xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ดิ้นสู้"เซตซีโร"ถึงศาลรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วันนี้(14 มิ.ย.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จะมีการประชุมร่วมกับคณะที่ปรึกษากฎหมายของกกต.เพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ว่ามีประเด็นใด ที่ขัดหรือแย้งกับเจตนารมณ์ของรธน.หรือไม่ โดยเฉพาะการที่ สนช.มีมติเห็นชอบ ร่างกฎหมายตามที่ กมธ.วิสามัญฯได้แก้ไข มาตรา 70 ที่ให้ประธาน กกต. และกรรมการกกต. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่พ.ร.ป.นี้ใช้บังคับ พ้นจากตำแหน่ง นับแต่วันที่ พ.ร.ป.นี้ใช้บังคับ (เซตซีโร) ซึ่งยังมีความเห็นเป็น 2 แนวทาง
ที่ปรึกษากฎหมายกกต. ในส่วนที่เห็นว่าการแก้ไขมาตรา 70 เซตซีโร กกต. ขัดกับเจตนารมณ์รธน.นั้น พุ่งเป้าไปที่ 2 มาตรา คือ มาตรา 3วรรค 2 ที่ระบุว่า รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรธน. กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม ประกอบมาตรา 26 ที่กำหนดว่า การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิ หรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรธน. ในกรณีที่รธน. มิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม แต่การแก้ไข มาตรา 70 ให้เซตซีโรกกต.นั้น เป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมสำหรับกกต. ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามรธน.ใหม่ อีกทั้งก่อนหน้านี้ ตามร่างเดิมของกรธ. ก็ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้พิจารณา หากใครมีคุณสมบัติครบ ก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แตกต่างจากการแก้ไขใหม่ ที่ให้โละทิ้งทั้งหมด นอกจากนี้ยังพบเอกสารบันทึกเจตนารมณ์ของ กรธ. เกี่ยวกับบทเฉพาะกาล ให้องค์กรอิสระที่มีคุณสมบัติครบอยู่ต่อไปจนครบวาระ โดยให้กรรมการสรรหา สรรหาใหม่เฉพาะที่เพิ่มขึ้น และที่ขาดด้วย การมาแก้ไขเนื้อหาให้แตกต่างไปจากร่างเดิม และไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของกรธ. จึงเป็นเรื่องที่ขัดแย้งต่อเจตนารมณ์ของรธน.
ส่วนฝ่ายที่เห็นว่าไม่ขัดเจตนารมณ์รธน. มองว่า การเซตซีโรกกต. เป็นเรื่องของการออกกฎหมาย เพราะไม่ได้เป็นกฎหมายย้อนหลัง และไม่ใช่เรื่องสิทธิของประชาชน แต่เป็นเรื่องตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งไม่ใช่เรื่องสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล การที่ กกต.ซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนตามรธน.ใหม่ แต่ต้องพ้นจากตำแหน่งไปตามร่างกฎหมายนี้ และไม่สามารถกลับมาสมัครเป็นกรรมการในองค์กรอิสระได้อีก ก็ไม่ถือว่าถูกจำกัดสิทธิ เนื่องจากเป็นเรื่องตำแหน่งของรัฐ ไม่ใช่เรื่องสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล เพราะสิทธิในฐานะประชาชนไม่ได้เสียไป ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง กกต. หรือรัฐมนตรี ย่อมต้องเป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ ไม่มีใครมาอ้างสิทธิได้ ส่วนการออกกฎหมายแบบนี้จะมีความเหมาะสมหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
โดยหลังจากการประชุมระหว่างกกต. กับคณะที่ปรึกษากฎหมายในวันนี้ กกต.จะมีการประชุมกัน เพื่อพิจารณาว่ามีประเด็นใดที่เห็นว่าขัดแย้งกับเจตนารมณ์รธน.หรือไม่ เพื่อส่งกลับไปยังสนช. อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่าจะมีการส่งความเห็นแย้ง เพื่อให้มีการตั้งกมธ.ร่วมฯ และส่งให้ศาลรธน.วินิจฉัยชี้ขาด
อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นนี้ ทางกกต. จะใช้สิทธิในการทำความเห็นแย้งต่อร่าง พ.ร.ป. กลับไปยังสนช. 3 ประเด็น คือ 1. เรื่องคุณสมบัติกกต. 2. เรื่องอำนาจที่ กกต. สามารถสั่งระงับยับยั้งได้ หากพบการทุจริตในหน่วยเลือกตั้ง และสามารถกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้ และ 3. การเลือกตั้งท้องถิ่นที่กฎหมายได้มอบหมายให้หน่วยงานอื่นจัดการเลือกตั้งภายใต้การกำกับดูแลของกกต. โดยประเด็นที่ 2 และ 3 ถูก กรธ. ตัดทิ้งไป
ทั้งนี้การใช้สิทธิเสนอความเห็นแย้งไปยัง สนช. เพื่อนำไปสู่การตั้งกมธ.ร่วม แต่ในกระบวนการนี้ ทางกกต.ไม่หวังผลว่าจะชนะ เนื่องจากในกมธ. ที่จะตั้งขึ้นนั้น ประกอบไปด้วยสมาชิก สนช. 5 คน กรธ. 5 คน แต่ในส่วนของกกต. จะมีเพียงประธาน กกต.1 คนเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามในชั้นนี้ กกต.ไม่สามารถยื่นให้ศาลรธน.ได้ แต่ถ้าหากออกเป็นกฎหมายแล้ว กกต.ก็สามารถยื่นให้ศาลรธน.พิจารณาได้
มีรายงานว่า ทาง กกต.ได้มีการพบบันทึกเจตนารมณ์ที่เป็นลายลักษณ์อักษรของ กรธ. เกี่ยวกับบทเฉพาะกาลของรธน.ว่า ให้กกต.ที่มีคุณสมบัติครบตามรธน.60 อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้
กำลังโหลดความคิดเห็น