เผยคดี “เสรีพิศุทธ์” รุกลำน้ำแควน้อย จ.กาญจนบุรี ค้างอยู่ชั้น “ศาลปกครองสูงสุด” มากว่า 5 ปีแล้ว ย้อน “ศาล ปค.กลาง” ยกฟ้องคดีที่ “เสรีพิศุทธ์” ฟ้อง ก.คมนาคม-จนท.สั่งให้รื้อถอนรีสอร์ตภูไพรธารน้ำไม่ชอบ คำพิพากษาชี้ชัดทิ้งหินกันน้ำกัดเซาะรุกลำน้ำจริง “โจทก์เก่า” เคยทำหนังสือติดตามคดี ก่อน “สนง.ศาลฯ” ตอบมีข้อเท็จจริงเพียงพอ เตรียมดำเนินการต่อ ตั้งแต่ต้นปี 62
รายงานข่าวจาก สำนักงานศาลปกครอง แจ้งว่า ขณะนี้ยังมีคดีของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้า และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร อยู่ในชั้นศาลปกครองสูงสุด โดยเป็นคดีที่ ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้รื้อถอนสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ได้ถมหิน ดิน และทราย ลงในแม่น้ำแควน้อย รุกล้ำลำธารสาธารณประโยชน์ บริเวณรีสอร์ทภูไพรธารน้ำ หรือไร่จิตตรี โฉนดที่ดินเลขที่ 7783 ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ซึ่ง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ต่อศาลปกครองสูงสุดไปเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2557
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ขณะนี้คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการไต่สวนและแสวงหาข้อเท็จจริง หลังจากผ่านมาเกือบ 5 ปีแล้ว โดยคดีดังกล่าวในชั้นศาลปกครองกลาง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้ยื่นฟ้องกระทรวงคมนาคม, สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม, รองปลัดกระทรวงคมนาคม, กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี, อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี, และหัวหน้าสำนักงานการขนส่งทางน้ำที่ 3 สาขากาญจนบุรี เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-6 ตามลำดับ กรณีหน่วยงานผู้ถูกฟ้องมีคำสั่งให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ รื้อถอนสิ่งล่วงล้ำลำน้ำด้วย
จนเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2557 ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษา ระบุว่า การทิ้งหินกันน้ำกัดเซาะล่วงล้ำเข้าไปในแม่น้ำแควน้อยของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เป็นพื้นที่ 1,500 ตารางเมตร อยู่นอกแนวเขตที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 7783 และต่อมาพื้นที่ส่วนดังกล่าวได้มีการปลูกต้นไม้ จัดพื้นที่เป็นสวน และทางเท้าปูด้วยหินแผ่นไปตามแนวแม่น้ำแควน้อย อันเป็นการกระทำไม่อาจอนุญาตให้กระทำได้ จึงถือเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 117 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย 2456
ส่วนที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ อ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 มีหนังสืออนุญาตให้ทิ้งหินกันน้ำกัดเซาะบริเวณดังกล่าวได้ เห็นว่า ตามหนังสืออนุญาตผู้ถูกฟ้องที่ 6 ได้ระบุเงื่อนไขในการทิ้งหินดังกล่าวจะต้องไม่ยื่นล้ำเกินกว่าแนวขอบเขตที่ดินในสิทธิครอบครอง แต่เมื่อการทิ้งหินกันน้ำเซาะของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไม่ใช่บริเวณที่ดินที่ตนมีสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ รวมถึงสิ่งปลูกสร้างก็ไม่ได้มีลักษณะตามที่กฎกระทรวงฉบับที่ 63 ซึ่งออกตามความ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทยให้อนุญาตกระทำได้
และที่อ้างว่า การทิ้งหินถมดินลงในแม่น้ำแควน้อยตามแนวเขตสีแดงด้านนอกที่ติดกับลำน้ำในภาพถ่ายทางอากาศเมื่อปี 2538 มิได้รุกล้ำเข้าไปในเขตของแม่น้ำแต่เนื่องจากกระแสน้ำได้พุ่งตรงเข้ามายังที่ดินบริเวณที่พิพาทของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ และกัดเซาะเอาเนื้อที่ดินของให้หายไปตามกระแสน้ำตั้งแต่ก่อนสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ์มาจนกระทั่งปัจจุบันเป็นจำนวนมากนั้นก็ฟังไม่ขึ้น
เนื่องจากพบว่า เขื่อนฯ สร้างในเดือน มี.ค. 2522 แล้วเสร็จในปี 2528 แต่ที่ดินแปลงดังกล่าวมีการซื้อขายกันภายหลังเขื่อนสร้างเสร็จแล้วถึง 6 ปี ซึ่งไม่พบว่าได้มีการทำการหวงกันแนวเขตที่ดินที่ถูกแม่น้ำแควน้อยกัดเซาะแต่อย่างใด จนปี 2535 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้เข้าครอบครองที่ดินดังกล่าว ก็ไม่ปรากฏว่า มีการกระทำใดๆ ที่แสดงถึงการหวงกันแนวเขตที่ดินซึ่งถูกแม่น้ำแควน้อยกัดเซาะแต่อย่างใด
ดังนั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จึงไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินส่วนที่ถูกน้ำเซาะหายไปในแม่น้ำแควน้อยอันเป็นทางสัญจรทางน้ำของประชาชน หรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันซึ่งตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปแล้วตามมาตรา 1304(2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น คำสั่งของผู้ถูกฟ้องที่ 6 ที่สั่งให้รื้อถอนชอบแล้วด้วยกฎหมายแล้ว จึงพิพากษายกฟ้อง ก่อนที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จะยื่นขออุทธรณ์ดังกล่าวรายงานข่าวแจ้งด้วยว่า พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ โมรานนท์ ผกก.สส.ภ.จว.นนทบุรี ซึ่งเคยมีคดีฟ้องร้องกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้เคยทำหนังสือลงวันที่ 12 พ.ย. 2561 เพื่อติดตามผลการพิจารณาดำเนินการของ สำนักงานศาลปกครอง ที่รับผิดชอบสำนวนคดี ระหว่าง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กับกระทรวงคมนาคม และพวกรวม 6 คน มีความล่าช้า เนื่องจากเป็นระยะเวลาประมาณ 4 ปี แต่ยังไม่มีคำพิพากษา โดย สำนักงานศาลปกครอง ได้มีหนังสือตอบกลับลงวันที่ 8 ม.ค. 2562 ลงนามโดย นายอติโชค ผลดี รองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง สาระสำคัญระบุว่า ได้นำเรื่องเสนอต่อตุลาการเจ้าของสำนวนพิจารณาแล้วมีคำสั่งแจ้งกลับว่า ศาลมีอำนาจพิพากษาด้วยความรวดเร็ว เป็นธรรม ปราศจากอคติทั้งปวง และศาลเห็นว่าคดีดังกล่าวน่าจะมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะดำเนินการในขั้นตอนต่อไปได้ .