xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ถกทีมกฎหมาย แย้มใช้สิทธิ์เห็นแย้ง กม.ลูก 3 ประเด็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คณะกรรมการการเลือกตั้ง ถกทีมกฎหมาย ดูร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ ขัดแย้งเจตนารมณ์ รธน. หรือไม่ พบมีทั้ง 2 เสียง ขัดและไม่ขัด แย้มจ่อใช้สิทธิ์เห็นแย้ง 3 ประเด็น

วันนี้ (14 มิ.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อเวลา 10.00 น. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประชุมร่วมกับคณะที่ปรึกษากฎหมายของ กกต. เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่า มีประเด็นใดที่ขัดหรือแย้งกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยเฉพาะการที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้แก้ไขมาตรา 70 ที่ให้ ประธาน กกต. และกรรมการ กกต. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ... ซึ่งยังมีความเห็นเป็น 2 แนวทาง ในส่วนของคณะที่ปรึกษากฎหมายของ กกต. มีทั้งที่เห็นว่าขัดแย้งกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญและเห็นว่าไม่ขัด โดยฝ่ายที่เห็นว่าขัดแย้งกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญยกเหตุผลว่า การแก้ไขมาตรา 70 ให้เซตซีโร่ กกต. นั้น เป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมสำหรับ กกต. ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญใหม่ อีกทั้งก่อนหน้านี้ตามร่างเดิมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ก็ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้พิจารณา หากใครมีคุณสมบัติครบก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แตกต่างจากการแก้ไขใหม่ที่ให้โละทิ้งทั้งหมด

ส่วนคณะที่ปรึกษากฎหมาย กกต. ฝ่ายที่เห็นว่าไม่ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ มองว่า การเซตซีโร่ กกต. เป็นเรื่องของการออกกฎหมาย เพราะไม่ได้เป็นกฎหมายย้อนหลัง และไม่ใช่เรื่องสิทธิของประชาชน เป็นเรื่องตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งไม่ใช่เรื่องสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล การที่ กกต. ซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ต้องพ้นจากตำแหน่งไปตามร่างกฎหมายนี้ และไม่สามารถกลับมาสมัครเป็นกรรมการในองค์กรอิสระได้อีกก็ไม่ถือว่าถูกจำกัดสิทธิ เนื่องจากเป็นเรื่องตำแหน่งของรัฐ ไม่ใช่เรื่องสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล เพราะสิทธิในฐานะประชาชนไม่ได้เสียไป ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง กกต. หรือรัฐมนตรีย่อมต้องเป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ ไม่มีใครมาอ้างสิทธิได้ ส่วนการออกกฎหมายแบบนี้จะมีความเหมาะสมหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า กกต. จะใช้สิทธิทำความเห็นแย้งต่อร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวอย่างน้อย 3 ประเด็น คือ 1. เรื่องคุณสมบัติ กกต. 2. เรื่องอำนาจที่ กกต. สามารถระงับยับยั้งได้หากพบการทุจริตในหน่วยเลือกตั้ง และสามารถกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้ และ 3. การเลือกตั้งท้องถิ่นที่กฎหมายได้มอบหมายให้หน่วยงานอื่นจัดการเลือกตั้งภายใต้การกำกับดูแลของ กกต.





กำลังโหลดความคิดเห็น