคัญของระบบแบ่งปันผลผลิตใน ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับใหม่จึงไม่ต่างจากระบบสัมปทานเดิม หรือที่เรียกว่าสัมปทานจำแลง ส่วนระบบจ้างผลิตก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงเพราะรัฐต้องมีหน้าที่บริหารและขายปิโตรเลียมทั้งหมด 100 เปอร์เซนต์ เพราะเมื่อไม่มีองค์กรของรัฐเข้ามาเป็นเจ้าภาพในการทำหน้าที่นี้ การเขียนเรื่องระบบจ้างเอกชนผลิตก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้จริง

สรุปก็คือ เราเสียเวลาไปเป็นปีๆ แต่กลับได้ พ.ร.บ.ปิโตรเลีม ที่อำพรางสัมปทานจำแลง โดยอ้างว่ากฎหมายปิโตรเลียมฉบับใหม่ได้เพิ่มทางเลือกใหม่เข้ามแล้ว โดยมี 3 ทางเลือก คือ

1.ระบบสัมปทานแบบเดิม
2.ระบบเรียกชื่อว่า "แบ่งปันผลผลิต" แต่เนื้อหาการบริหารและการขายกลับเหมือนระบบสัมปทาน
3.ระบบเรียกชื่อว่า "จ้างบริการ" แต่กลับไม่มีองค์กรของรัฐมารองรับในการบริหารและขายปิโตรเลียมได้จริงในทางปฏิบัติ

สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือกฎกระทรวงว่าด้วยระบบแบ่งปันผลิต แทนที่จะกำหนดให้มีการแข่งขันการเสนอผลตอบแทนแก่รัฐในรูปของสัดส่วนปริมาณปิโตรเลียมเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน กลับยังคงรูปแบบการพิจารณาจากเนื้องานและใช้ดุลพินิจในการให้คะแนนคล้ายคลึงกับการสัมปทาน จริงหรือไม่?

สรุปคือกฎหมายเนื้อหาอำนาจการบริหารปิโตรเลียม การขายปิโตรเลียม แม้กระทั่งวิธีการคัดเลือก ก็กลายเป็นเหมือนกับระบบสัมปทานเดิมไปหมดจริงหรือไม่?

ยังไม่นับท่อก๊าซธรรมชาติของแหล่งเอราวัณและบงกชนั้น อยู่ภายใต้การครอบงำและเป็นกรรมสิทธิ์ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะไปทำให้เกิดความประมูลอย่างเป็นธรรมกับผู้เข้าแข่งขันรายอื่นที่ไม่มีท่อก๊าซธรรมชาติเพื่อส่งก๊าซที่ผลิตได้ไปให้โรงแยกก๊าซได้อย่างไร?

โศกนาฏกรรมดังกล่าว บัญชา/คามิน นักเขียนการ์ตูนชื่อดังจึงได้เขียนฝีมือฝากผลงานเอาไว้อย่างเฉียบคมเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 ในคอลัมน์ "กูว่าแล้ว" ในหัวข้อการ์ตูนว่า "ตอนจบศึกชิงนาง(เอราวัณ บงกช).. พระเอกตาย...วายร้ายชนะ?"

แต่ในความจริงแล้วถ้าเกิดโศกนาฏกรรมเช่นนี้เมื่อไหร่ ประชาชนคนไทยก็คงจะต้องยอมรับชะตากรรมไปด้วย เพราะสุดท้ายแล้วในยุคที่สัญญาสัมปทานแหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่ที่สุดนั้นกำลังถูกพลัดพรากจากประชาชนชาวไทยไปอีกครั้งหนึ่งอีกหลายสิบปี ทั้งๆที่ช่วงเวลาใกล้หมดอายุสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมที่ไม่สามารถต่อสัญญาได้แล้วและเวลาได้มาถึงมือในยุคของเราที่ได้เกิดมา และน่าเสียดายว่าแม้เราจะอยู่ในยุคที่รัฐบาลมีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์แต่กลับไม่สามารถทวงคืนทรัพยากรที่ทรงคุณค่าให้กลับมาสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศชาติและประชาชนได้

ปัญหาดังกล่าวข้างต้นนั้นดูเหมือนว่ารัฐธรรมนูญเขียนการให้อำนาจประชาชนไว้อย่างสวยหรู แต่พอเอาเข้าจริงในเรื่องการตรวจสอบในเรื่องปิโตรเลียมนั้น กลับกลายเป็นว่าประชาชนยากที่จะเข้าถึงการตรวจสอบได้จริงในทุกมิติ ผลปรากฏว่าถ้าประชาชนยื่นต่อองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญกลับถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลสารพัด ประชาชนไม่มีสิทธิยื่นบ้าง ประชาชนไม่ใช่ผู้เสียบ้าง ฯลฯ ยังไม่ต้องนับเหตุผลว่าองค์กรอิสระรัฐธรรมนูญใดที่เกรงใจรัฐบาลช่วยฟอกให้รัฐบาลถูกทุกเรื่อง ดองทุกเรื่องที่ผิด ไม่ต่างจากสมัยรัฐบาลเลือกตั้งที่ครอบงำองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ จริงหรือไม่?

ก็เพราะปัญหาการครอบงำองค์กรตรวจสอบอิสระตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่หรอกหรือที่ทำให้ประชาชนต้องมีการออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมคัดค้านในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญกลายเป็นเครื่องมือฟอกความผิดให้กับยุคตนเอง และเป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงกันข้าม ไม่ใช่หรอกหรือจึงทำให้เกิดความอยุติธรรมจนนำไปสู่ความแตกแยกของประชาชนกันอย่างไม่หมดสิ้น

แต่ธุรกิจด้านพลังงานนั้นไม่เพียงแต่มีอิทธิพลและผลประโยชน์ทางการเมืองสูงเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทในการเอื้อผลประโยชน์ลงโฆษณาให้กับสื่อต่างๆจำนวนมากด้วย จริงหรือไม่? ดังนั้นในเรื่องการเมืองเราอาจจะยังเห็นสื่อที่ลงข่าวเพื่อธำรงความยุติธรรมได้ แต่เรื่องพลังงานนั้นวงการสื่อก็ย่อมทราบดีว่ามีการรับเงินและรับงานประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ให้สวยงาม และปกปิดความชั่วร้ายในธุรกิจพลังงานเพียงใดหรือไม่? คนในวงการนี้ต่างทราบดีอยู่แก่ใจ จริงหรือไม่? ยังเหลือองค์กรสื่อเพียงกี่แห่งที่เป็นกระจกสะท้อนความเป็นจริง โดยไม่อยู่ภายใต้อาณัติของกลุ่มธุรกิจพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสื่อยุคนี้เข้าสู่ความเสื่อมถอยทางธุรกิจอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ดังปรากฏตามผลงานของ บัญชา/คามิน ที่เขียนการ์ตูนเอาไว้เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ในคอลัมน์ "กูว่าแล้ว" ในหัวข้อ "ปีศาจพลังงานเค้ารู้วิธีใช้กระจก"

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทุกวันนี้ก็คือเผด็จการเสียงข้างเดียวที่ไม่มีวันตรวจสอบรัฐบาลได้ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเกรงใจและเกรงอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ของรัฐบาล สื่ออยู่ภายใต้การครอบงำของกลุ่มทุนพลังงาน และกำลังจะมีกฎหมายควบคุมสื่อด้วย ก็คงเหลือเพียงอำนาจการเคลื่อนไหวของประชาชน จริงหรือไม่?

แต่ประชาชนก็ยังต้องถูกมัดต่อไปด้วยกฎหมาย พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ที่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนที่หลงเข้าใจว่ามีสิทธิเสรีภาพในการตรวจสอบความไม่ตรงไปตรงมาของปิโตรเลียม แต่กลับปรากฏว่าการยื่นหนังสือจริงที่หน้ารัฐสภา กลับถูกตีความอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ว่าชุมนุมใกล้ 150 เมตรในเขตพระราชฐาน ทั้งๆที่เป็นที่กระทำการของฝ่ายนิติบัญญัติ อันเป็นการใช้กฎหมายอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์มาทำร้ายประชาชนที่มาตรวจสอบฝ่ายนิติบัญญัติที่ตรากฎหมายปิโตรเลียมที่มีช่องโหว่มากมาย และไม่รักษาผลประโยชน์สูงสุดของชาตินั้น ถูกต้องแล้วหรือไม่?

เมื่อองค์กรตรวจสอบอิสระตามรัฐธรรมนูญง่อยเปลี้ยตรวจสอบไม่ได้จริง ประชาชนเข้าไม่ถึงอำนาจการตรวจสอบ หรือเข้าถึงได้ไม่จริงตามที่กล่าวอ้างตามรัฐธรรมนูญ สื่อมวลชนอยู่ภายใต้อิทธิพลและผลประโยชน์ด้านพลังงาน รวมถึงสื่อมวลชนก็อาจกำลังถูกรุกคืบร่างกฎหมายให้อยู่ภายใต้อิทธิพลของรัฐบาล และประชาชนก็ถูกมัดมือมัดเท้าและปิดปากด้วยสารพัดกฎหมาย

ถ้าปิดกั้นการตรวจสอบแล้วทำดีให้กับชาติบ้านเมืองก็เรื่องหนึ่ง แต่นี่กำลังตั้งแท่นสารพัดโครงการ รวมถึงโศกนาฏกรรมที่กำลังจะกระทำชำเราแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกช โดยที่ไม่ฟังเสียงทักท้วงจากองค์กรใดทั้งสิ้น จริงหรือไม่?

ถามว่า ถ้าจะทำกันถึงขนาดนี้จะเล่นลิเก ถามหาธรรมาภิบาลรัฐบาลชุดหน้าไปทำไมกัน!!!?

ดังนั้นถ้าจะถามว่ารัฐบาลชุดนี้รัฐประหารมาเพื่ออะไร และเพื่อใคร ก็ขอให้ท่านผู้อ่านได้ติดตามผลลัพธ์และจุดจบของแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกช ถึงเวลานั้นก็จะได้ตาสว่างได้ทันทีว่ายุคนี้เป็นยุค "วีรบุรุษทหารหาญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์" หรือ เป็นยุค "หนีจระเข้ปะเสือ" กันแน่?


กำลังโหลดความคิดเห็น