xs
xsm
sm
md
lg

คปพ.เตือนนายกฯ ใช้กรมเชื้อเพลิงฯ แทนบรรษัทน้ำมันฯ ยุ่งแน่ จี้แก้ก่อนประมูลเอราวัณ-บงกช

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ตั้งบรรษัน้ำมันแห่งชาติของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย หน้ารัฐสภา เมื่อ 30 มี.ค.60
คปพ. ยื่นนายกฯ เตือนไร้บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ กรมเชื้อเพลิงฯ เกิดปัญหาแน่ เพราะต้องไปทำหน้าที่ซื้อขายปิโตรเลียมแทนบรรษัทฯ แต่จะติดข้อกฎหมาย และผลประโยชน์ทับซ้อน เหตุกรมเชื้อเพลิงฯ เป็นผู้กำกับดูแลและกำหนดนโยบาย แต่ต้องไปทำหน้าที่ผู้ประกอบการด้วย จี้เร่งแก้ ก่อนประมูลแหล่งเอราวัณ - บงกช

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ที่ผ่านมา นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ผู้แทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้ทำหนงสือถึงนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เรื่อง การไม่มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติจะกระทบต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยมีเนื้อหาระบุว่า

“ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้บรรจุมาตรา ๑๐/๑ เกี่ยวกับการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไว้ในร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... แต่ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้มีการตัดมาตราดังกล่าวออกไปนั้น เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีความเห็นว่า จะเกิดปัญหาหน้าที่ทับซ้อนจนทำให้เกิดข้อบกพร่องในการตรวจสอบและถ่วงดุลในการกำกับดูแลผลประโยชน์จากปิโตรเลียมของแผ่นดิน เนื่องจากปัจจุบันกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มีฐานะเป็นผู้กำกับและกำหนดนโยบายต่างๆ (Regulator) เช่น การกำกับดูแลราคาปิโตรเลียมที่ขาย หรือจำหน่าย เป็นต้น แต่เมื่อต้องไปทำหน้าที่แทนบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ในการจัดการปิโตรเลียมของรัฐ หรือการรับซื้อปิโตรเลียมจากเอกชนผู้รับสิทธิผลิตปิโตรเลียม จะทำให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมีฐานะเป็นผู้ประกอบการ (Operator) ด้วยอีกหน้าที่หนึ่ง จึงเกิดปัญหา ดังนี้

ข้อ ๑. เนื่องจากกระทรวงพลังงานมีนโยบายไม่จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ดังนั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก็จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ซื้อ และหรือผู้ขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียมด้วยตนเอง ทั้งปิโตรเลียมในส่วนที่เป็นของรัฐ และปิโตรเลียมในส่วนที่เป็นของผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต ในกรณีที่รัฐกำหนดเงื่อนไขหรือเจรจาให้ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต ในการขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียมในส่วนที่เป็นของผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตให้แก่รัฐด้วยเหตุผลต่อไปนี้

๑.๑ การที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะทำหน้าที่เป็นผู้ซื้อ และหรือผู้ขาย หรือจำหน่ายปิโตรเลียมด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการดำเนินการในเชิงธุรกิจการพาณิชย์นั้น น่าจะไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและการแบ่งส่วนราชการ จึงอาจจะเป็นการผิดกฎหมาย

๑.๒ การที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะทำหน้าที่เป็นผู้ซื้อ และหรือผู้ขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียมด้วยตนเอง จะเป็นช่องทางให้เกิดการรั่วไหล ทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง เพราะอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะเป็นผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจได้แต่ผู้เดียว ซึ่งเป็นการบริหารที่มีมาตรฐานธรรมาภิบาลอ่อนกว่าการมีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งจะสามารถบัญญัติให้การบริหารงานมีการถ่วงดุลได้หลายชั้น

๑.๓ การที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะทำหน้าที่เป็นผู้ซื้อ และหรือผู้ขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียม ไม่ว่าด้วยตนเอง หรือโดยมอบหมายให้แก่บริษัทเอกชนใดนั้น เป็นการดำเนินการในเชิงธุรกิจการพาณิชย์ ถึงแม้จะเป็นการประกอบการที่มิใช่การแสวงหาและผลิตปิโตรเลียม แต่ก็จะทำให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มีฐานะส่วนหนึ่งเป็นผู้ประกอบการ (Operator) จึงเป็นการมีประโยชน์ทับซ้อน เพราะกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมีฐานะเป็นผู้กำกับและกำหนดนโยบายต่างๆ (Regulator) ด้วย นอกจากนี้ มาตรา ๕๓/๕ ที่บัญญัติเพิ่มเติมขึ้นใหม่ กำหนดให้ บรรดาสิ่งปลูกสร้าง วัสดุ อุปกรณ์ ทรัพย์สิน และสิ่งอำนวยความสะดวกในการประกอบกิจการปิโตรเลียมที่ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตมีกรรมสิทธิ์อันเกิดจากการใช้งบประมาณที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีตามมาตรา ๕๓/๔ ให้ตกเป็นของรัฐ และมาตรา ๕๓/๑๓ ก็บัญญัติทำนองเดียวกันสำหรับสัญญาจ้างบริการ ซึ่งกรณีที่ไม่มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ทรัพย์สินเหล่านี้ก็จะต้องตกเป็นของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จึงจะทำให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมีฐานะส่วนหนึ่งเป็นผู้ประกอบการ (Operator) ด้วยอีกทางหนึ่ง

๑.๔ ในระบบจ้างบริการ ยังมีปัญหาในมาตรา ๕๓/๑๔ ที่ให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้เสียค่าภาคหลวงให้แก่รัฐ ดังนั้น หากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติทำหน้าที่แทนบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก็จะกลายเป็นผู้เสียค่าภาคหลวงให้แก่กระทรวงพลังงานเสียเอง จึงเป็นระบบที่ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลในการจัดเก็บรายได้แผ่นดิน

ข้อ ๒. สำหรับบทบาทของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะเป็นผู้กำกับและกำหนดนโยบายต่างๆ (Regulator) จึงขัดแย้งกับการทำหน้าที่บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ มีดังนี้

๒.๑ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการปิโตรเลียมตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และคณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจตามมาตรา ๑๖ (๓) ในการทำความตกลงราคาก๊าซธรรมชาติในราชอาณาจักรตามมาตรา ๕๘

๒.๒ คณะกรรมการปิโตรเลียมยังมีอำนาจในการเสนอคำแนะนำแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในการกำกับธุรกิจปิโตรเลียมด้านต่างๆ ตามหมวด ๓ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

๒.๓ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็นผู้กำกับดูแลการขายและจำหน่ายปิโตรเลียมตามหมวด ๕

๒.๔ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็นผู้มีอำนาจในการอนุมัติแผนงานและงบประมาณตามมาตรา ๕๓/๓(๒)(ก)

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีความเห็นว่า ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วน และจะต้องมีการแก้ไขก่อนหน้าที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาเกี่ยวกับแปลงเอราวัณ / บงกช”


กำลังโหลดความคิดเห็น