xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“หน้ากากอนามัย- เจลล้างมือ” ขาดตลาด “จุรินทร์-ก.พาณิชย์” ทำอะไรกันอยู่จ๊ะ!!??

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในขณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย ย่านนนทบุรี เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2563
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในช่วงที่เกิดวิกฤตโหมกระหน่ำ คนไทยเผชิญทั้ง “ฝุ่นพิษ PM 2.5” และ “ไวรัสโคโรนาอู่ฮั่น” ทำให้ “หน้ากากอนามัย” และ “เจลล้างมือ” กลายเป็นของ “หายาก” ตกอยู่ในสภาวะขาดตลาด มิหนำซ้ำ เกิดการโก่งราคาขึ้นหลายเท่าตัว

ปรากฏการณ์ดังกล่าว กลายเป็นเรื่องที่สังคมไม่เข้าใจ เพราะก่อนหน้านี้ “อู๊ดด้า - นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ได้ออกมาย้ำเมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ว่าขอให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ “มีสินค้าอยู่สต๊อกเพียงพอ”

ตามข้อมูลระบุ มีจำนวนมากถึง 200 ล้านชิ้น สามารถใช้ได้ถึง 4-5 เดือนหากไม่ผลิตเพิ่มเติม ซึ่งมีโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยทั่วประเทศกว่า 10 ราย กำลังเร่งผลิตเพิ่มอย่างต่อเนื่อง มีศักยภาพในการผลิตต่อเดือนยังสามารถผลิตได้สูงถึง 100 ล้านชิ้น หากมีวัตถุดิบ ซึ่งตอนนี้ยังไม่พบปัญหาเรื่องวัตถุดิบ ทั้งนี้ โดยปกติปริมาณความต้องการใช้หน้ากากอนามัยโดยทั่วไปอยู่ที่ 30 ล้านชิ้นต่อเดือน แต่เนื่องด้วยปัญหาฝุ่นพิษและไวรัส ทำให้ปริมาณความต้องการเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 40 - 50 ล้านชิ้นต่อเดือน

“ไม่อยากให้พี่น้องประชาชนตื่นตระหนก และกังวลว่าจะไม่มีหน้ากากอนามัยเพียงพอนำไปใช้ป้องกันไวรัส และไม่อยากให้ไปกว้านซื้อเพราะกลัวว่าของจะขาดตลาด หากยิ่งตระหนก ยิ่งกว้านซื้อมาเก็บ ก็ยิ่งจะเป็นสาเหตุให้สินค้าขาดตลาด หรือสินค้าขาดตลาดเป็นช่วงๆ ได้ จึงขอให้ซื้อในอัตราปกติ ซื้อแค่เพียงพอใช้ โดยกระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับผู้ผลิตแล้ว และผู้ผลิตยืนยันว่าทำได้ทันความต้องการใช้ เป็นสิ่งที่อยากสื่อสารถึงพี่น้องประชาชน” นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะ

อย่างไรก็ดี นายจุรินทร์ ยอมรับว่าบางพื้นที่ขาดแคลนสินค้าจริง ซึ่งพาณิชย์จังหวัดจะต้องรายงานสถานการณ์เพื่อให้กรมการค้าภายในดำเนินการกระจายสินค้า

แม้เป็นการออกมาย้ำเตือน สร้างความเชื่อมั่นต่อพี่น้องประชาชนชาวไทยว่า หน้ากากอนามัยยังเพียงพอสำหรับความต้องการของตลาดในประเทศ ทว่า ในความเป็นจริงเกิดปรากฎการณ์หน้ากากอนามัยขาดตลาด หาซื้อยากมากถึงมากที่สุด ดังที่เห็นว่า ร้านขายยาทั่วประเทศพร้อมใจปิดป้ายประกาศทำนองเดียวกันว่า “หน้ากากอนามัยหมด” และ “เจลล้างมือหมด”

ส่วนในร้านค้าในอินเตอร์เน็ตอัพราคาแพงหูฉี่ จากหน้ากากอนามัยกล่องบรรจุ 50 ชิ้น ราคาไม่ถึง 100 บาท ปรับราคาพุ่งขั้นต่ำกล่องละ 300 - 1,000 บาท นอกจากนี้ ผู้บริโภคตาดำๆ ยังต้องเผชิญปัญหา “หน้ากากอนามัยปลอม” ไร้คุณภาพค้างสต๊อกจากประเทศจีน ที่มีการเร่ขายโก่งราคา รวมถึงเกิด “ขบวนการเก็งกำไร” จากหน้ากากอนามัย ปั่นราคารับซื้อหน้ากากอนามัยเข้าข่ายฉ้อโกง ซึ่งมีผู้ตกเป็นเหยื่อแล้วหลายราย

เห็นๆ กันอยู่ว่า หน้ากากอนามัย ขาดตลาด มีราคาแพงขึ้นหลายเท่าตัว แต่งานนี้ “บิ๊กตู่ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี กลับออกมาพูดเสียงแข็งทำนองว่า “หน้ากากอนามัยไม่แพง” แถมย้อนถามผู้สื่อข่าวว่า “ขาดตลาดได้อย่างไร? กระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่ามี” ซึ่งเป็นข้อมูลย้อนแย้งกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น งานนี้จึงโดนประชาชนถล่มเละ

“ที่บอกว่าไปซื้อแพ็กละ 450 บาท ไปซื้อที่ไหนมา นั่นเป็นอีกแบบที่ป้องกัน PM 2.5 หรือไม่ ไปซื้อแบบนั้นมาก็แพง แบบนั้นราคาอันละ 30-40 บาท แต่แบบธรรมดาอันละไม่ถึง 5 บาท ขออย่าเอามาตีกันไปกันมาคนละเรื่องกันหมด” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าว

อย่างไรก็ตาม ความจริงก็คือความจริงวันยังค่ำ เพราะขาดตลาดจริงไม่อิงนิยาย

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหา รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศให้ “หน้ากากอนามัย- เจลล้างมือ” เป็น “สินค้าควบคุม 1 ปี” เพื่อกำหนดมาตรการกำกับดูแลและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งหากพบกระทำผิด ขายแพงเกินราคา กักตุนสินค้า และปฏิเสธการจำหน่าย มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือหากไม่ปิดป้ายราคามีโทษ ปรับ 10,000 บาท

ร้านยาขององค์การเภสัชกรรม ประจำกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีประชาชนมาเข้าแถวรอซื้อหน้ากากอนามัยเป็นจำนวนมาก
นอกจากนั้น กระทรวงพาณิชย์ยังได้ตั้ง “วอร์รูม” เป็นผู้ประสานงานหลักกับผู้ผลิตรายใหญ่ ให้เร่งกำลังการผลิตให้ปริมาณหน้ากากอนามัยมีเพียงพอต่อความต้องการ รวมทั้งติดตามสินค้าที่จำเป็นเกี่ยวข้องกับการป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา และฝุ่น PM 2.5 ทั้งหน้ากากอนามัย เจล ล้างมือ สเปรย์แอลกอฮอล์ ฯลฯ ป้องกันไม่ให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภค

พร้อมทั้งออกมาตรการต่างๆ อาทิ มาตรการกำหนดให้ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ผู้นำเข้า และผู้ส่งออกสินค้าดังกล่าว ต้องแจ้งข้อมูลการผลิต การครอบครอง การจำหน่าย และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มาตรการการกระจายสินค้าเพื่อไม่ให้กระจุกตัวที่ใดที่หนึ่ง มาตรการด้านการส่งออกสินค้า ซึ่งในเบื้องต้นจะกำหนดว่าหากผู้ที่จะส่งออกสินค้าหน้ากากอนามัยหรือเจลทามือ เกิน 500 ชิ้นขึ้นไป จะต้องขออนุญาตส่งออกหรือเคลื่อนย้ายออกจากราชอาณาจักร มาตรการกำหนดให้ต้องขึ้นป้ายแสดงราคาจำหน่าย และต้องขายในราคาตรงกับป้ายราคา โดยระหว่างนี้กรมการค้าภายในได้ประสานงานกับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายไปพลางก่อนแล้ว นอกจากนี้ ยังมีแนวทางการจำกัดการซื้อสินค้าต่อคนใน ปริมาณ 10 ชิ้น จะพิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบายว่า จากความต้องการที่เพิ่มขึ้น มีประชาชนร้องเรียนเรื่องของการจำหน่ายราคาสูงจำนวนกว่า 100 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ หากพบว่ากระทำผิดจริงจะดำเนินการทางกฎหมายทันที โดยราคาขายที่พบว่ามีการจำหน่ายสูงขึ้นเฉลี่ยสูงขึ้น 40 - 50 บาทต่อชิ้น

ทั้งนี้ การจัดจำหน่ายจะต้องพิจารณาตามคุณภาพและเกรดของราคาสินค้าอย่างเหมาะสม ซึ่งกรมการค้าภายในจะดูแลการจำหน่ายทั้งรูปแบบการจำหน่ายปกติและการจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบในเรื่องนี้อย่างเข้มงวด เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน

นอกจากนี้ หลังประชุมร่วมกับห้างโมเดิร์นเทรด 14 ราย กรมการค้าภายใน เปิดเผยว่าห้างโมเดิร์นเทรด มีหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือในสต๊อกอยู่ และจะมีเข้ามาเติมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งได้ขอความร่วมมือจำกัดปริมาณขายให้กับผู้บริโภคห้ามเกิน 10 ชิ้นต่อครั้งต่อคน เพื่อกระจายสินค้าอย่างทั่วถึงและไม่ให้มีการกักตุน

ขณะที่ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยหลังจากกระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศให้หน้ากากอนามัย เป็นสินค้าควบคุม การจำกัดการค้า เพื่อให้สินค้ามีเพียงพอใช้ และเกิดประโยชน์กับคนที่มีความจำเป็น โดยยืนยันว่าหน้ากากอนามัยมีเพียงพอใช้สำหรับในประเทศ แต่ขออย่าให้มีการกักตุน เพราะอายุการใช้งานของหน้ากากอนามัย มีระยะเวลาจำกัด 5 ปี หากเก็บของไม่ดีสินค้าก็เสื่อมคุณภาพได้ อายุการใช้งานไม่ถึง 1-2 ปี

ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกับผู้ประกอบการหน้ากากอนามัย และเจลล้างมือ เตรียมเร่งกำลังการผลิตเพิ่มสัดส่วน ร้อยละ 10 - 20 เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน

ก็ไม่รู้ว่า หลังจากประกาศเป็นสินค้าควบคุม และมีการประสานความร่วมมือระหว่าง “กระทรวงสาธารณสุข” กับ “กระทรวงพาณิชย์” แล้ว ปัญหาจะหมดไปหรือไม่ เพราะแม้กระทั่งทุกวันนี้ ก็ยังหาซื้อไม่ได้ง่าย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ร้านยาขององค์การเภสัชกรรม ประจำกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในแต่ละวันมีประชาชนมาเข้าแถวรอซื้อหน้ากากอนามัยเป็นจำนวนมาก โดยบัตรคิวที่เตรียมไว้เกือบ 200 ใบ แจกจ่ายหมดภายในเวลาไม่นาน และจากการสอบถามเภสัชกรประจำร้านระบุว่า ที่ร้านยาสาขา สธ.นี้ ได้รับการจัดสรรหน้ากากอนามัยมาจำหน่ายวันละประมาณ 10,000 ชิ้น จำหน่ายหมดทุกวัน ภายในช่วงเวลา 14.00 น. โดยสถานการณ์เป็นเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันยังพบว่ามีประชาชนมีความต้องการหน้ากากอนามัยเป็นจำนวนมาก.


กำลังโหลดความคิดเห็น