xs
xsm
sm
md
lg

‘มีปืนเอาไว้ทำอะไร...?’

เผยแพร่:   โดย: โสภณ องค์การณ์

ช่วงนี้มีคนคิดสโลแกนแบบคมคายสำหรับประดับเส้นทางของชีวิต มีเนื้อความสั้นๆ ว่า “เดินขึ้นศาลยังดีกว่าถูกหามขึ้นเมรุ” ทั้งโดนใจผู้คนมากมาย เพราะอย่างแรกยังมีลมหายใจ อย่างหลังคือรอการเผา หลังจากสิ้นลมหายใจและพิธีกรรมต่างๆ จบสิ้นลง

เป็นประโยคท้าทายระบบ ผสมการประชดกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรม สืบเนื่องจากกรณี “ลุงวิศวกรใช้อาวุธปืนยิงโจ๋ ม. 4” เป็นผีเฝ้าถนนไม่ห่างจากตลาดอ่างศิลา หลังจากการปะทะคารมเรื่องการจอดรถ ส่งผลให้ 1 โจ๋เสียชีวิต

ใครติดตามข่าวสาร คลิปภาพและเสียง ความเห็นจากตำรวจ อัยการ ทนายความ ชาวบ้านทั่วไป คงมีข้อสรุปของตัวเองว่าใครเป็นฝ่ายผิด และ “ลุงวิศวกร” มีโทษอาญาร้ายแรงหรือไม่ ผลสุดท้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องสอบสวนคดีให้อัยการพิจารณานำฟ้องศาล

เบื้องต้นตำรวจได้ตั้งข้อหาฆ่าคนโดยเจตนาต่อ “ลุงวิศวกร” ขณะที่ยังตรองไม่ตกในช่วงแรกว่าต้องดำเนินคดีกับวัยโจ๋ โดยเฉพาะคนรับรถซึ่งควรเป็นตัวการร่วมหรือไม่ ผ่านไปเกือบสัปดาห์ “ลุงวิศวกร” ไปแจ้งความตำรวจให้เอาเรื่องพวกโจ๋ รวมทั้งคนที่ขับรถตู้ด้วย

ประเด็นข้อเท็จจริงพร้อมหลักฐานคงต้องนำไปว่ากันในศาล ตัว “ลุงวิศวกร” จะมีความผิดต้องโทษติดคุกหรือไม่ ขึ้นอยู่พยานหลักฐานและแนวคิด ดุลพินิจ องค์ประกอบต่างๆ ว่ามีเหตุมีผลหรือไม่ ในการใช้ปืนยิง “เด็กดี ม. 4” ตามนิยามของหญิงผู้เป็นมารดา

ขณะที่สังคมถกเถียงกันเรื่องใครผิด ใครถูก ความควรไม่ควรในการใช้อาวุธปืนนั้น ประเด็นสำคัญน่าจะต้องถกกันเรื่องแนวคิด ทัศนคติของสังคม กรณีการมีอาวุธปืน การนำพาอาวุธปืน และการใช้ปืนเพื่อระงับเหตุร้าย ปกป้องชีวิตและอันตรายต่อทรัพย์สิน

ได้ถามหลายคน ทั้งตำรวจ ทหาร ทนายความ คนทั่วไป “ถ้าเจอแบบลุงวิศวกรจะทำอย่างไร?” เกือบทุกคำตอบคือ “เป็นผมก็ยิง...” เพื่อปกป้องชีวิตตัวเองและครอบครัว

น่าจะมีคำถามถึงนิยามของเหตุต้องใช้อาวุธปืนเทียบกับสภาพสังคมซึ่งเต็มไปด้วยความเสี่ยงชีวิตต่ออันตรายจากสารพัดของพฤติกรรม และดูว่าข้อห้ามเรื่องปืนนั้น “ล้าสมัย” เกินไปหรือไม่ เป็นการจำกัดสิทธิและความสามารถของคนมีอาวุธปืนหรือไม่

ปัจจุบัน การได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนก็ยากเย็น ราคาปืนก็แพงกว่าในประเทศผู้ผลิตอย่างน้อย 2 เท่า ทั้งนี้เพราะมีโควตาสำหรับการนำเข้านอกเหนือจากภาษีต่างๆ ทำให้ปืนกล็อกขายในร้านที่สหรัฐฯ ราคา 500 ดอลลาร์มาเป็นเกือบแสนบาทในเมืองไทยอัตราการตายจากการฆ่ากันในเมืองไทยแต่ละปีมีมาก เพราะปืนเถื่อนหาซื้อได้ง่าย มีทั้งอาวุธสงครามร้ายแรงจากผลพวงของสงครามในประเทศเพื่อนบ้านช่วงกว่า 2 ทศวรรษ และการซื้อขายเพื่อส่งให้กองทัพชนกลุ่มน้อยเรียกร้องอิสรภาพจากรัฐบาลพม่า

เมื่อซื้ออาวุธปืนมาแล้ว การจะได้ใบอนุญาตพกปืนด้วยนั้นยากเหลือหลาย ทำให้เจตนารมณ์ของกฎหมายคือยอมให้ประชาชนมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองได้ เอาไว้ในบ้านเท่านั้น เพราะการพกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควรมีโทษทางอาญา

นั่นเป็นปืนที่มีใบอนุญาตเท่านั้น ถ้าเป็นปืนเถื่อน หรืออาวุธสงคราม โทษหนักมาก บางประเทศห้ามประชาชนมีอาวุธปืน มีโทษประหารชีวิต ดังเช่นสิงคโปร์และมาเลเซีย แต่เป็นประเทศไม่มีอาชญากรรมชุกชุม มีระบบคุ้มครองความปลอดภัยแก่ประชาชนในขั้นดี

คำถามที่ได้ยินบ่อยๆ คือ “มีปืนแล้วให้เอาไว้ในบ้าน จะมีเอาไว้ทำไม” จะใช้ได้เฉพาะมีคนมาหาเรื่อง บุกรุก โจรเข้าบ้าน หรือเหตุอื่น ถ้าใช้ยิงป้องกันตัวเกินกว่าเหตุ ทำให้ผู้ร้าย ผู้กระทำผิดกฎหมายเสียชีวิต คนยิงมีโทษอาญา หนักหรือเบาขึ้นอยู่กับหลักฐาน

ประชาชนไม่มีสิทธิมากเพียงพอในการปกป้องตนเองจากภัย เช่น กฎหมายห้ามมีไว้ในครอบครองเสื้อเกราะกันกระสุน เท่ากับว่าชาวบ้านห้ามมีเสื้อเกราะไว้สวมป้องกันถ้ามีโจรผู้ร้ายหรือฝ่ายตรงข้ามต้องการใช้อาวุธปืนยิงให้ตาย แม้จะไม่แอ่นอกให้ผู้ร้ายฆ่าง่ายๆ

ทุกวันนี้อันตรายสำหรับคนในสังคมเมืองมีสารพัดออกจากบ้านไปทำงานไม่แน่ใจว่าจะปลอดภัยหรือไม่ อาชญากรรมจากปัญหาเศรษฐกิจ ยาเสพติด การมุ่งร้ายประสงค์ต่อทรัพย์เป็นเรื่องธรรมดา แต่คนตายด้วยปืนยังมีน้อยกว่าคนถูกทำให้ตายด้วยอุบัติหตุ

เมื่อมีปืน ห้ามพกพาปืนออกจากบ้านไปในที่สาธารณะ ถ้าจะมีกรณียกเว้น ต้องเอาหลักฐาน ความจำเป็นไปอธิบายต่อเจ้าหน้าที่ จะหวังให้ตำรวจยอมปล่อยไปง่ายๆ โดยไม่ดำเนินคดีนั้นคงยาก ต้องถูกนำตัวสู่อัยการและศาลเพื่อพิจารณาถึงเหตุผล ความจำเป็น

“เหตุอันควร” คืออะไร? นักกฎหมายและเจ้าหน้าที่เคยอธิบาย ยกกรณีต่างๆ รวมทั้งคำพิพากษาของศาลฎีกามาประกอบ โดยส่วนใหญ่ “การใช้ดุลพินิจ” เป็นตัวตัดสิน ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ พฤติกรรมของผู้เกี่ยวข้อง ความรุนแรงในการนำอาวุธปืนมาใช้ระงับเหตุนั้น

มีนายตำรวจบอกว่า “ถ้านำเงินสัก 1 แสนบาทไปฝากธนาคารหรือทำธุรกรรม” ก็มีเหตุผลเพียงพอในการพกพาอาวุธปืนไปป้องกันตัว แต่ตำรวจคิดไม่เหมือนกัน นายตำรวจคนอื่นๆ อาจมองว่ายังไม่เข้าข่ายก็ได้ จึงเกิดคำถาม “มีปืนไว้ทำไม ถ้าพกพาไปไหนไม่ได้”

ใครเป็นผู้พิจารณาว่า “เหตุอันควร” อยู่ตรงไหน สำหรับการพกพาอาวุธปืนเข้าไปในเมือง ชุมชน ที่สาธารณะ ถ้าพกพาไปแล้ว แต่ไม่มีเหตุจำเป็นต้องใช้ ก็ไม่เกิดเรื่อง ไม่มีใครรู้ เว้นแต่ว่าถูกค้นโดยตำรวจตั้งด่านตรวจ ต้องถูกจับกุมดำเนินคดี มีประวัติอาชญากรรม

ถ้าต้องขับรถไปต่างจังหวัดแต่เอาปืนไว้ที่บ้าน เมื่อมีเหตุร้าย เช่นคนร้ายดักใช้ก้อนหินปารถ โรยเรือใบ ดักปล้น หรือเหตุอื่นใด ปืนเก็บที่บ้านยังสู้สากกะเบือในรถไม่ได้ จะหวังให้เจ้าหน้าที่มาช่วยให้รอดตายจากเหตุร้ายทันทีนั้น เป็นการมองโลกสวยอย่างยิ่ง

ถ้าเอาปืนไป แต่แยกกระสุนจากตัวปืน เก็บไว้ในกระเป๋า มีเหตุร้ายจะทันการหรือ?
กำลังโหลดความคิดเห็น