ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “ใครต้องรับผิดชอบ?”
นี่เป็น “คำถาม” ที่คนกรุงกำลังเรียกร้องหา “คำตอบ” หลัง “ศาลปกครองกลาง” มีคำสั่งให้ “กรุงเทพมหานคร(กทม.)” ที่มี “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” เป็น “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” ระงับการก่อสร้าง “โครงการสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาระยะทาง 57 กิโลเมตร”
ที่สำคัญคือ ศาลระบุในคำสั่งเอาไว้ชัดเจนว่า เป็นโครงการที่เข้าข่าย “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” เหตุลักษณะการก่อสร้างเป็นอาคารตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ซึ่งต้องแจ้งแผนผัง แบบแปลน แต่ กทม.ไม่ได้แจ้ง
นี่ย่อมไม่ใช่เรื่อง “เล็กๆ” เพราะ กทม.ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐและมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย “กระทำผิดเสียเอง” และจะอ้างว่า “ไม่รู้ ไม่เข้าใจ” ก็ไม่ได้ เพราะ กทม.ย่อมต้องรู้กฎหมาย แล้วทำไมถึงไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
หนักไปกว่านั้นก็คือ เมื่อตรวจสอบข้อมูลก็เป็นไปตามที่ศาลว่าเอาไว้จริงๆ เพราะ กทม.ไม่ได้มีการแจ้งแผนผังหรือแบบแปลนการก่อสร้างให้สาธารณชนได้ทราบจริงๆ และเมื่อตรวจสอบและค้นหาก็ไม่ได้เคยเห็นว่า รายละเอียดการก่อสร้างของโครงการเป็นอย่างไร
ทั้งนี้ ศาลเห็นว่า การก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา กว้างประมาณ 6 - 10 เมตร ยาวตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งระยะทางประมาณ 57 กิโลเมตร ล่วงล้ำเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อใช้เป็นทางสัญจรรองรับการเดินทางด้วยจักรยาน ชมทัศนียภาพ พักผ่อนหย่อนใจ และออกกำลังกาย น่าจะไม่ใช่อาคารหรือสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำเจ้าพระยาที่กรมเจ้าท่าจะพึงอนุญาตได้ตามมาตรา 117 วรรคสอง พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย 2556 ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 63 (พ.ศ. 2537)ฯ และการก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยามีผลกระทบต่อการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาและมิใช่การสร้างสิ่งล่วงล้ำเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อการคมนาคมและการขนส่งทางน้ำตามเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง
แต่ทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าลักษณะสิ่งก่อสร้างที่เป็นอาคารตามมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งในการดำเนินโครงการดังกล่าวไม่ปรากฏว่า กรุงเทพมหานครได้มีการแจ้งและส่งแผนผังบริเวณ แบบแปลนฯ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนทำการก่อสร้างตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 9(พ.ศ. 2528 )ฯ เพราะฉะนั้นน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ ศาลเห็นว่า กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการเตรียมการที่จะดำเนินการก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยามาเป็นลำดับ กรณีนี้จึงถือได้ว่ากรุงเทพมหานครตั้งใจที่จะกระทำต่อไป
ทั้งนี้ “ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา” เป็นส่วนหนึ่งใน “โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา” หรือ “Chao Phraya for All” ของกระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบโครงการโดย สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นเมกะโปรเจ็กต์พัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ตั้งธงไว้เมื่อปี 2558 ในยุคคณะรักษาความสงบ (คสช.) ที่มี “บิ๊กตู่ - พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช. โดยเป้าหมายสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ด้านการพัฒนาเมือง ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์และเข้าถึงแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว
ดูเผินๆ อาจจะมองว่าเป็นโครงการที่ดี แต่เมื่อวิเคราะห์เนื้อในก็จะพบว่า เต็มไปด้วยปัญหา ทว่า ที่ผ่านมา กทม.ไม่ได้สนใจเสียงคัดค้านที่ดังกระหึ่มอยู่ในขณะนี้แต่อย่างใด ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงก่อนที่จะเดินหน้าโครงการ กทม.สมควรที่จะต้องตอบคำถามในทุกข้อสงสัยให้เป็นที่กระจ่างแจ้งเสียก่อน มิฉะนั้นแล้ว อาจจะเกิดปัญหาใหญ่ขึ้นในอนาคต
ต้องไม่ลืมว่า การก่อสร้างที่ยืนลงไปแม่น้ำเจ้าพระยาถึงข้างละ 7-10 เมตร และ “ตอม่อ” จำนวนนับไม่ถ้วนที่ปักลงไปในน้ำ ย่อมส่งผลให้เกิดสารพัดปัญหา ทั้งปัญหาต่อแม่น้ำ ปัญหาต่อระบบนิเวศน์และปัญหาที่กระทบต่อวิถีชุมชนสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอันยากที่หวนกลับคืนได้
รวมทั้งยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า กระบวนการ EIA ของโครงการฯ มีความสมบูรณ์เพียงใด เพราะที่ผ่านมามีการตั้งข้อสังเกตเรื่องขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน อีกทั้ง โครงการฯ จะต้องทำ EIA จำนวน 12 แผนงาน แต่ส่งคณะทำงานลงไปศึกษาเพียง6 แผนงาน กลายๆ ว่า EIA ยังไม่ผ่าน ยังไม่ทันศึกษาผลกระทบรอบด้าน แต่กลับเร่งรัดให้เกิดการก่อสร้างทางเลียบเจ้าพระยา
นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA) เป็นตัวแทนสมัชชาแม่น้ำอันประกอบด้วยองค์กรและเครือข่ายจำนวน 35 องค์กร กล่าวแสดงจุดยืนคัดค้านฯ ระบุหากปล่อยให้โครงการนี้ดำเนินการต่อไปจะสร้างความเสียหายแก่บ้านเมืองอย่างหนักหนาสาหัส และเรียกร้องให้ บิ๊กตู่ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งยุติโครงการฯ
สมัชชาแม่น้ำให้เหตุผลประกอบการคัดค้านไว้ 5 ประการดังนี้
1. สมัชชาแม่น้ำ เห็นความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแม่น้ำ และมีการพัฒนาที่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างเหมาะสมกับบริบทและคุณค่าของพื้นที่ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการก่อสร้างทางสัญจรที่รุกล้ำลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา
2. ทั้งที่ กทม.สามารถดำเนินการแก้ปัญหาการรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยาได้ตามอำนาจทางกฎหมายที่มีอยู่ได้ แต่กลับไม่ทำ ในทางตรงกันข้าม กลับทำเป็นถนนคอนกรีตขนาดใหญ่ที่รุกล้ำแม่น้ำเข้าไปอีก ซึ่งจะทำให้แม่น้ำคับแคบลงทั้งสองฝั่งร่วม 20 เมตร
3. แม่น้ำเจ้าพระยาสมควรถูกอนุรักษ์เป็นโบราณสถานตลอดสายน้ำ เพื่อยกฐานะเป็นมรดกโลกต่อไป แต่การทำถนนรุกล้ำลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา จะทำลายประวัติศาสตร์และสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติ จะเป็นตัวขวางกั้นความเชื่อมโยงของวิถีชีวิตริมน้ำอันจะส่งผลกระทบต่อความสงบสุขและความปลอดภัยของประชาชน
4. การก่อสร้างถนนลงไปในแม่น้ำ เป็นประเด็นที่อ่อนไหวในกรณีที่เกิดอุทกภัย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการไหลของน้ำ ถึงแม้ว่าในภาวะปกติ พฤติกรรมการไหลที่เปลี่ยนแปลงนี้อาจจะอยู่ในระดับที่ไม่มากนัก แต่จะส่งผลต่อสัณฐานลำน้ำ การกัดเซาะตลิ่ง และการตกตะกอนในลำน้ำ รวมถึงการกักเก็บขยะมูลฝอย ซึ่ง กทม. ควรศึกษาผลกระทบให้ครบถ้วนรอบด้านก่อนอย่างรอบคอบ มิเช่นนั้นจะเกิดผลเสียหายต่อส่วนรวมในอนาคต
5. ล่าสุดจากการที่ กทม. ตัดโครงการดังกล่าวออกบางส่วน จากเดิมที่วางแผนไว้ 14 กิโลเมตร คงเหลือความยาวรวมประมาณ 12.45 กิโลเมตร เพื่อหลบหลีกพื้นที่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์นั้น แสดงให้เห็นว่าโครงการนี้ยังมีการศึกษาไม่รอบคอบและยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายแม้แต่จากภาครัฐเองตามที่ กทม.กล่าวอ้าง
ด้วยเหตุดังกล่าว ช่วงปลายปี 2561 “สมัชชาแม่น้ำ ( River Assembly)” ซึ่งประกอบไปด้วยเครือข่ายต่างๆ อาทิ เครือข่ายนักวิชาการ ประชาชน เครือข่ายชุมชน เครือข่ายการพัฒนาลุ่มน้ำ เครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม เครือข่ายภาคเอกชน และเครือข่ายภาคประชาสังคม จึงดำเนินการฟ้องร้องต่อ “ศาลปกครอง” เพื่อขอให้ยกเลิกโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยโครงการฯ มีลักษณะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ระบบนิเวศในกรณีที่โครงการเริ่มดำเนินแล้ว และให้ ครม. มีกฎหมายหรือกฎระเบียบเพื่อดำเนินการคุ้มครองและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
และในที่สุดศาลปกครองก็มีคำพิพากษาออกมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง “เนื้อใน” ของโครงการดังกล่าวอย่างหมดเปลือกว่า มีความไม่ชอบมาพากลที่ตรงไหนบ้าง
จากนี้ไปคงต้องถามดังๆ ไปถึง “ผู้ว่าฯ อัศวิน ขวัญเมือง” ว่าจะตัดสินใจอย่างไร และจะมีใครต้องรับผิดชอบในการทำผิดกฎหมายหรือไม่ ที่สำคัญคือจะมีการ “ทบทวน” และ “แก้ไข” ให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อนที่จะเดินหน้าต่อไป หรือจะ “พับ” โครงการนี้ทิ้งไป
แต่ถ้าจะ “ฟันธง” เชื่อเหลือเกินว่า ไม่มีล้มอย่างแน่นอน.