xs
xsm
sm
md
lg

"วิษณุ"แจงเซตซีโร่กกต. ตัดปัญหา"ปลา2น้ำ"ในโครงสร้างใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติแก้ไขบทเฉพาะกาล ให้กกต.ชุดปัจจุบันทั้งหมดพ้นวาระ (เซตซีโร่) เมื่อประกาศใช้ ร่าง พ.ร.ป.นี้ แต่ยังให้ปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีชุดใหม่มาแทนว่า เรื่องนี้ สื่อฯยังจับประเด็นไม่ถูก และไม่เข้าใจถึงเหตุผลที่แท้จริงของกมธ. เสียงข้างมาก ที่ต้องการให้ เซตซีโร่ กกต. ซึ่งการที่โฆษก กมธ.ชุดนี้ ระบุว่า ไม่อยากให้เกิดปัญหาการทำงานแบบปลาสองน้ำนั้น นี่คือเหตุผลที่แท้จริง โดยไม่ใช่แค่เรื่องของคุณสมบัติเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มจำนวนกรรมการกกต. จากเดิมที่มี 5 คนเป็น 7 คน ส่งผลให้โครงสร้างของกกต.เปลี่ยนไป ซึ่งองค์กรอิสระอื่นๆ เช่น สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง แต่อย่างใด
ทั้งนี้สื่อพูดถึงแต่เรื่องคุณสมบัติว่า กรรมการคนใดที่มีคุณสมบัติครบ ควรได้อยู่ในตำแหน่งต่อไป ทั้งที่จริงแล้วกรณีของกกต.มีปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และจำนวนกรรมการที่เพิ่มขึ้น หากถามว่าทำไม ไม่คงกรรมการเดิม 5 คนเอาไว้ แล้วสรรหามาใหม่ 2 คน ก็เป็นเพราะ 2 คนที่มาใหม่ ถือเป็นปลาอีกน้ำ ได้รับการสรรหามาอีกแบบหนึ่ง มีคุณสมบัติต่างกัน วาระการดำรงตำแหน่งไม่เท่ากับชุดเดิม ขณะเดียวกัน ในกรรมการ 5 คนเดิมนั้น มีบางคนที่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ ต้องพ้นจากตำแหน่งอยู่แล้ว แม้จะเซตซีโร่หรือไม่ก็ตาม ดังนั้นทุกคนจึงควรมาดูที่ประเด็นเหล่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องของอำนาจหน้าที่ของกกต.
"7 คนมาทำงานด้วยกัน โดย 2 คน มาอย่างหนึ่ง 5 คนมาอีกแบบหนึ่ง วาระในตำแหน่งก็ต่างกัน ต่างคนต่างอยู่ ที่เขาพูดถึงปลาสองน้ำ ก็คือตรงนี้ เรื่องของอำนาจหน้าที่ของกกต. ซึ่งปัญหาอย่างนี้ถ้าเกิดในองค์กรไหน ก็ต้องโดนอย่างเดียวกัน นี่คือสูตรของกรรมาธิการฯ ถ้าถามผมว่า เห็นด้วยหรือไม่ ผมไม่พูด แต่ผมอธิบายในสิ่งที่ กมธ.ออกมาแถลง นี่คือคำนิยามของเซตซีโร่ ที่เป็นการสรรหาใหม่ เพื่อให้ที่มาเหมือนกันทั้งหมด ไม่ได้พูดถึงคุณสมบัติ" นายวิษณุ กล่าว
ต่อข้อถามว่า เรื่องนี้ถูกมองด้วยว่าอาจช่วยทำให้การเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปได้ เพราะกกต.ที่ทำหน้าที่รักษาการระหว่างรอชุดใหม่ อาจไม่สามารถใช้อำนาจอย่างเต็มที่ในการจัดการเลือกตั้ง นายวิษณุ กล่าวว่าไม่เห็นเกี่ยวกันเลย ตอนนี้เรายังไม่รู้เลยว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไร ทั้งนี้ จะต้องมีกกต.ชุดใหม่ 7 คน เข้ามาก่อนภายในปีนี้ โดยการจัดทำ พ.ร.ป. 2 ฉบับ ที่กำลังจะออกมานั้นระบุว่า ต้องสรรหากกต.ชุดใหม่ให้ได้ภายในกี่วัน ดังนั้น เหตุผลที่พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของสนช. เพราะต้องการให้ กกต.ชุดใหม่เป็นคนทำกฎหมายฉบับนี้ อย่างไรก็ตามการดำเนินงานทั้งหมด ต้องอยู่ในกรอบเวลา 8 เดือน โดยภาพรวมถือว่าทุกอย่างอยู่ตามกรอบเวลาเดิม ไม่มียืดเวลาออกไปแม้แต่วันเดียว
"ผมมองเห็นด้วยซ้ำไปว่า กฎหมายกกต.จะผ่านสนช.เดือนไหน ได้กกต.ใหม่เดือนไหน และไปอีกนานเท่าไหร่ กว่าจะครบกำหนด 8 เดือน กกต.ชุดใหม่ จะเป็นคนจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน แต่ถ้า สนช.ไม่เห็นด้วยกับการเซตซีโร่ กกต.ปัจจุบันนี้จะเป็นคนดูแลการเลือกตั้ง ต้องไปรอดูผล สนช. ตัดสินในวันที่ 9 มิ.ย. ว่าจะเป็นอย่างไร" นายวิษณุกล่าว
ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ในฐานะประธานสนช. ต้องวางตัวเป็นกลาง จะวิพากษ์วิจารณ์ความเห็นของกมธ. หรือของผู้สงวนคำแปรญัตติ คงไม่เหมาะสม อีกทั้งกระบวนยังไม่สิ้นสุด เพิ่งผ่าน กมธ.ที่มีการแก้ไขบทเฉพาะกาล โดยร่างเดิมของกรธ. มีการให้รีเซตให้กรรมการ กกต. ที่ขาดคุณสมบัติพ้นจากตำแหน่ง แต่กมธ.ปรับเปลี่ยนให้มีการเซตซีโร่ ซึ่งกมธ.ก็มีความเห็นหลายรูปแบบ ทั้งเป็นไปตามร่างเดิม และให้กกต.อยู่ต่อไปจนครบวาระ ไม่ไปลิดรอนสิทธิ์ ซึ่งในการประชุม สนช.ในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ รอฟังแต่ละฝ่ายมีเหตุผลอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น